แรงงานอกระบบเสนอเลือกตั้งครั้งหน้าขอดูนโยบายพรรค

แรงงานแท็กซี่ขอใช้สิทธิเลือกส.ส.ส.ว.ในพื้นที่อาศัยอยู่หวังส.ส.จัดสวัสดิการให้ เน้อนอย่าเห็นแก่เงิน เลือกเขามาทำงานไม่ใช่เลือกมาเป็นนาย ครั้งหน้าเลือกตั้งต้องดูนโยบายพรรคการเมืองที่มีเรื่องคุ้มครองแรงงาน และจัดสวัสดิการเพื่อคนจน แม้เป็นประชาวิวัฒน์ ยังดีที่พูดถึงแรงงานนอกระบบบ้าง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาค กทม.ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเมือง จัดเวที พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย ที่ให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน และสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน ณ บริเวณสนามห้าอาคาร 8 (ตลาดเกรียงไกร) การเคหะร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กับทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่จะมีการจัดเวที พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจรฯไปในหลายพื้นที่ ในส่วยของแรงงานนอกระบบ เริ่มในพื้นที่ของ การเคหะร่มเกล้า เป็นการจัดเวทีพูดคุยให้การศึกษากับแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ หรือประชาชนที่ผ่านไปมา ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เกิดมาก็ต้องอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งรับต้องรับผิดของ การกินการอยู่ ที่พักอาศัยระบบสวัสดิการต่างๆ ที่ได้มาจากการเมือง คนที่กำหนดนโยบายซึ่งเป็นนักการเมืองที่เราทุกคนต้องไปเลือกตั้งเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่ต้องทำการบริหารบ้านเมืองออกกฎหมายต่างๆ

ฉะนั้นหากเราเลือกคนที่ไม่ดี ไม่สนใจเรื่องแรงงาน ไม่มีนโยบายเพื่อคนจน ก็จะไม่ได้สวัสดิการ ไม่มีคนดูแลเวลาตื่นมายาสีฟัน น้ำ อาหาร ที่พักอาศัย ฯลฯ เราในฐานะแรงงานนอกระบบ ที่ประกอบด้วย คนรับจ้างทั่วไป เช่นคนขับแท็กซี่ ขับรถสามล้อ มอเตอร์ไซด์รับจ้างฯลฯ อาชีพอิสระ  เช่นหาบเร่ แผงลอย ช่างทำผม หมอนวด ค้าขายต่าง ฯลฯ รวมถึงอาชีพที่ตอนนี้มีกฎหมายออกมาคุ้มครองขณะนี้ผ่านสภาแล้วรอบังคับใช้ คือ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และกำลังจะมีการคุ้มครองต่อไปคงเป็นคนทำงานบ้าน เป็นต้น

ปัจจุบันคงได้ยินเรื่องนโยบายประชาวิวัฒน์ทีพูดถึงการขยายกฎหมายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ  สำหรับของขวัญชิ้นแรกรัฐบาล จะเปิดทางเลือกให้ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จ่ายเงิน 100/150 ต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบื้ยชราภาพ หรือประชาชน จ่าย 70 บ.รัฐสมทบ 30 บ.หรือ จ่าย 100 บ.รัฐสมทบ 50 บ. กรณีหลังจะประกันกรณีชราภาพด้วย ชิ้นที่2 การเข้าถึงสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษให้กับแท็กซี่ และ หาบเร่แผงลอย นายกฯเชื่อจะเป็นลูกค้าดีของสถาบันการเงิน เพราะมีรายได้ชัดเจน ของขวัญชิ้นที่ 3ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์ รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวินจยย. แจกหมวกนิรภัย, ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ

ส่วนข้อเสนอของแรงงาน คือปรับปรุงสิทธิประโยชน์มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จาก 3 กรณี (คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) เพิ่มเป็น 5 กรณี (เจ็บป่วย(ทดแทนการขาดรายได้) ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร และชราภาพ) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และให้เกิดความคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว จำนวน 3,360 บาทต่อปี แต่ได้สิทธิประโยชน์นิดเดียว หากการเลือกตั้งครั้งหน้าที่อาจมาถึงไม่นานนี้แรงงานนอกระบบซึ่งคงต้องดูเรื่องนโยบายพรรคการเมืองที่สอดคล้องมากขึ้น

นายสุมิตร สุริยโรจน์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคมในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาชุมชน กล่าวว่าวันนี้เป็นการพูดถึงการเมืองที่ไม่ใช่สีเหลือง สีแดงฯลฯ แต่เป็นการเมืองของคนสีมอๆ ที่อยู่ตามซอกเล็กของเมืองกรุง ทำมาหากินตามมุมตึก ตั้งร้านขายของ รับจ้างทั่วไป เย็บผ้า รับงานไปทำที่บ้าน หายเร่ แผงลอย ฯลฯ ที่ถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่เท่าเทียมกับคนกรุงเทพ ภายใต้คนเหล่านี้แหละที่เป็นผู้ค้ำจุนเศรษฐกิจให้อยู่ได้ อาหารราคาถูกหมูปิ้งไม้ละ 5 บาทข้าวเหนียว ประทังชีวิตคนขายแรงงานราคาถูกให้ทำงานสร้างบ้านเมืองให้เจริญ วันนี้เป็นการเมืองของคนกลุ่มเล็กๆใส่เสื้อสีมอๆ

การที่คนเหล่านี้จะมีสิทธิเท่ากับคนกลุ่มอื่นๆเขตลาดกระบังได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับคนกลุ่มใสเสื้อสีมอที่มีจำนวนมาก มีการช่วยเหลือเฉพาะหน้า มีทุนสำหรับประกอบอาชีพ มีเบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการและค่าทำศพสำหรับผู้ทำศพๆละ 2,000 บาทเป็นต้น

ทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกันเป็นทีมงาน ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกัน ซึ่งรัฐอาจไม่ชอบนัก เพราะจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งมีอำนาจต่อรองกับรัฐ แต่เราคิดว่าประชาชนต้องเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต้องสามารถมีตัวแทนเข้าไปบอกรัฐให้ว่ากลุ่มต้องการอะไร และต้องบอกว่า ข้าราชการของรัฐมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่เป็นนายประชาชน

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้พูดว่า จากการที่ตนทำงานอยู่ในระบบ อยู่ในโรงงาน เป็นคนงานที่มีนายจ้าง อยู่ในระบบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานต่างๆ รวมถึงกฎหมายประกันสังคมที่มีการสมทบร่วมกัน 3 ฝ่าย คือลูกจ้าง (คนงาน) ร้อยละ 5 นายจ้างร้อยละ 5 และรัฐบาลร้อยละ 2.75 ได้รับการคุ้มครอง 7 กรณี ประกอบด้วย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ขณะนี้มีคนอยู่ในระบบเกือบ 10 ล้านคน ส่วนของแรงงานนอกระบบเดิมประกันสังคมกำหนดสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 40 ต้องจ่ายสมทบฝ่ายเดียว 3,360 บาทดูแลแค่ 3 กรณี คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย

การออกกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงกฎหมายประกันสังคม เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ผ่านสภาผู้แทนราษฏร ผ่านสมาชิกวุฒิสภาประกาศใช้ นักการเมืองเป็นผู้กำหนด ข้าราชการบังคับใช้ พวกเราแรงงานคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กำหมายต่างๆ จึงเห็นได้จากการเดินเท้าเคลื่อนไหวเดินขบวนทั้งชุมชน แรงงาน การร้องเรียนฟ้องร้อง ฉะนั้นการเมืองเกี่ยวข้องกับเรา พวกเราต้องกำหนดการเมืองในอนาคต รัฐบาลต้องมีนโยบายเพื่อคนจน เราคือผู้เลือกต่อไปต้องดูนโยบายเป็นหลักหากยังไม่สามารถที่จะมีตัวแทนของแรงงานเข้าไปได้ แรงงานต้องเสนอประชาธิปไตยกินได้ ใช้เป็นเครื่องมือได้จริงอย่าให้เป็นประชาธิปไตยเพียงเสี่ยวนาทีได้คนไม่ดีเข้ามาโกงบ้านโกงเมือง

นายสำเร็จ  มูมะคา คนขับรถแท็กซี่ ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ส่วนใหญ่คนขับรถแท็กซี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใช้แรงงาน ทำงานขับรถไปวันๆไม่เคยมีใครมาบอกว่าเราคือแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ เช่ารถเขาขับไปมีรายได้พอส่งค่าเช่ารถเหลือกลับบ้านบ้าง แต่บางวันก็ไม่เหลือเลย แต่ก็ทำเพราะคิดว่าอิสระไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร หากพูดแล้วพวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้ดูข่าว ไม่ค่อยได้ฟังข่าวสาร เปิดเพลงฟังผ่อนคลายเวลารถติด

ถามว่ารู้เรื่องแรงงานนอกระบบ รู้จักแรงงานนอกระบบหรือไม่ ก็เพิ่งได้เรียนรู้เมื่อไม่กี่ปีที่ได้ยินคุณสุจิน รุ่งสว่าง พูดถึงประเภทของแรงงานนอกระบบว่ามีคนขับรถแท็กซี่ด้วย และตอนนี้รัฐบาลก็หันมาให้ความสำคัญคิดจัดสวัสดิการประชาวิวัฒน์ประสังคม เงินกู้ให้กับคนขับรถแท็กซี่ภายใต้คำพูดว่าคนขับแท็กซี่คือแรงงานนอกระบบ ไม่มีนายจ้าง ซึ่งเห็นดีด้วย การทำงานของพวกเราไม่มั่นคง หากมีสวัสดิการมาดูแลบ้างก็ดี

เรื่องการเมือง เห็นคนบอกว่าแท็กซี่ส่วนใหญ่คนสีแดง ตนไม่ได้อยู่สีไหนก็โดนไปด้วยช่วงที่มีการชุมนุมคุยเรื่องการเมืองไม่ได้ เวลาผู้โดยสารขึ้นมานั่งไม่กล้าถามหรือคุย กลัวจะพูดผิดเพราะไม่รู้ว่าทำไมต้องทะเลาะกันสีโน่นสีนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่แท็กซี่คุยกัน ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งคนขับแท็กซี่ก็ต้องใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.ส.ว. แต่เลือกที่จังหวัดศรีสะเกษบ้านเกิด แต่ต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯก็ไม่กล้าที่จะบอกนักการเมืองท้องถิ่นว่าต้องการอะไร เพราะไม่ใช่คนกรุงเทพ เวลามีปัญหาก็ต้องเงียบหากเป็นไปได้ก็อยากใช้สิทธิเลือกนักการเมืองในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ เพราะเป็นปีกว่าจะกลับไปบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษ ไม่รู้ด้วยเลือกใคร ใครเป็นส.ส.ส.ว.บ้านเรา อย่าเห็นแก่เงิน 500 บาทเลือกมาเป็นนาย ไม่ใช่รับใช้เรา

นายบุญเสริม สมพงษ์ คนขับแท็กซี่ แสดงความคิดเห็นว่า ขับรถแท็กซี่มาหลายปีไม่เคยมีอะไรเป็นของตัวเองเลย รายได้ก็พอกินไปวันๆไม่พอเก็บหาก เพิ่งเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะจัดสวัสดิการให้คนขับแท็กซี่บ้างในฐานะแรงงานนอกระบบก็ดีใจ การที่เราใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพตั้งแต่หนุ่มจนตอนนี้อายุ 50 กว่าปีแล้ว ให้กลับไปบ้านต่างจังหวัดคงทำนาไม่ไหวยังไงก็คงต้องอยู่กรุงเทพ เห็นด้วยกับสำเร็จว่าหากสามารถใช้สิทธิเลือกส.ส.ส.ว.ในพื้นที่ที่เราอาศัยได้คงดีจะได้เลือกคนที่มีแนวคิดจัดสวัสดิการให้กับคนจนๆอย่างพวกเรา

ทั้งนี้ได้มีการเล่นดนตรีของวงภราดรสลับกับการอภิปราย ฉายวีดิทัศน์ เรื่อง เรื่องแรงงานไทยรู้สิทธิ ร่วมสร้างประชาธิปไตย พร้อมคำถามให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถาม แจกรางวัลย์ เช่น แรงงานมีข้อเสนอเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้งที่ไหน? ป้าแดงผู้เข้าร่วมตอบว่า เสนอทำงานที่ไหนเลือกส.ส.ส.ว.ในพื้นที่นั้น 

ขบวนการแรงงานมีข้อเสนอต่อรัฐบาลกี่ข้อมีอะไรบ้าง หนึ่งผู้เข้าร่วมลุกขึ้นอ่านเอกสารว่า มี 10 ข้อ 1. สิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ 2. การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 4. พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) 5. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 6. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม 7.กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม 8. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และ10. การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะให้กลับผู้เข้าร่วมนั่งฟังกันอย่างสนุกสนาน

มีคำถามเรื่อง การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร? ในการเลือกตั้งอันใกล้นี้ผู้เข้าร่วมคิดว่าจะเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแบบไหน ซึ่งแต่ละคำถามมีคนลุกขึ้นมาร่วมตอบ เช่น การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันข้าวของขึ้นราคาก็มาจากการเมืองกำหนด ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเลือกส.ส.ที่มีนโยบายเรื่องแรงงาน จัดสวัสดิการให้คนจนเป็นต้น

นางสุจิน รุ่งสว่างกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีเสียงตอบรับจำนวนมากจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในพื้นที่เคหะร่มเกล้า เขตลาดกระบัง ซึ่งมีสมาชิกเรียกร้องในลงไปจัดในพื้นที่อื่นๆด้วยเพราะสมาชิกในชุมชนมีอีกมากจะได้รับรู้เรื่องสิทธิทางการเมือง รู้ปัญหาความเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีคนเสนอให้ตั้งพรรคการเมืองของแรงงาน จะได้เป็นตัวแทนในสภาในอนาคต ซึ่งเห็นผลเรื่องของความตื่นตัวมากในวันนี้
 

นักสื่อสารแรงงานโครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงาน