แรงงานนอกระบบชวนรวมกลุ่มต่อรัฐสมทบประกันสังคมเท่าเทียมไม่ใช่1ปีทิ้ง

เครือข่ายแรงงานนอกระบบหนุนนโยบายประชาวิวัฒน์ชวนสมาชิกสมัครเป็นผูปีะกันตน ม.40 เน้นต้องรวมกลุ่มต่อรองทางการเมืองเพราะรัฐสมทบปีเดียวไม่พอต้องเท่าเทียมกับแรงงานในระบบร่วมสมทบไม่ท้ิงโดดเดี่ยว ย้ำเลือกตั้งนักการเมืองเพื่อรับใช้แรงงาน ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วเลือกเลย หากไม่ช่วยแรงงานก็ต้องเลือกใหม่ มีส่วนร่วม บริหารอย่างมีส่วนร่วม พร้อมออกกฎหมาย สวัสดิการเพื่อแรงงานนอกระบบ
 
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16.00-20.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ การเคหะทุ่งสองห้อง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เคหะทุ่งสองห้อง ได้มีการจัดเวทีรณรงค์ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย โดยมีผู้เข้าร่วม 100 กว่าคน
 
นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวว่า การจัดเวทีร่วมกับแรงงานนอกระบบนี้เป็นเวทีที่ 3 แล้ว เป็นการให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย และมุมมองประชาธิปไตยของแรงงานนอกระบบ ซึ่งแรงงานนอกระบบถือเป็นแรงงานจำนวนมากของประเทศ ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งพบประเด็นข้อเสนอทั้งส่วนของแรงงานนอกระบบการเคหะร่มเกล้า แรงงานนอกระบบภาคเหนือ และวันนี้แรงงานนอกระบบการเคหะทุ่งสองห้อง มีความเหมือนกันคือ ต้องการที่จะมีสวัสดิการ และเห็นด้วยกับการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ด้วยเห็นว่า การแก้ไขประเด็นปัญหาแรงงานต้องอาศัยนักการเมือง ซึ่งแรงงานนอกระบบก็มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเข้าไปรับใช้แรงงานนอกระบบ แต่ปัญหาคือเลือกแล้วนักการเมืองไปไหน ไม่เคยกลับมาหาแรงงานนอกระบบที่เลือกตั้งเข้าไป
ชีวิตของแรงงานทุกคน ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่าให้การเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเพียงแค่การใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น เราควรมีส่วนร่วมกับการเมืองทั้งการใช้สิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการบริหารบ้านเมือง สิทธิในการเสนอกฎหมายกับนักการเมืองที่เป็นตัวแทนเราด้วย
 
คุณชลาลัย  ศรีทอง นักวิชาการแรงงานชำนาญการสำนักงานประกันสังคม พื้นที่ 2 กล่าวถึงประเด็นสิทธิประกันสังคมนั้นมี 3 ระบบ ประกอบด้วย 1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานในระบบทำงานในสถานประกอบการมีนายจ้าง มีสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร คลอดบุตร ว่างงาน และชราภาพ 2.  ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นแรงงานที่ออกจากระบบประกันตนมาตรา 33 ก่อนจึงมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งได้รับสิทธิน้อยกว่ามาตรา 33 เพียงหนึ่งกรณีคือกรณี ว่างงานเท่านั้น
 
ในส่วนของแรงงานนอกระบบนั้นรัฐบาลได้ประกาศการให้ความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 โดยผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบสามารถเลือกชุดสิทธิประโยชน์ดังนี้ 
 
ชุดสิทธิประโยชน์ที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเป็นผู้ป่วยใน 2 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วัน โดยต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3ใน 4 เดือน เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปีซึ่งเงินทดแทนขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และเงินค่าทำศพ 20,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 6 ใน 12 เดือน
ชุดประโยชน์ที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท โดยผู้ประกันตน 100 บาท รัฐจ่ายสมทบร่วม 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ เพิ่มจากชุดสิทธิประโยชน์ที่ 1 คือ หลักประกันยามชราภาพ จ่ายเป็นบำเหน็จชราภาพรับเป็นเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปี
 
ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ ต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนาในวันสมัคร โดยสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือหน่วยงานเคลื่อนที่ หรือสมัครผ่านตัวแทน การจ่ายเงินสมทบและรับสมุดเงินสมทบ-สิทธิประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554
 
นายสมคิด  ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ นำเสนอถึงความหมายแรงงานนอกระบบว่า แรงงานนอกระบบในความหมายประกอบด้วย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอย คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสวัสดิการใดนอกจากสวัสดิการบัตรทองหรือขณะนี้รัฐบาลบอกว่าบัตรประชาชนใบเดียวสามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้
 
การเคลื่อนไหว แรงงานนอกระบบได้มีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการให้ เช่นระบบประกันสังคมเพื่อให้ขยายมาคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ใช้เวลามานานนับ 20 ปี โดยความร่วมมือกับองค์กรแรงงานต่างๆทั้งแรงงานในระบบ องค์กรพัฒนาเอกชน จนวันนี้ รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศขยายประกันสังคมจากเดิม มีเพียง 3 กรณี ตาย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร จ่ายแพงมาก ขณะนี้จ่ายถูกลง และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาว่ารัฐจะสมทบช่วยแรงงานนอกระบบเพียงปีเดียว เครือข่ายแรงงานทุกกลุ่มคงต้องเหนื่อยต่อเพื่อให้รัฐเข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบให้จริงจังกว่านี้
 

แต่เหนือสิ่งใด คือ แรงงานนอกระบบต้องมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อการใช้พลังในการบอกรัฐบาลว่าแรงงานนอกระบบต้องการสวัสดิการอะไร รูปแบบไหน วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 นี้ เราต้องออกไปร่วมกับแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล และเป็นช่วงที่ประกาศประกันสังคมให้คุ้มครองแรงงานนอกระบบเช่นกัน หากแรงงานอกระบบไม่มีการรวมตัวกันต่อรองทางการเมืองนักการเมืองก็จะไม่เห็นหัว แรงงานนอกระบบต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองใช้อำนาจตามอำเภอใจ การที่แรงงานนอกระบบเลือกนักการเมืองเข้าไปเพื่อให้ตัวแทนในการต่อรองออกฎหมาย จัดสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ หากไม่ทำครั้งหน้าก็ไม่ต้องเลือก แรงงานนอกระบบต้องเชื่อมั่นในพลังการรวมตัวต่อรองด้วย
 
นางนีรมล  สุทธิพันธ์พงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบการเคหะทุ่งสองห้อง กล่าวว่า จากการที่ตนเองได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ได้เห็นความเข้มแข็งของกลุ่มผู้หญิง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่มีการรวมตัวกันมีสมาชิกล้านกว่าคน เวลาที่เครือข่ายแรงงานต้องการต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาล ก็จะได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ทางกลุ่มมีการจัดสวัสดิการกองทุนในหลายรูปแบบ เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ 200 กว่าแห่ง รวมทั้งมีธนาคารของกลุ่มแรงงานขายของมือ 2 ซึ่งแรกๆมีรัฐมองว่าเป็นไปได้ยากแต่ในที่สุด ธนาคารนี้อยู่ได้บริหารกันได้อย่างมีระบบ ซึ่งตนคิดว่าในส่วนของเครือข่ายแรงงานนอกระบบซึ่งขณะนี้มีการรวมตัวกันทั้งหมด 5 ภูมิภาค ประกอบด้วยเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกลาง และเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกรุงเทพมหานคร ซึ่งเบื้องต้นมีสมาชิก 1,000 กว่าคน โดยเริ่มที่จะจัดสวัสดิการให้กันในกลุ่ม โดยคลาดว่าจะมีการหาสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
 
ทั้งนี้มีคนร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมากโดยมี การพูดถึงสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพว่า ยังเป็นระบบที่มีปัญหาเรื่องของการส่งตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลในพื้นที่ และยังมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ รักษาเบื้องต้นให้คนป่วยกลับไปนอนที่บ้านก่อนเพื่อรอเตียงว่างแทนการส่งตัวไปโรงพยาบาลในระบบ นี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ลุงอีกคนลุกขึ้น

มาเล่าว่า ปัญหาการจัดการระบบไม่ดีพอ เพราะรัฐไม่พูดเรื่องปัญหาพูดแต่สิ่งดีๆ เช่นรักษาพยาบาลเพียงยื่นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ แต่จริงแล้วยังต้องจ่ายเงินค่ายาอยู่ มียานอกบัญชี ระบบการส่งต่อเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยต้องหนักแค่ไหนจึงจะส่ง การรักษาพยาบาล แพทย์มีปัญหาอย่างไร มีเพียงพอกับระบบหรือไม่ รัฐบาลพูดไม่หมดพูดเพียงแง่ดีเท่านั้น
 
เวทีมีการตั้งคำถามเรื่องการเมืองประชาธิปไตย มีผู้เข้าร่วมตอบปัญหาจำนวนมากเพื่อรับรางวัลย์จากทีมงาน เช่นเสื้อ และหมวกประกันสังคม จากนั้นได้มีการฉายวีดิทัศน์ เรื่องแรงงานไทยรู้สิทธิ ร่วมสร้างประชาธิปไตย และแจกเอกสารแผ่นพับ ซีดี เพลง มีการตั้งโต๊ะของเจ้าหน้าที่ประกันสังคมให้ความรู้กับผู้ที่เดินผ่านไปมาพร้อมทั้งเปิดรับสมัครผู้ต้องการเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงการแสดงของวงดนตรีภราดร
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน