แถลงการณ์สรส.ในโอกาสวันสตรีสากล

แถลงการณ์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2561 

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ทั่วทั้งโลก แซ่ซ้อง สดุดี การลุกขึ้นต่อสู้ของผู้หญิง เป็นการเฉลิมฉลอง “วันสตรีสากล”มีกิจกรรมมากมายและหลากหลายทั่วทุกมุมโลก หลายประเทศมีความตระหนักและเปิดโอกาสให้สตรีได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามกว่าที่สิทธิสตรีจะได้รับการยอมรับ สตรีเองก็ต้องต่อสู้อย่างหนักกว่าจะได้รับสิทธิ เสรีภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงคุณค่าของสตรี และวันสตรีสากล จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบประวัติศาสตร์ของวันสตรีสากล

คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) เดิมชื่อคลาร่า ไอนส์เนอร์ คือผู้ลุกขึ้นปลุกจิตวิญญาณการต่อสู้ของสตรี คลาร่าเป็นนักการเมืองสตรีแนวคิดสังคมนิยม หรือมาร์กซิสต์ เชื้อสายเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1857 ที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี ตลอดช่วงชีวิตของคลาร่า เธอได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของสตรีอยู่ตลอดเวลา โดยในปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) คลาร่า เซทคิน ได้แสดงสุนทรพจน์ในเรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส ซึ่งใจความสำคัญคือการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากลอีกด้วย

ต่อมาในปี 1907 คลาร่า เซทคิน ได้ก่อตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมสตรีในเยอรมนี ก่อนที่จะเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานของสตรี เหลือ 8 ชั่วโมง และเรียกร้องสิทธิทางการเมืองในการออกเสียง พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน จนนำไปสู่การประชุมของสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่2 ในปี ค.ศ.1910 ที่เมืองโคเปญเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีการเรียกร้องให้มีระบบ “สามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง เรียกร้องให้งานประเภทเดียวกันให้มีค่าจ้างเท่ากันระหว่างหญิงชาย และคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก พร้อมกันนี้คลาร่าก็ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา รวมตัวกันประท้วงก่อนเกิดโศกนาฏกรรม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของเธอทำให้สิทธิพื้นฐานของแรงงานทั้งหญิง เด็ก และชายได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.1920 – 1932 คลาร่า เซทคินเข้าเป็นแกนนำต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันความพยายามของคลาร่า เซทคิน ในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น “มารดาแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีสากล

ประเทศไทยบทบาทของสตรีมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านประเทศในทุกมิติแต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเข้มข้นไม่แพ้ในต่างประเทศ มีผู้นำแรงงาน และคนงานจำนวนมากที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเช่น คนงานโรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้น คนงานโรงงานฮาร่า คนงานทอผ้ากรุงเทพ สหภาพแรงงานไทยเกรียง แต่ต้องถูกจับ ถูกปราบ บางคนต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ เช่น สำราญ คำกลั่น ผู้นำแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นต้น แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปแต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แรงงานสตรีก็ยังคงต้องต่อสู้อย่างหนัก ทั้งในเรื่องสิทธิ และคุณภาพชีวิต แต่ยังไม่อาจคาดหวังได้ว่าสิทธิสตรีจะมีการพัฒนาการให้ดีขึ้นกว่าเก่า ยังมีประเด็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ..

สถานการณ์ปัจจุบันสถานการณ์โลก สถานการณ์ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนเสรีนิยมที่เบ่งบานและเชื่อมประสานกันทั่วทั่งโลก สร้างอิทธิพล บารมีแห่งการกดขี่ขูดรีดอย่างเข้มข้น ซึมลึกเลยชั้นผิวหนังร่างกายที่สัมผัสได้เข้าห้วงสำนึกและจิตวิญญาณที่ยากจะแกะออกให้หลุดพ้นได้ กระแสวาทะกรรมที่บ่มเพาะหล่อหลอมเข้าเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายทุนส่งผ่านถึงรัฐบาลที่โง่เขลา เบาปัญญาในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา กำหนดนโยบายสดุดีในความ..ทาส..เป็นทางทางความคิด ไม่เข้าใจ ไร้สติปัญญา โดยเฉพาะกระแสเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 4.0 หลายประเทศกำลังดำดิ่งไปสู่ยุคใหม่ที่มืดมน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันภายใต้ นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่เน้นการเติบโตของระบบทุน กลุ่มทุน ทั้งในชาติและต่างชาติ ในโครงการเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ กิจการของประเทศ โภคทรัพย์ของสังคม ทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน เช่นที่ดินที่สามารถให้ต่างชาติเช่าได้ 99 ปี และถือครองกรรมสิทธิ์ได้ รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างดีในการให้บริการแก่ประชาชน ได้ถูกหยิบยื่น ปรนเปรอให้แก่กลุ่มทุนทั้งการออกกฎหมาย นโยบาย การสนับสนุนทั้งการเงินและการคลังในเรื่องเงินทุนและการยกเว้นเรื่องภาษี ในขณะที่หลักประกันทางสังคมความมั่นคงของมนุษย์กลับไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใดแต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการยกเว้นกฎหมายบางฉบับไม่ต้องปฏิบัติตามให้แก่กลุ่มทุน นักลงทุน เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ภายใต้การพัฒนายุคใหม่ ยุคที่ 4 ที่จะนำเครื่องจักร หุ่นยนต์ เทคโนโลยีเข้ามาแทนคน..แต่ไม่ได้มีแผนรองรับว่าหากคนตกงาน ว่างงานจำนวนมากแล้วจะมีมาตรการอย่างไร..ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทาง ไร้อนาคต “เดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ที่มืดมน

ดังนั้น ภารกิจของขบวนการแรงงาน ขบวนการทางสังคม ทั้งที่เป็น หญิง และ ชาย จะต้องศึกษาหาความรู้ทบทวนแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้าใจมีสติปัญญา เท่าทัน และสร้างพลังอำนาจของขบวนการแรงงานและพลังทางสังคมขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอำนาจและโครงสร้างด้านบนที่เป็นโครงสร้างกำหนดทิศทางของประเทศหรือโครงสร้างทางการเมืองเพื่อปรับทิศเปลี่ยนทางให้โครงสร้างด้านล่างหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความยุติธรรม เผื่อแผ่ แบ่งปันกันอย่างเหมาะสม พอเพียงไม่ขูดรีด เอาเปรียบกันและกัน เพื่อให้โครงสร้างที่อยู่ตรงกลางคือโครงสร้างทางสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพราะการกดขี่ขูดรีดนั้นมันไม่เลือกว่าจะเป็นหญิงหรือชายมันมีความเสมอภาคในการขูดรีด ดังนั้นหญิงชายต้องสามัคคีกันร่วมกันปลดปล่อยและต่อสู้กับ บุคคล ความคิด นโยบาย กฎหมายที่ไร้ความยุติธรรม ข้อเสนอทั้งหลายจึงต้องมีเป้าหมายที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมที่เลวไปสู่สังคมที่ดีกว่าภายใต้ความร่วมมือ สามัคคีในหมู่เรา ชนชั้นเรา ขบวนการแรงงาน ขบวนการทางสังคมและคนยากจนทั้งหลาย

ในส่วนบทบาทของผู้หญิงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ตระหนักถึงสิทธิสตรี กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สรส. ได้พยายามอย่างมากในการส่งเสริมสิทธิสตรีให้เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำแรงงาน และในปี 2550 ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ระดับหนึ่งในการแก้ไขธรรมนูญของ สรส. ให้มีสัดส่วนสตรีเป็นกรรมการบริหาร สรส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และผลักดันให้แต่ละองค์สมาชิกมีโครงสร้างสตรีเป็นกรรมการบริหาร รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของสตรีอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นวันสตรีสากลของทุกปี จึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อสิทธิของสตรีในอนาคตและผู้ใช้แรงงานทั้งหญิงและชาย ต้องไม่ลืมว่าในโลกแห่งความเป็นจริง การกดขี่ขูดรีดเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาไม่ว่าจะเป็น ชายกดขี่หญิง หญิงกดขี่ชาย ชายกดขี่ชายหรือแม้แต่หญิงกดขี่หญิง ดังนั้นผู้ใช้แรงงานพึงตระหนักเสมอว่าหากเรามองการกดขี่ในมิติทางชนชั้นเราจะสามารถทราบได้เป็นอย่างดีว่าเราจะสามัคคีกับใคร เราจะต่อสู้กับใครซึ่งเป็นผู้กดขี่เรา หากเราไม่แจ่มชัดก็จะทำให้เราสับสนจนไม่อาจแยกมิตรศัตรูได้ซึ่งก็จะทำให้เราอ่อนแอในที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาการจัดตั้ง ภายใต้เงื่อนไขและรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อต่อสู้กับผู้กดขี่และความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่แพร่ขจายหลากหลายรูปแบบ ในมิติเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างหญิงและชายทั้งภายในประเทศและระดับสากล ความสำเร็จจึงจักเกิดขึ้นได้

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังกรรมกร

ขอให้สิทธิสตรีจงเจริญ ขอให้กรรมกรจงเจริญ

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)

8 มีนาคม 2561