เครือข่ายแรงงานบุกทวงจุดยืน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัย

วันพรุ่งนี้(28 เมษายน 54) เครือข่ายแรงงานนำโดย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และเครือข่ายผู้นำแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และ  ภาคประชาชน ได้นัดเพื่อยื่นหนังสือต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเรื่องการจัดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามเจตนารมณ์ ภายหลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งคนงานวัยหนุ่มสาวต้องเสียชีวิตจำนวน ถึง 188 ศพ บาดเจ็บกว่า 469 ราย และเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญของผู้ใช้แรงงาน ประชาชนคนไทย และชาวต่างประเทศ   ถือเป็นความทรงจำที่โหดร้ายของแรงงานไทยที่ต้องสูญเสียชีวิต เนื่องจากความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศ  จึงเป็นที่มาของการผลักดันร่วมเรียกร้องต่อรัฐบาลสมัยนั้นนานกว่า 3 ปี เป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรี มีมติ 26 สิงหาคม 2550 ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายสังคม ดังนี้

1) เห็นควรให้ความเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเสนอ

2) เห็นควรให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 ที่กำหนดให้วันที่ 1-5 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ไปกำหนดสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติขึ้นใหม่

เพื่อให้สอดคล้องกับวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และหลังกระทรวงแรงงานก็ได้มีการจัดสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ขึ้น ในปี 2551 กระทรวงแรงงานก็ได้เปลี่ยนวันจัดงานมาเป็นช่วงวันที่ 10 พฤษภาคม ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร แต่ภายหลังจากนั้น กระทรวงแรงงานได้กลับไปจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีเหมือนเช่นเคย ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญ

การขอเข้าพบครั้งนี้เพื่อการทวงถามกระทรวงแรงงาน และแสดงจุดยืน 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของคนงานเคเดอร์ 188 ศพ จะไม่สูญเปล่า โดยจุดยืนของเครือข่ายแรงงาน มีดังนี้

1) กระทรวงแรงงานต้องให้ความสำคัญกับวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 สิงหาคม 2550

2) การผลักดันการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อเป็นองค์กรในการทำงานด้านการส่งเสริมป้องกัน แก้ไขปัญหา ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ที่ขบวนการแรงงานเรียกร้องมากว่า 17 ปี

ในวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2554  เวลา 10.00 น. ณ ห้องนักข่าว ชั้น 1 ตึกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทางเครือข่ายแรงงานได้ขอนัดแถลงข่าวเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนและประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการผลักดันให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญของวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน