แรงงานนอกระบบ ค้านร่างระเบียบ พร้อมเสนอเลือกตั้งผู้แทนคลุมผู้ประกันตนทุกกลุ่ม

 

แรงงานนอกระบบ ค้านร่างระเบียบเสนอเลือกตั้งผู้แทนต้องคลุมผู้ประกันตนทุกกลุ่ม ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

วันที่ 22 มกราคม 2563สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) ทำหนังสือ “ค้านร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และ
ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นกรรมการในการคณะกรรมการประกันสังคม” ต่อเลขาธิการประกันสังคม โดยมีเนื้อหาดังนี้ สืบเนื่องจากการที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 ตุลาคมพ.ศ.2558 มีบทบัญญัติ มาตรา 8 ระบุ ให้มี “คณะกรรมการประกันสังคม” โดย “ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

ในปีพ.ศ.2561 สำนักงานประกันสังคมได้แต่งตั้งอนุกรรมการยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นกรรมการในการคณะกรรมการประกันสังคม และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตนและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่9/2562

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรของแรงงานนอกระบบที่มีสมาชิกทั่วประเทศจำนวนประมาณ 6,000 คน และที่ผ่านมาก็ได้ร่วมงานกับสำนักงานประกันสังคมในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ตลอดจนประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบเห็นความสำคัญและสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในการเข้าร่วมกระบวนรับฟังความคิดเห็นต่อระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งฯฉบับดังกล่าวกรรมการและสมาชิกสมาคมฯได้แสดงความเห็นค้าน และที่ประชุมกรรมการสมาคมฯ เมื่อ 26-28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ก็ได้มีมติไม่เห็นด้วยต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้ยกร่างขึ้นนี้

โดยสมาคมฯมีความเห็นดังต่อไปนี้ คือ

1. การยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นกรรมการในการคณะกรรมการประกันสังคมนั้น เป็นการตีความที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งมาตรา 8 ระบุว่า “ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าที่เคยเป็นมาตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับเดิม กล่าวคือ ครอบคลุมผู้ประกันตนทั้งหมด อันประกอบด้วยผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง

2. เนื่องจากยกร่างระเบียบฉบับดังกล่าวออกแบบวิธีการเลือกตั้งภายใต้แนวคิดที่ใช้พื้นที่(จังหวัด)เป็นหน่วยในการเลือกตั้ง กำหนดอัตราส่วนให้จังหวัดที่มีผู้ประกันตน 200,000 คนมีผู้แทนได้ 1 คน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าผู้ประกันตนมีองค์ประกอบของ 3 มาตรา แต่ให้ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตราเลือกตั้งรวมกัน นับคะแนนรวมกัน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีแต่เพียงผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสามารถผ่านกระบวนการคัดเลือกจนได้เป็นกรรมการประกันสังคม

3. สมาคมฯเสนอให้

3.1 จัดสรรสัดส่วนของผู้ประกันตนในกรรมการประกันสังคมเป็น ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3 คน ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 2 คน และ ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 2 คน

3.2 เลือกตัวแทนระดับจังหวัดโดยแยกเลือกเป็น 3 คน จากผู้ประกันตนแต่ละมาตรา คือ 33, 39 และ 40

3.3 ตัวแทนผู้ประกันตนแต่ละมาตรามาเลือกกันในระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3 คน ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 2 คน และ ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 2 คน เข้าไปเป็นตัวแทนผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม

สมาคมฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสำนักงานประกันสังคมจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอนี้ นำไปทบทวน แก้ไขยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นกรรมการในการคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ว่า หลักการจัดการเลือกตั้งกรรมการนั้นคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายผู้ประกันตน และมีหลักประกันว่าผู้ประกันตน มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนถึง

3.5 ล้านคน จะมีตัวแทนในคณะกรรมการประกันสังคม