เราควรเก็บรัฐวิสาหกิจไว้ใช้ประโยชน์ต่อหรือไม่ (ตอนที่ 1)

2016-02-17 13.32.48

วันนี้ เราจะมาวิเคราะห์การประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อหาข้อสรุปว่า เราควรเก็บรัฐวิสาหกิจไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปหรือไม่? ด้วยการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ SWOT Analysis ได้ ดังนี้

1. จุดแข็ง (Strength) ของรัฐวิสาหกิจ

– รัฐเป็นเจ้าของกิจการ

– รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีกฎหมายจัดตั้งที่กำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งอย่างชัดเจน ให้เป็นผู้ประกอบกิจการ สร้างบริการให้แก่ประชาชนได้ใช้บริการ

– ระดมเงินทุนเพื่อการลงทุนกระทำได้ง่าย มีเครดิต

– ผลิตภัณฑ์ของรัฐวิสาหกิจเป็นที่ต้องการของประชาชน

– เป็นการบริหารทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ

2. จุดอ่อน (Weakness)ของรัฐวิสาหกิจ

– การบริหารรัฐวิสาหกิจขาดความเป็นเจ้าของ (Ownership) บุคลากรในรัฐวิสาหกิจ ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ขาดความรู้สึกในการทำงานที่จะทำเพื่อองค์กร ส่วนใหญ่จะมองผลประโยชน์เพื่อตนเองมากกว่าผลประโยชน์เพื่อองค์กรรัฐวิสาหกิจ

– การบริหารงานถูกแทรกแซงโดยการเมืองและนายทุนได้ง่าย ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ การให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับนายทุน เช่นการซื้อตำแหน่งทางบริหารเพื่อแลกกับการจัดซื้อจัดหาที่เอื้อให้กับนายทุน

– นโยบายของรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อยครั้ง ทำให้นโยบายของรัฐวิสาหกิจขาดความต่อเนื่อง

– รัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลต่างกันไป ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการให้เกิดการ integrate กันได้ เพื่อร่วมกำหนดนโยบายของแต่ละรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และแบ่งปันการใช้ทรัพยากรของประเทศร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

– ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจต้องผ่านการคัดเลือก และจ้างโดยคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ตามสัญญาจ้างงาน จึงถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมืองได้ง่าย เพราะกำหนดให้รัฐ/คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ประเมินฝ่ายเดียว

– การทุจริตคอร์รัปชั่น เกิดขึ้นมากมาย พนักงานและผู้บริหารที่กระทำการทุจริต ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษ

– พนักงานรัฐวิสาหกิจขาด Service Mind ในการให้บริการ พนักงานรัฐวิสาหกิจติดระบบงานราชการที่มุ่งตัวเองเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะมองลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเป็นหลัก

– การบริหารมีลักษณะเป็นแบบข้าราชการ มีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอน ล่าช้า ไม่คล่องตัวเหมือนกับธุรกิจเอกชน

2016-02-17 13.33.40

 

3. โอกาส (Opportunity)ของรัฐวิสาหกิจ

– ภาคประชานเริ่มมีความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของรัฐวิสาหกิจมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของการแปรรูปในกิจการพลังงาน แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในการใช้น้ำมันภายในประเทศ รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม ของสำนักงาน กสทช.

– รัฐบาลเริ่มนำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้ในการบริหารประเทศ เช่นบริการขึ้นรถโดยสารฟรี แม้ว่ายังไม่ได้ครอบคลุมทุกบริการ แต่เป็นขั้นเริ่มต้นที่ทำให้เห็นความสำคัญของรัฐวิสาหกิจในฐานะแขนขาของรัฐในการจัดให้มีบริการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่รัฐจะมองรัฐวิสาหกิจว่า ต้องสร้างกำไรจากการประกอบธุรกิจแต่มิติเดียว

– ผลของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ เริ่มสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี

4. อุปสรรค (Threat)ของรัฐวิสาหกิจ

– นโยบายทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ที่ครอบงำความเชื่อของนักปกครอง ที่เชื่อว่ารัฐไม่ควรแข่งขันกับเอกชน และรัฐควรปล่อยให้เอกชนแข่งขันอย่างเสรีโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ

– แรงกดดันจากสถาบันการเงินของโลก เช่น IMF หรือ World bank ที่มีข้อแม้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แลกกับการขอกู้ยืมเงิน

– ประชาชนมองว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจมีเงินเดือน สวัสดิการดี แต่ไม่สามารถบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีกำไร

– การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 รวมทั้งการทำ FTA กับสหภาพยุโรปในอนาคต ทำให้รัฐต้องเปิดประเทศให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาประกอบธุรกิจเดียวกับที่รัฐวิสาหกิจให้บริการอยู่

– การประกาศใช้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่อ้างการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินในกิจการของรัฐ แต่เป็นการเปิดช่องทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

– นโยบายลดจำนวนพนักงานในรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ครม. มีมติจำกัดอัตราการจ้างบุคลากร อันเป็นผลจาการที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รัฐบาลขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้บุคลากรไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจการประเภทงานบริการ ทำให้คุณภาพการให้บริการแย่ลง

สรุป จากการทำ SWOT Analysis พบว่า ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐวิสาหกิจจะมีจุดแข็งหลายอย่างที่แสดงถึงศักยภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของรัฐวิสาหกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ขาดการแก้ไข ได้กลายอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการบริหารจัดการและปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการของรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับปัจจัยภายนอกเรื่องทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการยับยั้งการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่จะเน้นการสร้างตลาดแข่งขันเสรี โดยลดบทบาทของรัฐในการเข้าไปดำเนินกิจการให้บริการสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ หากต้องการดึงเอาศักยภาพของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็ง สร้างบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมให้ประชาชนได้ใช้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ ผลการวิเคราะห์ SWOT ทำให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนี้

ปัญหา 1 ปัญหาเรื่องแนวคิดการบริหารรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลใช้หลักการทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ส่งผลทำให้รัฐวิสาหกิจไม่ได้รับการพัฒนา หลายแห่งต้องถูกยุบเลิก หรือแปรรูปไปในที่สุด เพราะรัฐเลือกที่จะส่งเสริมการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนรัฐ รัฐไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชน รวมทั้งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจลดขนาดขององค์กร ให้รัฐวิสาหกิจทำพันธะกิจหลักที่ควรทำ หรือรัฐวิสาหกิจจะทำภารกิจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นั่นหมายความว่า รัฐไม่ได้มุ่งหวังการพัฒนาและการเติบโตของรัฐวิสาหกิจเลย โดยเฉพาะการเติบโตทางขนาด (Scale) ที่จะสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งที่เป็นเอกชน

ปัญหา 2 แม้ว่าจะมีสำนักงาน สคร. กำกับดูแลการบริหารรับวิสาหกิจ แต่รัฐวิสาหกิจยังคงมีเจ้ากระทรวงกำกับดูแลต่างกันอีก จึงทำให้ขาดแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจของประเทศแบบบูรณาการ

ปัญหา 3 การบริหารรัฐวิสาหกิจขาดความเป็นเจ้าของ (Ownership) ส่งผลทำให้เกิดการแทรกแซงของนักการเมืองและนายทุนที่มุ่งเข้ามาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนในรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ในโครงการจัดซื้อจัดหา การแต่งตั้งผู้บริหารที่เป็นสมัครพรรคพวกเดียวกัน ฯลฯ ได้โดยง่าย

ปัญหา 4 ประชาชนขาดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ารัฐวิสาหกิจจะสร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชน แต่ประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริงอันนี้ จึงไม่สนใจที่จะช่วยตรวจสอบ ชี้แนะ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใส

ปัญหา 5 รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสามารถนำผลกำไรมาพัฒนาองค์กรให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง แต่รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนหรือประกอบกิจการตามนโยบายของรัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกำไร จะขาดเงินทุนสำหรับการพัฒนารัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง ต้องรองบประมาณประจำปีจากภาครับอย่างเดียว ทำให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจกลุ่มนี้แย่ลง บริการที่ให้แก่ประชาชนไม่มีการพัฒนา

ปัญหา 6 พนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังขาด “Service mind” และมีวัฒนธรรมการทำงานที่สืบทอดมาจากความเป็นหน่วยงานรัฐ จึงไม่สนใจที่จะปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีขึ้น รวมทั้งการให้บริการที่ยึดตัวเองเป็นหลักแทนที่จะคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ

ปัญหา 7 ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมืองได้ง่าย

คำถามต่อไป เราจะแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจได้อย่างไร? เพื่อให้สามารถใช้รัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน

พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการ สรส. ฝ่ายวิชาการ 17 ก.พ. 2559