แรงงานภาคเหนือ เรียกร้องรัฐรับรองอนุสัญญาILO และการเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองตามกฎมาย

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ องค์กรส่งเสริมด้านสิทธิแรงงานกว่า 15 องค์กร แถลงเรียกร้องรัฐไทย และรัฐเมียนมา ให้ดูแลด้านสิทธิคุณค่าของของคนงาน การคุ้มครองสวัสดิการ และการมีส่วนร่วม ให้รับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98ฉบับที่ 189 และ181

ข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 2019  ด้วยในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ  ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาประเทศสหรัฐฯได้ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สาเหตุจากการที่รัฐไทยไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางเครือข่ายจะได้นำเสนอปัญหาของคนงานแก่ภาครัฐ

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้จัดกิจกรรมวัฒนธรรมวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ. ลานวัฒนธรรมเทศบาลสุเทพ (บ้านสันลมจอย) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คนงานทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและมีการเสวนา “คุณค่าของคนงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการมีส่วนร่วมในชุมชน” จากกิจกรรมพบว่าคนงานยังสะท้อนถึงปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  เวลาทำงาน  วันทำงาน วันหยุด วันลา ต่าง ๆ  การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด ก็ยังไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด  และมีปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมเนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา  และส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

  1. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
  2. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  3. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างแท้จริงไม่ใช่มองปัญหาของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ และต้องส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติมีความมั่นคงในการทำงาน
  4. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”
  5. ขอให้รัฐบาลไทยมีแนวทางปฏิบัติการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปี 2563 โดยให้มีการกำหนดวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินการที่สั้น ง่าย ใช้เอกสารน้อยลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง และไม่เก็บค่าตรวจสุขภาพล่วงหน้า
  6. ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
  7. ขอให้รัฐบาลไทยออกนโยบายให้แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สามารถทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน และขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  8. ขอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้กลุ่มแรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เลขหัว 6, 7, 0 ให้สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่และไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
  9. ขอให้ระบบประกันสุขภาพต้องครอบคลุมทุกโรค โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่ไม่มีเอกสารบุคคล โดยเฉพาะโรคเฮสไอวี
  10. ขอให้รัฐบาลไทยเปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ
  11. ขอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการในด้านต่าง ๆ แก่แรงงานข้ามชาติ จัดให้มีล่ามแปลภาษาและจัดทำป้ายแนะนำขั้นตอน ป้ายบอกสถานที่ต่าง ๆ เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้บริการหรือร้องเรียน
  12. ขอให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินประกันสังคมใน 3 กรณี ดังนี้

– สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ให้จ่ายตั้งแต่วันแรกที่ว่างงานจนถึงวันก่อนที่จะได้งานทำใหม่

– สิทธิประโยชน์กรณีทุพลภาพ ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นก้อนครั้งเดียว

– สิทธิประโยชน์กรณีกองทุนชราภาพให้แก้ไข กฤษฎีกา ให้แรงงานข้ามชาติที่มีความประสงค์ที่จะกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากทุนชราภาพทั้งก้อนได้ทันที

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

  1. คณะกรรมการค่าจ้างต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันสภาวะค่าครองชีพที่มากขึ้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อวัน เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างน้อยสามคน
  2. ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติโดยเชื้อชาติ และสัญชาติ
  3. ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้รับประกาศนียบัตร เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพและปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
  4. ขอให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายให้สามารถจ้างงานเยาวชนนักเรียนข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปีทำงานในช่วงระหว่างปิดเทอมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำ มีรายได้ และได้มีประสบการณ์ในการทำงานและเรียนรู้สังคมมากขึ้น
  5. ขอให้กระทรวงพิจารณาและลงนามในข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้มีการพิจารณาแก้ไข

ข้อเรียกร้องต่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานข้ามชาติที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
  2. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยอมรับเอกสารซีไอ โดยให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการทำบัตรประชาชนเมียนมาสามารถเพิ่มชื่อในสำมะโนครัว รวมถึงมีนโยบายให้สถานฑูต และสถานกงสุลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สามารถทำพาสปอร์ต PJ ออกหนังสือรับรองความเป็นโสดของประชาชนเมียนมา และทำบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย