คสรท.เสนอ บิ๊กแรงงานปรับค่าจ้างเท่ากัน และให้สนับสนุนการรวมตัวต่อรอง

รมว.แรงงาน รับข้อเสนอข้อมูลแรงงาน รับไว้เป็นข้อมูลส่งบอร์ด เพื่อให้เกิดความสมดุล รอบคอบ พร้อมตอบการปรับค่าจ้างอยู่ระหว่างบอร์ดพิจารณา 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560ที่กระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน)  ได้ต้อนรับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)และเครือข่าย ที่นำข้อเสนอเรื่องแนวคิดการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมานำเสนอพร้อมกับข้อเรียกร้องอื่นๆด้านแรงงาน

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน)  กล่าวต้อนรับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยว่า การทำงานนั้นก็คุ้นกับประเด็นทางสังคมซึ่งก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสมอ เนื่องจากตนเองทำงานในระดับพื้นที่มาก่อน เป็นตำรวจอยู่ต่างจังหวัด และเป็นคนพื้นเพภาคอีสานฉะนั้นยินดีที่จะรับข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานทุกเรื่อง ซึ่งการทำงานทางกระทรวงแรงงานยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ด้วยต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และได้มีการมอบหมายนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงแรงงานไปแล้ว 11 ข้อ มีทั้ง นโยบายเร่งด่วนอย่างประเด็นแรงงานข้ามชาติ ผลักดันและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ตาม IUU Fishing โดยป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และคุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจำนวนกว่า 4 ล้านคน เพื่อส่งเงินกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยเน้นแก้ปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึง ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand และอีกหลายประเด็นด้านกฎหมายแรงงานที่สำคัญๆ 11 ฉบับประกอบด้วย นโยบายบริหารการพัฒนา และส่วนการบริหารในระดับพื้นที่ด้วย ภายใต้แนวนโยบายการทำงานของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ประเด็นการมาวันนี้ต้องการแถลงเรื่องแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยแนวคิดการปรับขึ้นค่าจ้างที่ใช้อยู่นั้นยังสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เป็นการแบ่งแยกพื้นที่ สร้างความแตกต่างกันด้วยการที่มีค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดการกระจุกตัวของแรงงานในเมืองมากขึ้น ทิ้งไว้เพียงผู้สูงอายุ กับเด็กให้อยู่บ้านในต่างจังหวัด และการที่ปรับค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหามากมาย สิ่งที่ขบวนการแรงงานเรียกร้องกันคือ เรื่องการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งหากมองดีๆแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้เกิดกำลังซื้อในตลาดเศรษฐกิจโดยรวมจะดีมากขึ้น และทำให้ความเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน การที่ผู้ใช้แรงงานมีการเรียกร้องกันทุกวันนี้เพราะว่า คนมีความต่างกันด้านเศรษฐกิจเกิดช่องว่างทางรายได้มากเกินไป ฉะนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำได้จริง และนี่คือแนวทางการแก้ปัญหาคนกลุ่มใหญ่ในประเทศกว่า 10 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยค่าจ้างคนหนึ่งคนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีก 2 คน ตามหลักปฏิญญาสากล เป็นการใช้กลไกการดูแลสังคมแบบองค์รวม และกระทรวงแรงงานต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวเจรจาต่อรองตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การรับรองสัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98  ซึ่งทางคสรท.ยังมีข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้พิจารณา พร้อมทั้งขอนัดพบอีกครั้งเพื่อการใช้เวลาให้ข้อมูลเหตุผลข้อเสนอต่างๆด้วย ซึ่งประเด็นแรงงานข้ามชาติก้อยากที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้นตามข้อเสนอ

นางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคสรท. กล่าวว่า กลไกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันให้อำนาจอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดในการประชุมพิจารณา และเสนอขึ้นมาให้กับทางคณะกรรมการค่าจ้างกลางในการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งปัญหาของแต่ละจังหวัดในอนุกรรมการค่าจ้างจะไม่มีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปเป็นอนุกรรมการจริง เพราะบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน ระบบตัวแทนมีปัญหาด้านการต่อรองข้อมูลกับฝ่ายนายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตัวแทนจะโหวตเสียงอย่างไรก็แพ้ทำให้ไม่เห็นภาพความจริงในพื้นที่จังหวัดต่างๆในการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ประเด็นต่อมาในจังหวัดที่มีสหภาพแรงงานอย่างจังหวัดที่ตนทำงานอยู่คือสระบุรี ในการประชุมทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดสระบุรีเสนอมาให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 20 บาท แต่คณะกรรมการค่าจ้างก็มาตัดข้อเสนอออกให้ปรับขึ้นแค่ 8 บาทเป็นต้น การปรับค่าจ้างหากมาปรับขึ้นเพียง 1-3 บาท คงไม่สามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานมีเงินใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และข้อเสนอของคสรท.นั้นผ่านการจัดทำข้อมูลแบบสอบถามเรื่องค่าครองชีพมาแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าภาครัฐกระทรวงแรงงานก็มีการรวบรวมข้อมูลเช่นกันจึงอยากให้นำข้อมูลมาพูดคุยกันให้เห็นความเป็นจริงด้านข้อมูลเพื่อเสนอการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งควรต้องเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยค่าใช้จ่ายด้านสินค้าที่จำเป็นในการอุปโภค บริโภคไม่ต่างกัน

ทั้งนี้สุดท้ายทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “การให้ทางตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าพบครั้งนี้ก็เพื่อฟังข้อมูลให้รอบด้านเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อย่างไรเสียก็คงเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีท่านปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งมีหลายส่วนร่วมกันในการพิจารณา โดยทางรัฐบาลได้ให้แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างนั้นต้องให้แรงงานอยู่ได้ ธุรกิจการลงทุนก็ต้องมองและให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน  ซึ่งก็ขอรับข้อเสนอไปให้บอร์ดพิจารณาเพื่อให้เกิดความสมดุล รอบคอบ ในการประกาศปรับขึ้นพื้นที่ ปรับขึ้นเท่ากันต้องดูรายละเอียดมีเหตุมีผลตอบได้หมดซึ่งต้องขอเวลาสักระยะหนึ่ง เรื่องกลไกระดับจังหวัดเดี๋ยวต้องมาดูกัน ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ ปรับขึ้นเท่าไรนั้นก็คงต้องรอดู” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน