แรงงานภาคเหนือ ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐไทย 15 ข้อ รัฐเมียนมาร์ 5 ข้อ

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เสนอรัฐไทยให้ดูแลกรณีไม่ได้ค่าจ้างตามกฎหมาย-ความปลอดภัยในการทำงาน ย้ำให้หยุดเลือกปฏิบัติ ด้านข้อเสนอรัฐเมียนมาร์ให้อำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียน ทำบัตรประชาชน และเพิ่มเจ้าหน้าที่ในสถานทูต และกงสุลในประเทศไทย

วันที่ 19 ธันวาคม 2561 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เดินทางไป ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ยืนข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 2018 โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลประเทศไทย ดังนี้

1. รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ภายในปี 2562 โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและลักษณะงานที่ทำ

2. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายให้มีการขยายอายุการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เป็น 60 ปี

3. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปรวมทั้งผู้พิการ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้และไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ ขึ้นทะเบียน ผู้ติดตามได้

4. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุ สูญเสียอวัยวะและเป็นโรคจากการทำงานไม่สามารถทำงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง ให้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามได้

5. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎระเบียบการซื้อบัตรประกันสุขภาพของผู้ติดตามที่มีอายุตั้งแต่ 7-18 ปี ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ในราคาเท่ากับผู้ติดตามที่เป็นเด็ก

6. ขอให้รัฐบาลไทยขยายระยะเวลาในการแจ้งเข้าแจ้งออกของแรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารCI จากเดิมภายใน 15 วัน เป็นภายใน 30 วัน

7. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎกระทรวงที่กำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีแนวทางในการตรวจสอบ ติดตามนายจ้างให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

8. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน

9. ขอให้รัฐบาลไทยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ มากขึ้น ในภาษาที่แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าใจได้โดยง่าย เช่น ภาษาไทใหญ่

10. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ สถานพยาบาลและหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ต้องจัดให้มีล่ามภาษาของแรงงานในทุกหน่วยงาน ภายใน ปี 2562

11. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายใน ปี 2562

12. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้รับใช้ในบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ

13. ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้นายจ้างจัดสาธารณูปโภคที่ดีแก่ลูกจ้าง เช่น น้ำ ไฟ สภาพที่อยู่อาศัย

14. ขอให้แรงงานภาคเกษตรสามารถทำงานในพื้นที่ใกล้เคียงได้ กับสถานที่ทำงานปัจจุบัน กล่าวคือ ภายในจังหวัดเดียวกัน โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมจัดหางาน

15. ขอให้ผู้ที่ถือบัตรหัวเลข 6 เลข 7 และเลข 0 สามารถเดินทางและประกอบอาชีพได้ทั่วราชอาณาจักรไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต

ข้อเสนอต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
1. ขอให้สถานทูตและสถานกงสุลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ประจำประเทศไทย เพิ่มเติมบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือเรื่องเอกสารต่างๆ กับแรงงาน
2. ให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์มีนโยบายให้แรงงานชาวเมียนมาร์ที่ทำงานในประเทศไทยสามารถทำและต่อบัตรประชาชนที่สถานทูตฯหรือสถานกงสุลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในประเทศไทย
3. ขอให้สถานกงสุลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รับจดทะเบียนสมรสแก่แรงงานข้ามชาติ
4. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เร่งจัดทำ MOU ร่วมกับรัฐบาลไทยในเรื่องประกันสังคมเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้โดยสะดวก
5. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ส่งเสริมการส่งออกคนงานทำงานบ้านอย่างถูกต้อง
จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วน

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิ EMPOWER
มูลนิธิ MPLUS
เครือข่ายปฏิบัติการผู้หญิงไทยใหญ่ (SWAN)
กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (SYP)
สหพันธ์คนงานข้ามชาติ
กลุ่มแรงงานสามัคคี
สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน
สหภาพแรงงานอุสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์
สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์
เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
มูลนิธิการศึกษาประกายแสง