ลุ้นนับถอยหลังสภานำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าก่อนปิดสภา

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประมาณ 200 คน ได้นัดรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าสวนอัมพร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 เดินรณรงค์ไปที่หน้ารัฐสภาเพื่อทวงถามความคืบหน้าเรื่องการพิจารณาร่างประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของแรงงาน จากประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รวมทั้งนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และประธานคณทำงานขับเคลื่อน และผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ กล่าวว่า หลังยื่นหนังสือให้กับภาคการเมืองทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วทั้งประธานสภา วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้นำฝ่ายค้านแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ที่หน้ารัฐสภา แต่ทางสภายังไม่มีการนำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เข้าสู่การพิจารณารับรองในสภา ซึ่งทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานมีความกังวลใจ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในการประชุมสภา

 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวต่ออีกว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเตรียมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป รวมทั้งจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ 4 เมษายน 2555 ได้มีการบรรจุวาระการประชุมในเรื่องด่วนลำดับที่ 12 กรณีร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ และแม้ว่า ทางรัฐสภาจะขยายเวลาปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไป โดยให้เหตุผลว่า ยังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่ในทั้ง 2 สภาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน และด้วยเหตุนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่วมกับ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่ที่ประชาชนจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันระยะเวลา ก่อนจะปิดสมัยการประชุมอย่างเป็นทางการ ในส่วนเครือข่ายแรงงานจะเริ่มนับถอยหลังตั้งแต่วันพรุ่งนี้ว่าวันไหนสภาจะมีการนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯเข้าสู่วาระประชุม พร้อมจะนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งหลังหลังสงกานต์ยังไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯอีก
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า การที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เข้ามายื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา ให้มีการบรรจุวาระการประชุมเรื่องร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ตนได้รับมอบหมายให้มารับเรื่อง และวันนี้จะเข้าไปเจรจากับทางวิปฝ่ายค้าน กับวิปฝ่ายรัฐบาล เรื่องร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะการนำเสนอร่างกฎหมายต้องให้วิปเป็นผู้เสนอเข้ามาบรรจุเป็นวาระการประชุม ในส่วนของประธานรัฐสภามีหน้าที่ในการจัดให้มีการประชุทมตามวาระเท่านั้น แต่เห็นด้วยตามที่ขบวนการแรงงานเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนเข้ามา เมื่ออยู่ในมือแล้วจะช่วยในการติดตามทวงถามประธานวิปทั้งสองฝ่ายให้ ข่าวดีคือเห็นว่าทางรัฐบาลได้มีการเลื่อนวาระการประชุมร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนเข้ามาอยู่ในวาระที่ 8แล้ว ซึ่งคิดว่า น่าจะสามารถนำร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมและรับรองทันก่อนปิดสมัยประชุมนี้ เพราะคิดว่าคงจะมีการเลื่อนการปิดสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ออกไปอย่างน้อย 2-3 อาทิตย์ เนื่องจากสภาเปิดประชุมล่าช้าออกมาเพราะปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเพิ่งทราบว่าขณะนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่.. พ.ศ. …. (กระทรวงแรงงาน) ซึ่งคงเป็นตัวเร่งหนึ่งในการที่จะนำร่างของภาคประชาชนเข้าสภาทันสมัยประชุมนี้แน่นอน   
 
หลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้อง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน คือ 
 
1.  กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย
 
2.  สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
 
3. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
4.  การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจึงได้ตรากฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ขึ้นมาโดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็นดังนี้
 
(1)  เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 
 
(2)  มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส มีกระบวนการและกลไกตรวจสอบการบริหารงานที่ชัดเจน โดยมีประธาน เลขาธิการ คณะกรรมการและผู้ทรงวุฒิชุดต่างๆมาจากการสรรหา มีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม 
 
(3)  การขยายความคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างให้ครอบคลุมแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40
 
(4)  บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล
 
(5)  ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ, ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน
 
ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
 
1)  สำนักงานประกันสังคมต้องมีการบริหารงานแบบอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
2)  การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมืออาชีพ
 
3)  เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม
 

4)  กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
 
5)  ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ                                
 
6)  ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย
 
7)  ผู้ประกันตนมีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ทุกกรณีตั้งแต่วันแรกที่เข้าเป็นลูกจ้าง รวมทั้งเมื่อออกจากงานแล้วและรับบำนาญชราภาพ ก็ยังมีสิทธิรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลทุกแห่งจนถึงเสียชีวิต 
 
8)  ผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ในกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้บริการในสถานพยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ 
 
9)  มีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์เรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการตรวจสุขภาพประจำปีของผู้ประกันตน 
 
10)  ผู้ประกันตนที่อยู่ฉันท์สามีภรรยาโดยเปิดเผย (แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องคลอดบุตร
 
11)  ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรที่มีอายุจนถึง 20 ปี
 
12)  มีการแก้ไขให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี ไม่ต้องออกเงินสมทบประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 
 
13)  การขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ออกจากงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวนานขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ
 

14)  ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลใดรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตาย รวมทั้งรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพได้
 
15)  พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน   
 
16)  ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า 
 
17)  ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
 
18)  ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวการณ์จ้างงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ  
 
19)  เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ ผู้ประกันตน มีสิทธิรับรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันสังคมและการส่งเงินสมทบ รวมทั้งรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารของคณะกรรมการชุดต่างๆ
 
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  (กระทรวงแรงงาน)  ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณามีรายละเอียดดังนี้ 
 
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
 
2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้คุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการและลูกจ้างทั้งหมด (ร่างมาตรา 3)
 
3. แก้ไขบทนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ ว่างงานและภัยพิบัติ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 4 ถึงร่างมาตรา 7)
 
4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตน และคณะกรรมการการแพทย์ เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งที่ปรึกษา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาและกรรมการการแพทย์ (ร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 12)
 
5. แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนเพิ่มเติมเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน แก้ไขระบบการเสนองบการเงิน และการจัดทำรายงานประมาณการรายรับและรายจ่ายของกองทุน (ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 17) 
 
6. แก้ไขเพิ่มเติมการยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างและการยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (ร่างมาตรา 18)
 
7. แก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ร่างมาตรา 19)
 
8. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในแบบรายการการนับระยะเวลานำส่งเงินสมทบ และการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบ และเพิ่มเติมบทบัญญัติลดหย่อนการออกเงินสมทบในกรณีเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง (ร่างมาตรา 20 ถึงร่างมาตรา 23)
 
9. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุนของผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิอื่น แก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน กำหนดขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน แก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ และยกเลิกบทบัญญัติที่มิให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย (ร่างมาตรา 24 ถึงร่างมาตรา 28)
 
10. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ของผู้ประกันตน (ร่างมาตรา 29)
 
11. แก้ไขเพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีคลอดบุตร หลักเกณฑ์และอัตราการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย และยกเลิกบทบัญญัติในเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร (ร่างมาตรา 30 ถึงร่างมาตรา 35) 
 
12. แก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายเงินชราภาพให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาทสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ร่างมาตรา 37 ถึงร่างมาตรา 38)
 
13. เพิ่มเติมเรื่องสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน และการขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 40)
 
14. แก้ไขบทกำหนดโทษกรณีไม่มาให้ถ้อยคำและกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างซึ่ง ไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (ร่างมาตรา 41 และร่างมาตรา 42)
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงกา รการพัฒนาสื่อ รายงาน
 
————————————————————————————
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ