เครือข่ายแรงงานแถลงร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับกรรมาธิการ) หล่อไม่เสร็จ

“ประกันสังคมยังไม่อิสระ ไม่ถ้วนหน้า ”

ในวันนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2554) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  ได้มีการจัดแถลงข่าว จุดยืน ต่อร่างประกันสังคม และก้าวต่อไปของขบวนการแรงงานต่อการปฏิรูปประกันสังคม

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ด้วยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …  ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติและรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 โดยจะมีการนำเข้าพิจารณาในวันที่ 7 เมษายนนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มีความเห็นต่อการพิจารณากฎหมาย จึงได้มีการจัดการแถลงข่าวขึ้นเพื่อทำความเข้าใจต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกันตนถึงผลการเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ดังนี้

ประการแรก ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ รับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยราชการสำนักงานประกันสังคมเป็นหลัก ทำให้ขาดข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการสังคม รวมทั้งความเข้าใจในมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ 3 นี้ จึงขาดวิสัยทัศน์ในการปฏิรูประบบประกันสังคม และการสร้างระบบสวัสดิการสังคม การรับฟังข้อเสนอแนะของสำนักงานประกันสังคมนี้ จึงเป็นเสมือนการยอมรับให้การบริหารงานที่ล้มเหลวในการให้บริการ และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน ดำเนินต่อไป

ประการที่สอง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วและรวบรัด โดยใช้เวลาประชุมทั้งสิ้นเพียง 8 ครั้ง เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านก่อนการยุบสภา เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่ระบุว่า “รัฐบาลจะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย”  อีกทั้งไม่เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมที่นายกรัฐมนตรีเสนอไว้ในเวทีสมัชชาแรงงาน 2554 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554

ประการที่สาม คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีจำนวนทั้งหมด 36 คน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พรรคเพื่อไทย 11 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรคมาตุภูมิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานละ 1 คน โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเพียง 2 คน ได้แก่ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ซึ่งได้พยายามแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอให้ สปส. ควรเป็นองค์กรอิสระที่สามารถกำหนดระเบียบวิธีการ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เอง และผู้ประกันตนมีสิทธิ์กำหนดนโยบายการปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แต่ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มักจะอ้างถึงการมีคณะกรรมการประกันสังคมที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในอนาคต จึงขอให้รับร่างฉบับนี้ไปก่อนแล้วค่อยนำไปแก้ใหม่ จนทำให้เนื้อหาหลักการปฏิรูปประกันสังคมไม่ถูกพิจารณา และการพิจารณาลงมติของคณะกรรมาธิการฯ จึงเป็นการพิจารณาแบบมัดมือชกกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และ 3 อาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างพระราชบัญญัติ หรือการประชุมสภาฯ อาจจะล่มอีกจนไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มีความเห็นโดยสรุปว่า  ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และขยายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน รวมทั้งยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่ได้รับการพิจารณา ได้แก่ ผู้รับงานไปทำที่บ้านยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 หลักประกันในการบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระ แม้ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายฯ จะได้รับการพิจารณา ในประเด็นที่มา

ของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างของคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้ง และการมีคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มขึ้นจากเดิมก็ตาม ดังนั้นแล้วคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายฯ จึงขอตั้งสมญานามพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า “พ.ร.บ.ฉบับหล่อไม่เสร็จ”

นางสาววิไลวรรณ์ แซ่เตีย ได้แถลงถึงผลรับที่ได้เข้าเป็นกรรมาธิการว่าฯ ขอสรุปเหตุการณ์การพิจารณาข้อเสนอของแรงงานหลังจากได้มีการเข้ายื่นข้อเสนอวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมาทำให้ทางคณะกรรมาธิการแรงงานฯได้พิจารณาข้อเสนออย่างเร่งด่วน ทำให้ตั้งตัวไม่ทัน และผ่านร่างไปอย่างรวดเร็วจึงขอชี้แจงต่อผู้ประกันตนและผู้ใช้แรงงานดังนี้

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคมคือการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา นำจุดยืนและข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคมของผู้ใช้แรงงาน เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้

1.  ประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้ประกันตนต้องมีสิทธิในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง สังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

2.  ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ กล่าวคือ กิจการของสำนักงานประกันสังคมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ทั้งนี้คณะกรรมการประกันสังคมควรสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการการลงทุน การตรวจสอบบัญชีมีผู้ตรวจสอบภายใน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการเข้าชื่อร้องเรียน มาจากผู้ประกันตน

3.  หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในลักษณะหนึ่งคนหนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการและเลขาธิการที่มาจากการสรรหา  กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

4.  บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ  ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการหรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนทำงาน

5.  ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต เมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันให้กับตนเอง
 

ทั้งนี้ ทางนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ผลของกฎหมายประกันสังคมที่มีการผ่านกรรมาธิการฯแล้วยังไม่ตอบสนองความต้องการทั้งหมด เพราะการส่งเงินสมทบทางแรงงานนอกระบบเสนอให้รัฐสมทบคนละครึ่งหนึ่งร่วมกับแรงงานนอกระบบ ก็ได้มาเพียงไม่เกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น และกรณีผู้รับงงานไปทำที่บ้านทั้งที่ทำงานชิ้นเดียวกับแรงงานในโรงงานแต่กลับไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับคนในโรงงานอันนี้ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงาน

กรณีที่ยังติดใจมากคือเรื่องการจัดประกวดเทพธิดาแรงงาน หากเป็นไปได้ให้ยกเลิก แล้วนำเงินนั้นมาจัดการศึกษาให้กับแรงงานนอกระบบให้รู้วิธีการเข้าถึงการเป็นผู้ประกันตนจะมีประโยชน์กว่า

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายผู้ปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมนี้เหมือนกับหล่อไม่เสร็จ เพราะไม่มีการครอบคลุม ไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริงได้มาเพียงนิดเดียวในส่วนของข้อเสนอ ส่วนของแรงงานนอกระบบขณะนี้มีเพียง 8 หมื่นคนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่หากมีการพิสูจน์สัญชาติทั้งหมดยังไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ ทั้งการขยายสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากแต่การเตรียมการไม่ดีพอคงเป็นปัญหาแน่ ในส่วนการขับเคลื่อนต่อไปทางเครือข่ายแรงงานจะมีการจัดเวทีให้การศึกษาทั้งระดับพื้นที่ และมีการจัดเวทีสมัชชาแรงงาน เพื่อเสนอเป็นนโยบายต่อพรรคการเมือง ต่อไป

นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปประกันสังคมคงต้องวมีการทำงานต่อในส่วนของขบวนการแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนา ส่วนของลายมือชื่อที่มีการล่า 14,000กว่ารายชื่อกำลังมีการตรวจสอบอยู่นั้นคงทันเข้าสู่การพิจารณาในรัฐบาลชุดต่อไป

ในส่วนวัีนที่ 7 เมษายนที่จะมีการพิจารณา ส่วนของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 4 ในการเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวระเร่งด่วนอยู่หลายวาระ อาจเข้าสภาไม่ทันก็ได้

นักสื่อสารแรงงานโครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน

////////////////////////////////////////////