เปิดปม! ชะตากรรมแรงงานสิ่งทอ-อิเล็คทรอนิคส์ เลวร้ายสุดๆหลังน้ำท่วม

การเสวนาเรื่อง “เปิดปม..ชะตากรรมและความไม่เป็นธรรมของแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำ”  จัดโดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2555  เผยให้เห็นผลกระทบที่เกิดกับลูกจ้างในอุตสาหกรรมต่าง ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม และเผชิญชะตากรรมที่แตกต่างกันออกไป  โดยลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและอีเล็คทรอนิคส์ ซึ่งส่วนใหญ่กินค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่าเล็กน้อย และมักไม่ค่อยมีการรวมตัวหรือมีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองไม่เข้มแข็งนัก จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มลูกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีโครงสร้างค่าจ้างปรับขึ้นเงินประจำปี  โดยกลุ่มนี้มีสหภาพแรงงานในการสร้างอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง แต่ก็ยังคุ้มครองไม่ถึงลูกจ้างเหมาค่าแรงจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐานธุรกิจอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ยังแข็งแกร่งกว่า จึงไม่ค่อยมีการย้ายฐานการผลิตมากนัก

นารายณ์ บุญสังข์  คนงานบริษัทสุปราณีทอผ้าลูกไม้ ย่านอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร  ทำงานมานานเกือบ30 ปี บอกว่า คนงานส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างวันละ 220 บาท สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 5 บาท บริษัทถูกน้ำท่วมแต่เมื่อน้ำลดก็เปิดทำงานได้ มีล่วงเวลาทุกวัน  แต่บริษัทแจ้งจะปิดและย้ายโรงงานไปลำพูนวันที่ 31 มีนาคมนี้  ซึ่งตนมองว่าเป็นการปิดสหภาพแรงงานและยกเลิกสภาพการจ้างเดิมมากกว่า  เพราะมีการเปิดรับสมัครคนงานของไปอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในรั้วโรงงานเดียวกัน

จำลอง ชะบำรุง ลูกจ้างบริษัท ไอพีเอ็ม นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ผลิตชิ้นส่วนอีเล็คทรอนิคส์ และเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน ทำงานมากว่า 15 ปี  เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกเลิกจ้างพร้อมลูกจ้างทั้งหมดในบริษัทเมื่อต้นเดือนมีนาคม กล่าวถึงลูกจ้างอีเล็คทรอนิคส์ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและกินค่าแรงรายวันเท่าหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเล็กน้อย มักถูกละเมิดสิทธิจากผลกระทบเหตุน้ำท่วม เช่น ไมได้รับค่าจ้าง หรือได้ 75% 50%  หรือแค่ 25% ก็มี  รวมทั้งถูกเลิกจ้างจำนวนมาก อาจเพราะนายจ้างคิดว่าหาแรงงานกลุ่มนี้ง่าย 

อัมพร สนิทนอก คนงานของบริษัทโตชิบา นวนคร  ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ตนเองทำงานมา 18 ปี ช่วงน้ำท่วมได้แต่ค่าจ้างซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเล็กน้อย แต่หลังน้ำท่วมแจ้งว่าให้บริษัท WD เข้าครอบครองกิจการ แต่ไม่ชี้แจงกับคนงาน 4,300 คนให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจ้างงาน ค่าจ้างและสวัสดิการ ที่อาจต้องย้ายไปทำงานที่บางปะอินหรือปราจีนบุรี

สำหรับในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  ธีระวุฒิ เบญมาตย์  ลูกจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัท ไทยอินเตอร์เนชั่นแนลไดเมคกิ้ง จำกัด หรือ TID บางปู   และ ชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย  ลูกจ้างบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ  กล่าวถึง สถานการณ์ของแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและมีระบบโครงสร้างค่าจ้างมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็นต์  ในช่วงน้ำท่วมก็ไม่มีปัญหาเรื่องค่าจ้าง ยกเว้นในส่วนที่ขาดแคลนชิ้นส่วนก็จะมีการลดการผลิตและจ่ายค่าจ้าง 75% บ้าง หลังน้ำลดจึงมีการเร่งฟื้นฟูเร่งการผลิต  อย่างโรงงานฮอนด้านิคมโรจนะที่ถูกน้ำท่วม แต่ก็จ่ายค่าจ้างเต็ม  ขณะนี้อยู่ในช่วงฟื้นฟูก็มีการรับคนงานเพิ่มเป็นพันคนเพื่อจะเร่งการผลิตให้ทันกับยอดจองรถ  ส่วนใหญ่ของแรงงานกลุ่มนี้จะมีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างสูง  แต่ก็ยังมีปัญหาในการขยายการคุ้มครองไปถึงลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีจำนวนมาก และมักได้รับค่าจ้างสวัสดิการที่ต่ำกว่าลูกจ้างประจำมาก

 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน