เครือข่ายแรงงานยื่นรมว.ใหม่ทบทวนแผนแม่บทความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มภาคตะวันออก กลุ่มผู้ใช้แรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์ พิจารณา กรณีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกลไกการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554/ การขอให้ทบทวน ร่างแผนแม่บทความปลอดภัย (ฉบับที่ 3) / โครงการ Zero Accident และกรณีความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน 

นาง  สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลที่แล้วมีการพิจารณายกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. มีการจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายดังกล่าวมีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเพราะในส่วนภาคแรงงานและภาคประชาชนน้อยกว่าฝ่ายราชการ และอยากให้ประธานการยกร่างกฏหมายดังกล่าวมาจากภาคการเมืองและจัดทำประชาวิจารณ์หรือจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิเห็นของทุกภาคส่วน ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลชุดใหม่ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ที่มีความห่วงใยปัญหาทุกข์สุขของประชาชน ดังนั้นเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ซึ่งมีความเดือดร้อน และมีความห่วงใยต่อข้อขัดแย้งกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสรุปซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1) ปัญหาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 
2) การสร้างการมีส่วนร่วมในกลไกการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554  การขอให้ทบทวนการจัดทำร่างแผนแม่บทความปลอดภัย (ฉบับที่ 3) และการดำเนินตามนโยบายโครงการ Zero Accident ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน
3) กรณีความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และรวมถึงกรณีอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
ด้วยเหตุดังกล่าวสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ คณะทำงานเสริมสร้างความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับแรงงาน จึงมีข้อเสนอต่อ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  (ท่านเผดิมชัย  สะสมทรัพย์) ดังนี้
 
1)  ขอให้ท่านชะลอหรือพิจารณาหยุดกระบวนการพิจารณาการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ออกไปก่อน เพื่อกระทำการให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554ตามบทบัญญัติมาตรา 52กำหนดให้กระทรวงแรงงานจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทั้งนี้ ภายในหนึ่งปี นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  คืออยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2554   ถึง 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
 
2)  ขอให้ท่านพิจารณาทบทวนเปลี่ยนโครงสร้างคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ใหม่ (ควรให้คณะกรรมการยกร่างดังกล่าวมีอำนาจในการพิจารณายกร่างกฎหมายอย่างรอบด้านเพียง คณะเดียว เพื่อให้เกิดการทำงานที่ไม่ซ้ำซ้อน และเป็นข้อยุติ) รวมทั้งพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการยกร่างกฎหมายดังกล่าว ในสัดส่วนที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะเครือข่างแรงงานและภาคประชาชน ให้มีสัดส่วนเท่ากันกับฝ่ายราชการ และขอให้ประธานการยกร่างกฎหมายดังกล่าวมาจากภาคการเมือง  และจัดทำประชาพิจารณ์ หรือจัดเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่มีความรอบด้านเสียก่อน ก่อนออกกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
 
3) ขอให้ท่าน พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานกลไกการมีส่วนร่วมในการติดตามการบังคับใช้   กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554
4) ขอให้ท่านพิจารณาทบทวนร่างแผนแม่บทความปลอดภัย (ฉบับที่ 3) และการดำเนินตามโครงการ Zero Accident ที่คำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และรวมถึงการมีส่วนร่วมของเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย ในการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัย (ฉบับที่ 3)                  
และการดำเนินการตามโครงการ Zero Accident รวมทั้งขอให้ท่านจัดทำประชาพิจารณ์ หรือจัดเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความรอบด้าน
 
5) ขอให้ท่านพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการในการแก้ไขปัญหา และการติดตาม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง และปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (เป็นการเฉพาะ) ร่วมกับเครือข่ายแรงงานที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน และผู้ที่มีส่วนได้เสียหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                                                                                           จำลอง ชะบำรุง  สือสารแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา