เสวนา “อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด-19” และ “แผนฟื้นฟูอาชีพจากโควิดกับผู้หญิง”

            วันที่ 25-26 สิงหาคม 2564 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ร่วมกับ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและพัฒนา มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ได้มีการจัดเสวนา อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด-19 ผ่านทาง ZOOM โดยถ่ายทอดสดผ่านทาง Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

            ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิดในประเทศต่างๆทั่วโลก มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบแตกต่างและมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากก่อนหน้าโรคระบาด ผู้หญิงมีความเปราะบางอยู่แล้วจากการที่มีรายได้น้อยกว่า มีเงินเก็บน้อยกว่า ทำงานที่มั่นคงน้อยกว่า เข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมน้อยกว่า และมีภาระจากการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่า เมื่อเกิดโรคระบาด จึงมีทรัพยากรที่พร้อมรับมือกับวิกฤติคร้ังนี้ได้น้อยกว่าผู้ชายนอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการบริการ เช่น ร้านค้าปลีก โรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องปิดกิจการจากโรคระบาด และผู้หญิงมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง

            ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองทางสังคมเพียงเล็กน้อย ในยามปกติประกอบอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำไม่มีทรัพยากรสำรองสำหรับรองรับความเสี่ยง ดังนั้นโควิด-19 จึงส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่ออาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไป แม้โรคระบาดจะบรรเทาลงองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาต่างๆจึงมีข้อเสนอแนะไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน คือ มาตรการเยียวยาและส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างของผู้หญิงด้วย

            ผู้หญิงในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ปัจจุบันไทยมีกำลังแรงงานหญิงจำนวน 17.72 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานร้อยละ 60.2 ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของผู้ชาย คิดเป็นร้อยละ 76.6 โดยผู้หญิงทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ 9.16 ล้านคน(ร้อยละ 52.7)และ แรงงานในระบบ 8.21 ล้านคน (ร้อยละ 47.3)ถ้าแบ่งเป็ นภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คือร้อยละ51.6 ทำงานในภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 30 ทำงานในภาคการเกษตร และร้อยละ 18.4 ทำงานในภาคการผลิตเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 14,833 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของเพศชาย 14,534 บาทต่อเดือน ในช่วงโรคระบาด มีการศึกษาภาพรวมเชิงสถิติพบว่าโควิด-19จะทำให้อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงสูงกว่าในกลุ่มผู้ชาย ในส่วนของมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง สามารถรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฟื้นฟูของภาครัฐ ในขณะที่ผู้หญิงในหลายกลุ่มอาชีพยังขาดพื้นที่เพื่อนำเสนอปัญหาและความต้องการ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมาก ทั้งภาคส่วนที่ต้องหยุดงานจนขาดรายได้เช่น การท่องเที่ยว/โรงแรม/ร้านอาหาร การค้าปลีก งานบันเทิง และภาคส่วนที่ให้บริการที่จำเป็นต่อสาธารณะและไม่สามารถหยุดงานได้ เช่น งานบริการสุขภาพ การขนส่งการขายสินค้าบริโภคที่จำเป็น เป็นต้น

            วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เสวนา “อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด-19” โดยสรุปได้ ดังนี้

             ประเด็นผู้หญิงทำงานในระบบกระบวนการผลิต มีจำนวนมากที่ไม่สามารถจะ’Work From Home’ ซึ่งผลกระทบนี้ก็ไม่ใช่แต่เพียงผู้หญิงเท่านั้น เป็นแรงงานที่อยู่ในกระบวนการผลิตทั้งหมดที่ทำงานในกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดต้องทำงานในโรงงาน ซึ่งแน่นอนความปลอดภัยในการดูแลตนเองจากโควิดมีความสำคัญมาก ซึ่งทางบริษัทหรือโรงงานก็มีความพยายามคัดกรองเบื้องต้น มีระบบดูแลเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้นอย่างหน้ากากอนามัย มีแอลกอฮอล์ให้ แต่ความต้องการของแรงงานทุกคนคือวัคซีนที่จะฉีดเพื่อช่วยลดความรุนแรงหากเขาติดโควิด ซึ่งทางบริษัทได้พยายามที่จะหาวัดซีนเพื่อฉีดให้กับคนงานทุกคน ผ่านระบบประกันสังคมมาตรา 33 แต่วันนี้ยังไม่ได้ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงราว 90 เปอร์เซ็นต์ ราว 4 พันคน เมื่อติดโควิดบริษัทก็จะสั่งกักตัว ตรวจคัดกรองทีละแผนกเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ส่วนที่ป่วยส่งรักษา และคนที่กักตัวบริษัทก็จ่ายค่าจ่ายให้เพื่อช่วยเหลือซึ่งพออยู่ได้เท่านั้น

            ส่วนของผู้แทนพนักงานพยาบาล ประเด็นเรื่องการทำงานด่านหน้าที่ยังไม่ได้รับการดูแลทั้งความพร้อมของชุดPPE หน้ากาก และวัคซีน มีการทำงานอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา ยิ่งส่วนของพยาบาลที่ทำงานต่างจังหวัด ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายขนาดในการรองรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยงภัยทุกวัน ตอนนี้มีการส่งคนป่วยกับบ้าน บนความไม่พร้อมของอุปกรณ์การดูแลคนป่วย คือเสี่ยงทั้งคนทำงาน และคนป่วย พยาบาลมีทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ทำงานหนักเท่ากัน การทำงานอยู่เวรตลอด หากจังหวัดใดมีผู้ป่วยมากต้องทำงานแบบไม่มีเวลาพัก ซึ่งไม่ได้รับการดูแลหรือมีมาตรการที่จะดูแล แม้ว่าจะทำงานที่ต้องเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ระบบการจ้างงาน ค่าจ้างที่ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเสี่ยงภัยไม่มี การจัดการด้านวัคซีนยังไม่ทั่วถึง ชุดป้องกันความปลอดภัยไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้หญิงต้องการพื้นที่ในการดูแลความเป็นส่วนตัวอย่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องน้ำที่โรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่ไม่มีให้ จึงดูไม่ปลอดภัยต่อเนื้อตัวร่างกายและเชื้อโรคที่ระบาด แม้ระวังก็ยังเห็นพยาบาลและแพทย์ติดโควิดกันจำนวนมากตอนนี้ ซึ่งทางพยาบาลต้องการที่จะได้รับความดูแลเรื่องความมั่นคงในการทำงาน การบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการ ตามที่รับปากไว้ ค่าจ้าง ค่าเสี่ยงภัย รวมถึงระบบความปลอดภัยในการทำงานด้วย

            แรงงานกลุ่มบริการ อย่างอาชีพไกด์นำเที่ยวตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย และคิดว่า หากนักท่องเที่ยวมาในอนาคตก็น่าจะเปลี่ยนไปไม่ได้เที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เช่นเดิม อาชีพบริการทุกกลุ่มเป็นกลุ่มแรงงานที่ถูกปิดก่อนเปิดทีหลัง ไม่ได้รับการดูแลเลยแม้ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีส่วนในการทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวจำนวนมาก แรงงานภาคบริการไม่มีระบบประกันสังคมซึ่งต้องการระบบประกันสังคมแบบมาตรา 33  หรือมาตรา 39 ไม่ใช่มาตรา 40 อยากมีระบบการเยียวยากรณีว่างงาน ไม่ใช่การเยียวยา 5,000 บาท สิ่งที่ต้องการคือระบบประกันสังคมที่เอื้อต่อการให้แรงงนทุกกลุ่มเข้าระบบเพื่อประกันรายได้ ทุกวันนี้ มีการปรับเปลี่ยนอาชีพบ้างแต่ว่าก้ยังไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะการค้าขายอาหารก็ทำไม่ได้ ปัญหาแบบลูกโซ่ ขาดเงินทุนในการรองรับ ไม่มีหลักค่ำประกันก็กูเงินไม่ได้ กู้นอกระบบดอกสูง ตอนนี้โดยเฉพาะเชียงใหม่ค่าครองชีพสูง ไม่มีงานรองรับ การเยียวยาก็ไม่มี จึงอยากให้ทุกอาชีพได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 อย่างน้อยมีสิทธิกรณีว่างงานมาดูแล

            กรณีแรงงานนอกระบบ เป็นปัญหาหลักกลุ่มใหญ่ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มแม่บ้าน หรือคนทำงานบ้านไม่ได้รับการดูแล จากภาครัฐเลย เขาไม่ได้รับการเยียวยา เข้าไม่ถึงการตรวจ หรือวัคซีน กลุ่มคนทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ตอนนี้นายจ้างส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน เด็กๆเรียนอยู่ที่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียน บางกลุ่มต้องทำงานหนักขึ้น แต่บางส่วนนายจ้างผู้หญิงต้องการประหยัดเงินก็มีทั้งเลิกจ้าง หรือให้หยุดทำงานไม่ได้ค่าจ้าง ลำบาก นายจ้างตอนนี้ให้ลูกจ้างไปหาทางฉีดวัคซีนเอง ซึ่งลำบากมาก หากไม่ได้ฉีดวัคซีนไม่ให้ทำงาน ไม่มีใบรับรองการตรวจโควิดก็ไม่ให้ทำงาน เป็นปัญหาสำหรับแรงงานกลุ่มนี้มาก ยิ่งเป็นแรงงานข้ามชาติการเข้าถึงวัคซีนจึงยากมากหากนายจ้างไม่ช่วยหาเพราะจะจ่ายเงินซื้อก็ไม่มี จึงต้องการวัคซีน และงานที่มั่นคงด้วย

            กรณีแรงงานผู้พิการ เป็นปัญหาหนักคือ การจ้างงานมีน้อย และตอนนี้การเดินทางลำบาก และเป็นกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่บ้าน การเข้าถึงระบบต่างๆเป็นพลเมืองที่ไม่ได้รับการดูแลโดยเฉพาะผู้หญิงพิการ การเข้าถึงวัคซีนก็ยังเป็นปัญหา ทั้งการเดินทาง ส่วนรายได้การงานก็เป็นปัญหาไม่มีงานทำ ตกงาน เข้าไม่ถึงโอกาสการมีงานทำ และการดูแลส่วนใหญ่จะอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์หรือพม. จึงไม่มีการเยียวยาใดๆในกลุ่มเหล่านี้ อาจได้รับเบี้ยคนพิการเท่านั้นแต่การที่ไม่ได้รับการดูแลให้ได้รับวัคซีนทุกคน เพราะบางส่วนเป็นผู้พิการติดเตียงไม่สามารถที่จะออกมารับวัคซีนได้อย่างที่เห็นมีผู้พิการติดเตียง ติดโควิดเสียชีวิต

            กลุ่มแรงงานก่อสร้าง จากการปิดแค้มป์ส่งผลกระทบมากโดยเฉพาะแรงงานหญิงข้ามชาติในแค้มป์ คือความเป็นอยู่ที่แออัดคับแคบและร้อน การอยู่รวมๆกันทั้งแรงงานหญิง แรงงานชาย และเด็ก มีความเสี่ยงมาก หากคนหนึ่งติดโควิด ความเสี่ยงคือติดเกือบหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ การปิดโดยไม่ได้รับการดูแล ไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อแยก การกินการอยู่ได้รับอาหารกล่องวันละมื้อเท่นั้น มีผู้คนข้างนอกมาช่วยบริจาคข้าวสารอาหารบ้าง ไม่ได้รับการเยียวยาดูแลทางรายได้ทุกระบบในส่งนของแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่ทุกคนอยากได้คือการตรวจคัดกรองดูแลและฉีดวัคซีน ก่อสร้างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และกลุ่มมีลูกมีความเสี่ยงมากจะทำอย่างไรให้เขาได้รับวัคซีนก่อน เพราะภาพของผู้หญิงทำงานที่เสียชีวิตระหว่างที่แพทย์ต้องผ่าเอาเด็กออกมาเด็กรอดแม่ต้องตาย พ่อติดโควิดไม่รู้จะอยู่อย่างไร บางส่วนอาจรอด แต่บางส่วนต้องตาย ตรงนี้รัฐต้องดูแลกลุ่มผู้หญิงที่ท้องด้วยมาตรการที่รวดเร็วกว่านี้ ขอวัคซีนให้ทุกคนโดยเร็ว

อนาคตผู้หญิงทำงานกับแผนฟื้นฟูอาชีพจากผลกระทบดควิด-19

            อาชีพเสี่ยงอีกกลุ่มคือพนักงานรักษาความปลอดภัย กลุ่มนี้ผู้หญิงทำงานจำนวนมากขึ้น ด้วยผู้หญิงก็มีความสามารถทำงานได้ทุกประเภท และกลุ่มงานนี้มีความเสี่ยงในการทำงานมาก ซึ่งตอนนี้อาจเป็นกลุ่มคนงานที่ยังมีงานทำและอยู่ในระบบและต้องเดินทางไปทำงานกันทุกวันอยู่ในความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน

            นำเสนอในวันที่สองของงานสัมมนาต่อผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยสร้างไทย เพื่อให้ได้รับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังมีรายละเอียดของปัญหาและข้อเสนอที่จำเป็นต้องติดตามผลต่อไป โดยนางสาวมาลินี บุญศักดิ์ แรงงานในระบบ เป็นผู้แทนนำเสนอข้อสรุปและข้อเสนอ ดังนี้

            ปัญหาที่ผู้หญิงทำงานต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้

            1. ปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่สามารถ WFH ยังไม่ได้รับวัคซีน เกิดความเครียดจากสภาพปัญหาที่รุมเร้า

            2. ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้ ต้องขายทรัพย์สิน หนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการที่เด็กอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าอาหาร หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์

            3. ปัญหาครอบครัว ภาระการเลี้ยงดูลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ ศูนย์เลี้ยงเด็กปิด เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมและได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ปัญหาความสัมพันธ์กับคู่สมรส ความรุนแรงในครอบครัว ลูกสูญเสียพ่อ/แม่จากการติดเชื้อและเสียชีวิต

            4. ปัญหาด้านการทำงาน ภาระงานเพิ่มขึ้น จากคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น และจากการ WFH ของนายจ้าง โอกาสในการทำงานในอนาคตลดลง การแข่งขันในอาชีพมากขึ้น ขาดการพัฒนาทักษะทำให้เปลี่ยนอาชีพยาก

            5. ปัญหาเชิงโครงสร้างและสวัสดิการรัฐ ปัญหาเดิมของกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ สตรีพิการ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ขายบริการทางเพศ แรงงานข้ามชาติหญิง แรงงานก่อสร้างหญิง แรงงานเพศทางเลือก ถูกซ้ำเติมให้มีความรุนแรงขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมและโครงการเยียวยาของภาครัฐ

            ข้อเสนอของผู้หญิงทำงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

                        ข้อเสนอระยะเร่งด่วน มีจำนวน 8 ข้อ

            1. เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ถ้วนทั่ว โดยกลุ่มแรกต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์และอสม. แล้วกระจายไปยังประชาชน โดยไม่เลือกสัญชาติ เพิ่มโรงพยาบาลสนาม สถานพักคอย เร่งตรวจโควิดเชิงรุก และแจกชุดตรวจโควิด

            2. ให้เงินเยียวยาผู้ขาดรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน แบบเข้าถึงง่าย ถ้วนหน้า ในช่วงปิดเมือง

            3. ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า 600 บาทต่อคนต่อเดือน

            4. ให้สิทธิพิเศษกับสตรีมีครรภ์ให้ได้รับวัคซีน และปรับภาระงานให้เหมาะสม

            5. จัดสถานที่กักตัวสำหรับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแยกจากผู้ชาย

            6. ไม่นับรวมวันลาจากการติดโควิดกับวันลาอื่น

            7. ระงับการจับกุมแรงงานข้ามชาติจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

            8. สนับสนุนให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศเข้าใช้สิทธิตามกฎหมาย

                        ข้อเสนอระยะกลาง แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

                         ด้านอาชีพ มีจำนวน 6 ข้อ

            1. เปิดพื้นที่ให้สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ โดยมีมาตรการป้องกัน

            2. ให้ทุนให้เปล่าในการประกอบอาชีพขนาดเล็ก

            3. ให้กู้เงินจากกองทุนประกันสังคม ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ

            4. จ้างงานผู้หญิงดูแลคนในชุมชน

            5. จัดเตรียมอาชีพใหม่ให้กับแรงงาน จัดให้มีการพัฒนาฝีมือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

            6. ปรับค่าตอบแทนให้เป็นธรรมสำหรับอาชีพพยาบาล สนับสนุนความก้าวหน้าทางวิชาชีพ และฟื้นฟูสุขภาพให้กับบุคลากรที่ติดเชื้อ ให้สามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม หรือปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสม

             ด้านสุขภาพ มีจำนวน 4 ข้อ

            1. ปรับสภาพที่อยู่อาศัยของแรงงานก่อสร้างให้เหมาะสม

            2. ประกันสุขภาพให้กับแรงงานอิสระที่ต้องประกอบอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ เช่น มัคคุเทศก์ คนขับรถ

            3. ติดตามฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว และเปิดสายด่วนให้คำปรึกษาสุขภาพกายและจิต

            4. ประชาสัมพันธ์สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ของรัฐ แนวปฏิบัติการทำแท้งปลอดภัย ขยายจำนวนสถานบริการยุติการตั้งครรภ์

             ด้านระบบ กฎหมาย และการคุ้มครองทางสังคม มีจำนวน 4 ข้อ

            1.ปรับแก้กฎหมายแรงงาน ได้แก่ การลาคลอดของบิดา การแยกกฎหมายแรงงานชั่วคราว แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ ออกจากกฎหมายแรงงาน

            2. ให้ความรู้เรื่องสิทธิสวัสดิการแรงงาน

            3. ปรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้สามารถนำเงินสงเคราะห์บุตรมาเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

            4. บูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ

            • ข้อเสนอระยะยาว มีจำนวน 5 ข้อ ดังนี้

            1. ปรับเงื่อนไขการทำงานของแรงงานหญิงให้มีรายได้และความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น

            2. ขยายประกันสังคมให้คนทำงานทุกอาชีพ

            3. มีหน่วยงานเฉพาะภายใต้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานหญิง

            4. สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานต่างๆกับภาครัฐ

            5. วางแผนยุทธศาสตร์ชาติใหม่ ปรับกฎหมายให้ทันสมัย และปรับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ

            วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ได้มีการเสวนา “แผนฟื้นฟูอาชีพจากโควิดกับผู้หญิง”  โดยได้มีการนำเสนอความเห็นหน่วยงานรัฐและฝ่ายการเมืองต่อข้อเสนอแนะของผู้หญิง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ การจัดทำแผนเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แก่ผู้หญิงความเห็นหน่วยงานรัฐและฝ่ายการเมืองต่อข้อเสนอแนะของผู้หญิง

            สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน (ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล) กล่าวว่า การที่ได้ทำงานและเป็นผู้นำแรงงานมากว่า 30 ปี ได้เห็นการทำงานของผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่ทำงานและมีความละเอียดอ่อนมาก เป็นเพศที่ทำงานที่อดทนมาก การทำงานในช่วงโควิด-19 และมีปัญหามากสำหรับผู้หญิง ในช่วงนี้ที่มีการตั้งครรภ์ ผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบมาก แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ผู้หญิงตั้งครรภ์มีการย้ายการทำงานให้ปลอดภัยมีสถานที่ทำงานให้ แต่ปัญหาของโควิดมีผลกระทบกับผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งต้องมีการจัดการให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโดยเร็ว การตั้งครรภ์ตอนนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ควรมีการแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงโดยให้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง ขอให้ทำงานที่บ้านได้หรือไม่ และผู้หญิงต้องมีการทำงานรายได้ต่ำต้องมีการทำโอที การทำงานที่ยาวนานอาจมีความไม่ปลอดภัยได้ ซึ่งรายได้นั้นมีความสำคัญอย่างมาก

            ผู้หญิงต้องทำงานเท่าเทียมกับผู้ชายแล้วผู้หญิงก็ต้องทำงานหนักมาก และรับผิดชอบสูง ต้องหารายได้ส่วนหนึ่งมาเลี้ยงครอบครัว การที่ค่าจ้างต่ำทำให้ผู้หญิง หรือครอบครัวแรงงานต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยง ยิ่งช่วงโควิดที่กระทบกันทั้งรายได้การงานทำให้กระทบทุกคนทั้งครอบครัวผู้หญิงมีภาระเพิ่มมากขึ้น ระบบสวัสดิการที่ไม่รองรับทำให้ผู้หญิงแรงงานต้องใช้ชีวิตลำบากมาก หากเขาไม่มีงานทำ หรือค่าจ้างที่ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต วันนี้ผู้หญิงจำนวนมากตัดสินใจไม่ตั้งครรภ์ ไม่มีลูกเพราะไม่พร้อม ท่ามกลางความไม่มั่นคง กรณีโรคระบาด และความเสี่ยงต่อการมีงานทำ ทั้งที่ประเทศต้องการแรงงานต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่ว่าเงินอุดหนุนเด็กที่ไม่ถือเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กทุกคนเท่ากัน สวัสดิการเด็กที่ไม่ได้การดูแล ปัญหาใหญ่มากทางสังคมที่ต้องได้รับการดูแลทางนโยบาย

            แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปัญหาแรงงานหญิงที่กลับมาจากมาเลเซียจำนวนมากหลังปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกันทั้งครอบครัว ซึ่งข้อเสนออย่างกรณีเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่ภาคประชาชนเสนอมาแล้วที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทุกพรรคการเมืองลงมารับข้อเสนอและเห็นด้วยกับการที่จะให้มีเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งต้องดูว่าเด็กตอนนนี้อยู่ที่ไหน

            ประเด็นของผู้หญิงนั้นมีการฉีดวัคซีนได้ทุกคนในส่วนของด่านหน้าในส่วนภาคใต้ในพื้นที่ยังไม่มี แต่ปัญหา คือมีวัคซีนให้ฉีดแต่เขาไม่ไปฉีดกันในส่วนด่านหน้า กรณีคนตั้งครรภ์ก็ให้ฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่จำนวนวัคซีนยังเป็นปัญหาที่อาจมีปริมาณยังไม่เพียงพอครอบคลุมทุกคนซึ่งก็ต้องรอกันอยู่และกำลังจะเข้ามาคิดว่าน่าจะได้ครบทุกคน ซึ่งหากมีชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้นก็จะดีมากหากได้มีการให้ทั่วถึงทุกคน และการดูเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยา 10,000 บาท ตามข้อเสนอคงต้องมาดูเรื่องเงินกู้ ส่วนพรบ.งบประมาณ 2565 หลายกระทรวงไม่ได้มีเรื่องโควิดมาให้พิจารณาเลย มีสวทช.ที่มีการนำร่องเรื่องวิวัฒนาการใหม่ๆมาใช้ในครอบครัว

            มนตรี มณีรัตน์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มีแนวปฏิบัติให้สถานประกอบการเฝ้าระวังในการระบาดของโควิด-19 และมีพนักงานตรวจแรงงานเข้าไปทุกสถานประกอบการ และมีการจัดการบับเบิลแอนด์ซีล ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่แนะนำส่งเสริม และกรณีที่เสนอว่าจะไม่ให้นำวันลาป่วยจากกรณีโควิดมาเป็นวันลาได้หรือไม่นั้น คือว่ากรณีการป่วยโควิดจะมีการลา 14 วัน และมีการกักตัวอีก 14 วัน ซึ่งก็เป็นวันลาป่วย หากจะไม่ให้เป็นวันลาก็ขึ้นอยู่นายจ้าง กับลูกจ้างตกลงกัน ทางประกันสังคมให้เป็นเหตุสุดวิสัยหากต้องมีการหยุดงานทั้งหมดเมื่อติดโควิด แต่ด้วยสถานการณ์การจ้างงานใหม่มีแอพพลิเคชั่นและการจ้างงานเหมาค่าแรง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานนอกระบบ การจ้างงานระบบออนไลน์ก็มีทั้งได้รับการดูแลบ้างในส่วนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ว่า LINE MAN GrabFood ก็มีการร้องเรียนเรื่องการจ้างงาน และกระทรวงแรงงานโดยกรมได้มีการเจรจาต่อรองให้กับGrabและ LINE MAN ใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์เข้าไปดูแล

            ในงานที่มีการประกอบการ อย่างประมงก็มีการดูแลอยู่ และการที่เสนอให้มีการดูแลแรงงานหญิงโดยเฉพาะทางกรมก็มีฝ่ายดูแลแรงงานหญิง และเด็ก และยังมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดไว้เป็นหมวดว่าอะไรผู้หญิงทำได้ และทำไม่ได้ และมีการกำหนดให้นายจ้างเปลี่ยนงานผูหญิงที่ตั้งครรภ์ให้มีความปลอดภัย และไม่ให้เลิกจ้างผู้หญิงทำงานขณะที่มีการตั้งครรภ์ และสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้นไม่ต่างกัน นอกจากแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ที่มีการดูแลคุ้มครอง  กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็มีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย

            ยังมีเรื่องแค้มป์คนงานที่มีกระกาศให้นายจ้างจัดการที่พักให้กับลูกจ้าง โดยมีการกำหนดการอำนวยความสะดวก มีการกำหนดขนาดของที่พัก และห้องน้ำ ให้ถูกสุขอนามัยแล้วด้วย

            ผ่องศรี แซ่จึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การได้รับผลกระทบ ผู้หญิงได้รับผลกระทบมานานแล้ว ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากในกรณีการทวงคืนผื่นป่า เมื่อสามีที่เป็นเสาหลักถูกจับผู้หญิงเดือดร้อนมากเมื่อขาดผู้นำครอบครัว และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้หญิงกระทบมากขึ้นยิ่งเมื่อต้องตกงาน และกลับบ้านมาใช้ชีวิตที่บ้านต่างจังหวัด บางครั้งได้พบผู้หญิงที่ป่วยเอง หรือต้องดูแลคนป่วย ดูแลครอบครัว รู้สึกถึงความเดือดร้อนอย่างมาก วันนี้พ.ร.บ.งบประมาณที่มีการอภิปรายผ่านไปแล้ว การจัดสรรงบประมาณก็ไม่ได้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่มีโควิดระบาดเลย และไม่เคยมีการคำนึงถึงงบประมาณที่แก้ปัญหาเด็ก และผู้หญิงเลย เช่นไม่มีเงินอุดหนุนเด็ก ส่งเสริมดูแลผู้หญิงในภาวะยากลำบาก ซึ่งต้องมีการช่วยกันส่งเสียง ภาคอีสานเศรษฐกิจแย่มาก่อนโควิด ตอนนี้โควิดมาก็แย่มากขึ้น และภาพของพ่อไปทางแม่ไปทาง ไปทำงานหาเงินทิ้งเด็กไว้ให้คนแก่ที่บ้านเลี้ยง ภาพเด็กติดเกมซ์ ทุกข์ยากเด็กไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรกัน ช่วงนี้พ่อแม่กลับมาก็ไม่มีที่ทำกินไม่มีน้ำทำนาเงินไม่มีกระทบกันทุกคน โควิดมาก็กระทบมากจริงๆ เด็กปั้มเด็กเซเวนสอบถามรัฐมนตรีแรงงานว่าเมื่อไรจะได้รับวัคซีนมาตรา 33 เมื่อเขาก็อยู่ในระบบประกันสังคมต้องเจอคนจำนวนมากเขาเสี่ยงเช่นกันวันนี้เขายังไม่ได้วัคซีน รัฐบาลตอบว่ายังไม่ได้ต้องให้พื้นที่เสี่ยงก่อนแล้วจังหวัดไหนไม่เสี่ยงบ้าง วัคซีนต้องมาแล้ว

            ชมพูนุท นาครทรรพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การทำงานภาคบริการที่ทำงานกลางคืนของผู้หญิงมีความเสี่ยงและมีการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัญหาทำให้มีการใช้ความรุนแรงกันมากขึ้น เมื่อตอนนี้ทำงานทำมาหากินไม่ได้ คนที่เลิกทำงานก่อนใครแต่ว่าไม่มีการเยียวยา การหย่าร้างก็เพิ่มมากขึ้น และการล่วงละเมิดทางเพศก็เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการพูดคุยกับศบค. และพม. ในเรื่องการเยียวยา กลุ่มคนทำงานกลางคืน การเยียวยาเด็ก และกลุ่มนอกระบบเศรษฐกิจที่ให้ได้รับการเยียวยามากขึ้น และเรื่องวัคซีนได้มีการแจ้งถึงความเสี่ยงให้มีการตรวจคัดกรองให้กลุ่มความเสี่ยงกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนต่อไป ในกลุ่มคนทำงานกลางคืน

            ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ผู้หญิงตกงานจำนวนมาก และการที่จะกลับเข้าทำงานได้น้อยกว่าผู้ชาย และคนที่ทำงานในซุปเปอร์มาเก็ตก็เป็นปัญหาอย่างมาก ซึ่งปัญหาหลักตอนนี้ก็คือเรื่องการเข้าถึงวัคซีนซึ่งเข้าใจว่าฉีดช้ามาก และกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ ก็ยังไม่ได้ได้รับวัคซีนทุกคน และกรณีการเยียวยาก็มีการเสนอมามากขึ้นตอนนี้หลากหลายอาชีพที่เสนอมา และกรณีเด็กเล็กควรได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้าก็ต้องดูในช่วงโควิดที่กระทบนั้นอย่างไร และเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหากันมาก ซึ่งหลายประเทศมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กแล้วแต่ว่า ประเทศไทยยังไม่ได้วัคซีน ปัญหาการตกงานก็ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ และควรมีการเร่งในการที่พัฒนาทักษะฝีมือ หรือทำให้ผุ้หญิงสามารถมีงานทำให้ได้ โควิดก็กระทบกับแรงงานทุกกลุ่มจริงๆซึ่งต้องช่วยกันดูแล และในส่วนของกลุ่มเปราะบางผู้หญิงพิการ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงกลุ่มนี้ถือว่าเปราะบางมากที่ต้องยิ่งช่วยในการดูแลด้วย