นายจ้างฟูจิตสึเปิดเกมส์ใช้มาตรการรุกหมายแยกความคิดโล๊ะทิ้ง หลังแกนนำสหภาพฯถูกปล่อยตัว

หลังจากที่กลุ่มพนักงานบริษัทฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย (จำกัด) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้ง 13 คน ซึ่งเป็นแกนนำในการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อมานายจ้างได้ประกาศปิดงานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2553 พนักงานจึงชุมนุมยืดเยื้ออยู่บริเวณบริษัทฯ เพื่อรอการเจรจาและในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 นายจ้างได้ยื่นร้องต่อศาลแรงงาน 2จังหวัดชลบุรีกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลมีคำสั่งคุมขังจำเลยที่ 2-16และทางขบวนการแรงงานได้ร่วมรวมเงินประกันได้เพียง100,000 บาทออกมาได้เพียง 2 รายเป็นผู้หญิงอีก 13รายเป็นผู้ชายได้ถูกสั่งจำคุกในเรือนจำพิเศษ และห้ามเยี่ยมเป็นเวลา 7วัน ข้อหาละเมิดคำสั่งศาล ณ เรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี

วันที่ 16กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 19.00 น  บริเวณหน้าเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี แกนนำทั้ง 13 คน ได้รับการปล่อยตัวโดยมีญาติพี่น้อง ครอบครัวและเพื่อนพนักงานกว่า 30 คน รอให้การต้อนรับ พร้อมมอบเสื้อผ้าชุดสีขาวที่เตรียมไว้ให้ได้สวมใส่เพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์

นาย วุฒิชัย รอดนุ้ย หนึ่งในผู้ที่ได้รับอิสรภาพ เปิดเผยว่า วันแรกที่ทุกคนเข้าไปนั้นก็มีความหวั่นใจและเป็นทุกข์ใจอย่างมาก ทุกคนหวังว่าจะได้รับการประกันตัวออกมาแต่ก็ยังไม่มีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ วันที่ สองที่สามก็ยังมีความหวังแต่พอถึงวันที่สี่ก็เริ่มทำใจแล้วว่าทุกคนต้องอยู่ในนี้ถึง 7วัน บรรยากาศในคุกนั้นทุกคนคงจะพอนึกภาพออก การนอนนั้นในห้องหนึ่งมี170กว่าคนต้องเบียดเสียดเยียดยัด ห้องน้ำก็มีแค่บล๊อกกั้นและอยู่รวมกับห้องนอนซึ่งเวลาทำธุระส่วนตัวทุกคนก็เห็นกันหมด เรื่องอาบน้ำก็มีเวลาแค่ 30วินาที หากใครฟอกสบู่แล้วล้างไม่ทันหรือไม่หมดก็ต้องไปเช็ดกันเอาเองเพราะผู้คุมจะปิดน้ำทันทีที่ได้เวลา ส่วนเรื่องอาหารนั้นก็เป็นข้าวคลุกรวมหากไม่หิวจริงๆคงกินไม่อร่อย การใช้ชีวิตในเรือนจำผู้คุมก็บอกว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นๆเพราะคดีเราแตกต่างจากเขา ส่วนบรรยากาศรอบๆข้างมองเห็นแค่ดวงอาทิตย์และป้ายของโรงพยาบาลอะไรก็ไม่รู้จำไม่ได้ที่ตั้งขึ้นสูงอยู่ข้างๆเรือนจำ

แต่ในความลำบากนั้นพวกเราก็ได้รับการต้อนรับดูแลที่ดีจากผู้คุมและผู้ต้องขังคนอื่นๆโดยหลายๆคนเข้ามาถามและแสดงความเห็นว่าคดีของเราทำไมถึงต้องคุมขังหรือติดคุกเพราะที่นี่มีแต่คดีที่หนักๆทั้งนั้นถึงจะติดคุกหรือเข้าเรือนจำ ซึ่งในวันสุดท้ายที่จะออกจากเรือนจำทุกคนจะต้องถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนและขึ้นรถเรือนจำไปขึ้นศาล รอคำสั่งจากศาลและกลับมาที่เรือนจำเพื่อทำประวัติก่อนจะถูกปล่อยตัว นายวุฒิชัย กล่าวเสริม

ทางด้าน นาย สมบัติ สำเภาทอง เพื่อนผู้ใช้แรงงานจากสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยที่มารอต้อนรับ เล่าให้ฟังว่า วันนี้ทราบว่าเพื่อนๆจะได้รับการปล่อยตัวตนเองเดินทางมาตั้งแต่เวลา 11.00 น. มีรถจากเรือนจำมาส่งที่ศาลแรงงาน2 จังหวัดชลบุรีเพื่อรอคำสั่งจากศาลซึ่งหลังจากฟังคำสั่งศาลแล้วทุกคนต้องถูกส่งไปเรือนจำอีกครั้งเพื่อรอทำประวัติ แต่เนื่องจากวันนี้มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่รอการปล่อยตัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีของเยาวชนบ้าง ยาเสพติดบ้าง ทำให้การดำเนินการนั้นล่าช้ามาก กว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็ปาเข้าไปทุ่มหนึ่งพอดี

 นายสมบัติเล่าต่อว่า สำหรับบรรยากาศในตอนนั้น พอทั้ง 13 คนเดินออกมาญาติพี่น้องและเพื่อนๆที่มารอต้อนรับต่างกรูเข้าไปกอดและถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เมียแกนนำบางคนถึงกับน้ำตาไหลดีใจที่สามีออกมา ซึ่งตนเองนั้นเคยอยู่จุดนี้มาก่อนเมื่อครั้งคดีของแกนนำมิชลินที่ถูกคุมขังและมีคนมารอต้อนรับ รู้ดีว่าความรู้สึกเป็นเช่นไร จากนั้นได้มอบผ้าชุดสีขาวให้ใส่และทุกคนยืนเรียงแถวหันหน้าเข้าหากัน ให้ทั้ง13คนเดินผ่านพร้อมมอบดอกไม้เพื่อต้อนรับการคืนสู่อิสรภาพ ก่อนออกเดินทางกลับโดยเป้าหมายคือสำนักงานสหภาพแรงงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์

เมื่อเดินทางมาถึง สนง.แหลมฯประมาณ 20.00 น.พี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 50 คนรอต้อนรับและผูกด้ายข้อมือรับขวัญก่อนเตรียมอาหารให้แกนนำทั้ง 13 คน รับประทานร่วมกันโดยมีพี่น้องทั้งหมดเฝ้ารับขวัญและคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่างจน สนง.แน่นถนัดไปทันที หลังจากทานอาหารแล้วทั้ง 13 คนร่วมประชุมกับผู้นำแรงงานเพื่อกำหนดแนวทาง ประมาณเวลา 4 ทุ่มทุกคนจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน บางคนก็สังสรรกันต่อ นายสมบัติกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา เวลา 16.00 น. ณ สำนักงานสหภาพแรงงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์  เลขที่ 1/33 หมู่ 6 ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่สวัสดิการแรงงานจังหวัดได้ทำหน้าที่นำประกาศของนาย ซาโตชิ โอโนะ ประธานบริษัทฯ(นายจ้าง) เรื่อง”โครงการเลือกวิถีชีวิตใหม่ด้วยเงินชดเชยและโบนัส “ ความว่าผู้ที่ไม่ประสงค์จะกลับเข้าทำงานในบริษัทฯอีก ยังคงมีสิทธิได้รับโบนัส 4.2 เดือนและสามารถที่จะเลือกชีวิตใหม่ตามใจชอบ โดยบริษัทฯให้โอกาสถึงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2554 ที่จะดำเนินการดังนี้

1. รับเงินโบนัสในอัตรา 4.2 เท่าของเงินเดือน

2. รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทฯเป็นจำนวนเท่ากับอัตราเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง เช่น ทำงานมาแล้ว 10ปี จะได้รับ 10 เท่าของเงินเดือน หรือทำงานมาแล้ว 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับ 8 เท่าของเงินเดือน

3. บริษัทฯจัดเงินช่วยเหลือพิเศษให้ต่างหากอีก 1 เท่าของเงินเดือน

4. พนักงานจะได้รับเงินทั้ง 3จำนวนดังกล่าวข้างต้น โดยบริษัทฯจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินเดือนของท่านที่ได้รับหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงาน ทั้งนี้ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554

5. บริษัทฯจะไม่ดำเนินคดีใดๆทั้งทางแพ่งและอาญากับพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ

นาย สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับประกาศของบริษัทฯจากเจ้าหน้าที่แรงงานก็ได้ประชุมกันและสรุปเป็นประเด็นหลักของประกาศนี้คือบริษัทฯต้องการให้ทุกคนรับเงื่อนไขและลาออกจากการเป็นพนักงานเป้าหมายคือพยายามที่จะล้มล้างสหภาพแรงงานเพราะยังมีประเด็นอื่นที่ยังไม่ชัดเจนที่นายจ้างยังไม่ออกเป็นประกาศ เช่น หากพนักงานที่ตกลงรับโบนัส 4.2เดือนตามประกาศบริษัทฯและต้องการกลับเข้าทำงาน นายจ้างก็ไม่มีการประกาศที่ชัดเจนว่า มีแนวทางอย่างไรเหตุเพราะยังมีคดีความที่นายจ้างแจ้งไว้ สหภาพแรงงานคือจำเลยที่ 1และทุกคนคือจำเลย หากคนกลับเข้าทำงานแล้วรับประกันได้อย่างไรว่านายจ้างจะไม่ตามเล่นงานทีหลัง และอีกประเด็นก็คือว่าขณะนี้ข้อเรียกร้องของสหภาพฯก็ยังอยู่และนายจ้างก็ได้ส่งสัญญานมาแล้วว่าหากเจรจายุติในนามสหภาพฯเรื่องคดีความก็ไม่ยอม จะยังคงดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนประเด็นตามประกาศบริษัทฯนั้นเป็นข้อที่นายจ้างกำหนดไว้ ซึ่งลูกจ้างไม่มีทางเลือกและไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่ต้องการกลับเข้าทำงาน จึงเป็นประเด็นคำถามที่นายจ้างต้องหาคำตอบมาให้และทุกคนก็รอคำตอบอยู่ แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหน แต่ขณะนี้ทุกคนยังมีใจที่หลอมรวมกันเหนียวแน่นเหมือนเดิม และทุกคนอยากกลับเข้าทำงาน                                     

  สมหมาย ประไว  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ ชลบุรี – ระยอง รายงาน