แรงงานนอกระบบเตรียมเสนอนโยบายแรงงานฯต่อผู้ว่าฯกทม.

 

แรงงานนอกระบบเตรียมเสนอนโยบายแรงงานฯต่อผู้ว่าฯกทม.

ข่าว Thai PBS NEWS ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555

 

การเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการภาครัฐทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต

นงคราญ ผลโพธิ์  กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชุมชนเคหะรุ่มเกล้า เขตราชกระบัง

– 150 บาท ต้องทำงานตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง?

– ทำตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง  5 ทุ่ม 150 บาท /วัน นี่คิดตายตัวเลยนะแต่บางวันไม่มีงานคือไม่ได้เลย

ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าวัย 70 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่บอกว่างานที่ทำมีรายได้ไม่แน่นอนเมื่ออายุมากขึ้นเรี่ยวแรงในการทำงานก็ถดถอย หนำซ้ำเมื่อเจ็บป่วย มีเพียงบัตรสุขภาพถ้วนหน้าเพียงใบเดียวเท่านั้นที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ ส่วนสิทธิและสวัสดิการอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานจากภาครัฐเธอไม่เคยได้ตลอดอายุการทำงาน

            กุหลาบ โสภา  กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชุมชนเคหะรุ่มเกล้า เขตราชกระบัง “ที่นี่ก็มีหลายคนเหมือนกันอย่างปักเลื่อมปักอะไรต่างๆ ก็อยากให้รัฐบาลมาดูแล ความเป็นก็จะดีขึ้น ถ้าไม่มีก็จะต้องสู้อยู่อย่างนี้”

ปัจจุบันมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปี 2553 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังไม่มีประกาศบังคับใช้ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล

ข่าวสารรวมถึงสวัสดิการและการคุ้มครองจากภาครัฐ

            สุจิน รุ่งสว่าง  ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ “มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านออกมาตั้งแต่ปี 53 แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติออกมาคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายรอง พอร่างกฎหมายรองตั้งแต่ปี 53 มาถึงปี 55 กฎหมายรองก็ยังไม่เสร็จและสามารถที่จะออกมาคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้อย่างจริงจัง”

 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้ง 39.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 12 ล้านคน  แรงงานนอกระบบถึง 24.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานครกว่า 1.2 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและกลุ่มอาชีพอิสระทั่วไป

สถาพร ด่านขุนทด Thai PBS