“เมื่อพรรคการเมือง ลืมนโยบายสุขภาพ ความปลอดภัยของคนงาน ”

บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง
 
ปัจจุบันมีตัวเลขประชากรแรงงานมากถึง 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ จำนวน 24 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ (ประมาณ 64 ล้านคน)ที่เป็นกำลังการพัฒนาประเทศ และเป็นผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้       
 
จากการเก็บข้อมูล และเปรียบเทียบของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้มีการคัดแยกนโยบายพรรคการเมืองทั้ง 40 พรรค ที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับมิติแรงงาน ด้านสุขภาพ  อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พบว่า”มีเพียง 5 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา  และพรรครวมชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่มีนโยบายเชิงภาพรวมด้านคุณภาพชีวิตแรงงานที่เด่นชัดออกมา(ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง) กล่าวคือ 
 
–  พรรคเพื่อไทย มีนโยบายหลักยุทธศาสตร์เพิ่มศักยภาพของแรงงาน โดยการเสริมทักษะ พัฒนาอาชีพสำหรับแรงงาน เร่งรัดกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานสวัสดิการสังคม แก้ไขกฎหมายแรงงานให้เกิดความเป็นธรรม เพิ่มรายได้ผู้จบปริญญาตรี โดยเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ต่อเดือน และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300บาท ต่อวัน รวมถึงทำนโยบาย 30 บาทรักษาได้ทุกโรคต่อเนื่อง ส่วนแรงงานข้ามชาติพรรคมีนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยการใช้ระบบบริหารงานทะเบียน และลดขั้นตอนความยุ่งยากของการขออนุญาตของแรงงานต่างด้าว
 
–  พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายหลัก คือการส่งเสริม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานนั้นเน้นการให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของเอกชนแทนการควบคุม ด้านค่าจ้าง พรรคเสนอว่าเป็นนโยบายเพื่อประชาชน จะให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 (250 บาท) ภายใน 2 ปี มีการประกันรายได้เกษตรกร ร้อยละ25  ส่วนประกันสังคม มีนโยบายขยายประกันสังคมไปสู่เกษตรกร และแรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม 25 ล้านคน เพื่อรับเงินชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิต และมีบำเหน็จชราภาพ ขณะเดียวกันประชาชนจะถือบัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ
 
–  พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายหลัก คือชีวิตดีมีงานทำ กองทุนการจ้างงาน 1,000,000 ตำแหน่ง ด้านแรงงานนอกระบบ มอบสิทธิจัดสรรพื้นที่ทำกิน ให้รถตู้ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย
 
–  พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายหลักคือ มุ่งเน้นให้อาสาสมัครสาธารณสุขเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันโรคที่เกิดขึ้น อีกทั้งพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์ เครื่องมือ อุปกรณ์ ยกสถานะสถานีอนามัย
 
–  พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน มีนโยบายหากได้เป็นรัฐบาลสิ่งแรกที่จะทำคือ การยกเว้นภาษีรายได้แรงงานใน 5 ปีแรก และค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มให้เป็น 350 บาท ต่อวัน อีกทั้งส่งเสริมเรื่องการรักษาพยาบาลให้ประชาชนสามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล และจะปรับลดหนี้เกษตรกร
มีข้อค้นพบว่า จาก 40 พรรคการเมือง แม้ว่ามี 5 พรรคการเมือง ที่กล่าวมาในข้างต้น จะมีเนื้อหาเชิงภาพรวมด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มิได้มีการลงนโยบายเรื่องสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านลึกที่ตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปี ผู้ใช้แรงงานทั้งใน และนอกระบบ ต้องเผชิญปัญหา มีการรณรงค์ ผลักดันให้รัฐบาล และฝ่ายค้าน เร่งออกกฎหมายการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีการ ปฎิรูปกฎหมายประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ รวมถึงการให้สวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ม.40 ประกันสังคม เป็นเนื้อหาหลักในนโยบายการหาเสียงแต่ประการใด ทำให้เห็นได้ว่าพรรคการเมืองกับการมองเรื่องสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของคนงานมิได้อยู่ในสายตาพรรคการเมืองทั้งหมดแต่ประการใด การการประกาศนโยบาย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ฐานเสียงเกษตรกร ประชานิยมกับชนชั้นกลางเป็นหลัก คงเหลือเวลาอีกไม่ถึง30 วัน ที่จะรู้ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน     
 
คำถามหลักมีอยู่ว่าเหตุไฉนการเลือกตั้งครั้งนี้ เรื่องสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของคนงาน ถึงไม่ได้ถูกกำหนด และพูดถึงให้เป็นเรื่องหลักของนโยบายพรรคการเมือง   เสียงของผู้ใช้แรงงานทั้งใน และนอกระบบ จำนวน 38 ล้านคน อาจจะยังคงไม่ใช่เสียงสวรรคกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี โดยประเมินจากสายนักแรงงานที่เข้าไปเป็นนักการเมือง ลงเลือกตั้งในนามพรรคต่างๆ มีสายการจัดตั้งโดยผ่านองค์กรแรงงานในเขตย่านอุตสาหกรรม และเครือญาติในต่างจังหวัดที่กลุ่มตนเองมีอยู่ สามารถเป็นฐานเสียงที่พรรค และนักการเมืองลึกๆมุ่งหวังเช่นกัน  จึงอยากตั้งเป็นมุมมอง ให้นักการเมือง พรรคการเมือง ได้ใช้โอกาสครั้งนี้ในการต่อเติม และพัฒนาความสำคัญด้านนโยบายเชิงลึกเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของคนงานใส่เข้าไปให้ชัด และพูดให้มากกว่านี้  อาจจะเป็นผลดี ในช่วงโค้งสุดที่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน 38 ล้านคน จะได้ตัดสินใจเลือกท่าน และพรรคของท่าน ให้กลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ของการแก้ไขปัญหาใกล้ตัว จับต้องได้ ไม่ขายฝัน  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้น เกือบร้อยละ 70 – 80 มีการศึกษาสูงและมากขึ้น การใช้สื่อออนไลน์ติดตามผลงาน การทำงานของพรรคการเมืองต่างๆมีมากขึ้น จึงหวังว่ามิติสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ของคนงานอย่างพวกเขาจะได้รับการใส่ใจ
 
**************************