วิดีโอ:เดินขบวนทวง 300 ทั่วประเทศ ชี้พ.ร.ก.กู้เงินช่วยแรงงานได้ถ้าจริงใจ

        

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555  เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม  ประกอบด้วย  สภาองค์การลูกจ้าง  สหพันธ์แรงงาน  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งมีสมาชิกมาจากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ  เกือบ 1 พันคน  ร่วมเดินรณรงค์เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้   และคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปจนถึงปี พ.ศ.2558   ทั้งขอให้ยกเลิกระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันของจังหวัดต่างๆ  และขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการกำหนดค่าจ้างที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง  ลูกจ้าง และนักวิชาการ  เพื่อให้เกิดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมอันนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว  และสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัย  ทั้งการถูกเลิกจ้าง  การขาดรายได้  หรือถูกละเมิดสิทธิแรงงาน  ก็ขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างเหล่านี้เป็นพิเศษ

   

ทั้งนี้  ก่อนเริ่มการเดินรณรงค์  ได้มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ” โดยนักวิชาการและแกนนำแรงงานต่างๆ

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการแรงงานอิสระกล่าวว่า   ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2516  ก็สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ที่กำหนดให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมต้องเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว  แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนไปจากหลักที่ต้องคุ้มครองแรงงานกลายเป็นเครื่องมือกดค่าจ้างเพื่อแข่งขันในการผลิตสินค้าส่งออก  หลายประเทศใช้นโยบายค่าจ้างสูงทำให้พึ่งพาเศรษฐกิจภายในได้  เห็นว่านโยบาย 300 บาททั่วประเทศเป็นนโยบายเด่นที่สุดมีประโยชน์ต่อประเทศชาติควรต้องรีบทำ

นางสุนี ไชยรส  รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า  ลูกจ้างต่างๆถูกตีราคาความเป็นคนต่างกัน  ทิศทางของรัฐจึงเอาทุนเป็นตัวตั้ง  หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมจึงมีการอุดหนุนในส่วนอุตสาหกรรมมาก  แต่ไม่มีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยลูกจ้างที่โดนผลกระทบหนักกว่าทั้งถูกลดค่าจ้าง ถูกเลิกจ้าง   พ.ร.ก.กู้เงินจะทำให้รัฐบาลมีเงินมากพอที่จะจัดการปัญหาหากมองว่าคนมีศักดิ์ศรีเท่ากันเดือดร้อนเท่ากัน   นอกจากนี้ยังมีนายจ้างที่ฉวยโอกาสซึ่งรัฐบาลต้องมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเพื่อตรวจสอบและช่วยรายที่เดือดร้อนจริงๆ  และมองว่ากฎหมายก็เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค อนาคตจึงควรต้องมีการประมวลกฎหมายแรงงานต่างๆเป็นฉบับเดียวเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น

นายบุญมา ป๋งมา  ตัวแทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  กล่าวว่า  รัฐบาลหาเสียงไว้ว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 1 มกราคม 2555   แต่ส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้นได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554  จึงอยากสนับสนุนลูกจ้างภาคเอกชนให้ไปบอกนายกฯว่าเดือดร้อนจริงๆ   ส่วนที่ฝ่ายนายจ้างจะมีการฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับการขึ้นค่าจ้างนั้น  ถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัวเพราะนายจ้างก็ได้ประโยชน์จากการลดภาษีแล้วแต่คนงานยังไม่ได้รับการเยียวยา   ไม่อยากให้กระทรวงแรงงานกลายเป็นกระทรวงของนายทุน  เพราะพอมีข่าวว่าจะถูกนายทุนฟ้องก็เงียบเสียงทันที 

นางสุจิน รุ่งสว่าง  ตัวแทนแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า  ลูกจบปริญญาตรี  ทำงานเอกชนได้แค่ 7 พันกว่าบาท  ไม่พอค่ารถ ค่ากิน  ในส่วนของผู้รับงานไปทำที่บ้านแม้จะมี พ.ร.บ.ผู้รับงานฯแต่ก็คุ้มครองไม่ได้  คนเย็บผ้าที่บ้านยังได้ไม่เท่าค่าจ้างขั้นต่ำ  ถูกกดค่าแรง  กระทรวงแรงงานก็บอกหานายจ้างไม่ได้ ไม่รู้จะไปบังคับใคร  ส่วนคนค้าขายอิสระก็ได้รับผลกระทบเมื่อคนงานส่วนใหญ่มีค่าต่ำก็ไม่มีแรงซื้อ  เห็นว่าค่าแรงต้แงเป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายนวพล อินทร์สุวรรณ  นักศึกษากฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  ปัญหาอยู่ที่นโยบายภาครัฐ  นักการเมืองหาเสียงแต่ทำให้เกิดนโยบายไม่ได้  ประชาธิไตยของไทยคงจะยังไปไม่ถึงไหนถ้าคนส่วนใหญ่ยังไม่พอกิน   เกิดการซื้อเสียงก็เพราะทำให้มีเงินซื้อข้าวกิน  กลุ่มที่มีเงินก็จะได้อำนาจการปกครอง   ที่ผ่านมาหวังว่าจะได้รัฐบาลที่เข้ามาปัญหาความเหลื่อมล้ำให้คนจน  แต่ก็ต้องกลับมาตั้งคำถาม

นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า  เมื่อตอนหาเสียง  ตัวแทนพรรคเพื่อไทยได้มาลงนามในบันทึกความเข้าใจว่า  ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ  จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 15,000 บาท  แต่เมื่อหาเสียงแล้วกลับทำไม่ได้ก็ควรต้องพิจารณาต้องออกมาขอโทษ  ที่มาทำเนียบวันนี้ก็เพื่อยื่นหนังสือกับนายกฯให้มีการทบทวนประกาศขึ้น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 เมษายนนี้  

สำหรับการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น  ภายหลังการเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้แทนมารับหนังสือและร่วมเจรจา  แกนนำแรงงานได้ชี้แจงต่อที่ชุมนุมว่า  รัฐมนตรีแรงงานฯได้ชี้แจงว่าการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศตามนโยบายหาเสียงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องคุยกับหลายฝ่าย  แต่ยืนยันว่า 1 เมษายนนี้ปรับขึ้น 300 บาทก่อน 7 จังหวัด   และจะปรับ 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัดในในวันที่ 1 มกราคม 2556 แน่นอนเพราะแถลงนโยบายไว้ว่าจะทำภายใน 1 ปี  ส่วนการที่ฝ่ายอุตสาหกรรมจะฟ้องศาลปกครองนั้นก็อยากดูว่านายจ้างคนใดจะฝ่าฝืนกฎหมาย  ซึ่งเป็นเรื่องที่ขบวนการแรงงานจะต้องติดตามผลักดันต่อไป รวมทั้งต้องคัดค้านการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2557-2558 ด้วย