แรงงานลงขันฟื้นอุดมการณ์วันเมย์เดย์

คสรท.ฮึดแหวกกิจกรรมน้ำเน่าวันแรงงาน  ลงขันพลิกรูปแบบจัดงานฟื้นจิตวิญญาณวันกรรมกรสากล  มอบหมายองค์กรสมาชิกเตรียมริ้วขบวนล้อการเมืองและสะท้อนปัญหาแรงงาน  ชูข้อเสนอแก้ปัญหาที่กระทบแรงงานและสังคมพร้อมทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องเดิม เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อของแรงงาน  ยึดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของแรงงานหวังกระตุกจิตสำนึกด้านแรงงาน
 
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555  ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  จัดประชุมเตรียมจัดงานวันกรรมกรสากลในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555  ซึ่งจะแยกจัดกิจกรรมเฉพาะในกลุ่มสมาชิกของ คสรท. ส่วนงบประมาณในการจัดงานจะใช้วิธีลงขันบริจาคจากองค์กรสมาชิกที่ประกอบด้วย หลายสหพันธ์แรงงานและกลุ่มสหภาพแรงงานพื้นที่ต่างๆ  โดยประมาณการผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน
 
นายชาลี ลอยสูง  ประธาน คสรท.กล่าวว่า การจัดกิจกรรมจะเน้นให้เห็นถึงอุดมการณ์และจิตวิญญาณแท้จริงของวันกรรมกรสากล หรือ วันเมย์เดย์ (MAY DAY) ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานแห่งชาติและมีการจัดกิจกรรมที่บิดเบือนเนื้อหาและรูปแบบให้เพี้ยนไปจนกลายเป็นงานรื่นเริงมอมเมาแรงงานประจำปี  
 
สำหรับรูปแบบกิจกรรมก็จะประกอบด้วยริ้วขบวนล้อการเมืองและสะท้อนปัญหาแรงงาน อาทิ สินค้าแพง ค่าแรงต่ำ  มีการปราศรัยของแกนนำแรงงานสะท้อนปัญหาและความต้องการของพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้จะมีการจัดการอภิปรายและเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนอและยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยม”  จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมของคนงานรวมทั้งการแสดงดนตรีแรงงานของ “วงภราดร”  และจะมีกิจกรรมไฮไลท์ประกาศเจตนารมณ์วันกรรมกรสากลเพื่อตอกย้ำจุดยืนอุดมการณ์ของแรงงาน
 
โดยในปีนี้ คสรท.จะมีข้อเสนอของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น ให้มีมาตรการในการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานไม่ให้มีราคาแพง  ให้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างจริงจังและทั่วถึง  ให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมโดยเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อของแรงงาน  ให้มีการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ตามข้อเสนอของฝ่ายแรงงาน  นอกจากนี้ยังมีการติดตามประเด็นอื่นๆที่เคยเรียกร้องมาแล้ว เช่น การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม  การยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน  การให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่ทำงาน  การเข้าถึงสิทธิใน พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯและการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยที่แรงงานมีส่วนร่วม  การจัดตั้งกองทุนเพื่อคุ้มครองแรงงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากการเลิกจ้างและวิกฤตต่างๆ  การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างทั่วถึง  และ การคุ้มครองสิทธิของแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ
 
ทั้งนี้ กิจกรรมจะเริ่มจากการรวมตัวกันที่บริเวณหน้ารัฐสภาตั้งแต่เวลา 09.00 น. แล้วเคลื่อนขบวนไปจัดกิจกรรมต่างๆที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว จนถึงเวลา 17.00 น.
 
นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน