เครือข่ายแรงงานจัดแถลงรวมพลรณรงค์ “วันงานที่มีคุณค่า” พร้อมนัดนายกรับหนังสือ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ได้มีมติร่วมจัดแถลงข่าว“เรื่องงานวันงานที่มีคุณค่า และ ค่าจ้างขั้นต่ำ” ในวันพุธที่ 3 ตุลาคม 2555 ระหว่างเวลา 10.30-11.00 น. ณ.ห้องประชุม ศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนน นิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า  เมื่อวันอังคารที่  25 กันยายน 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ได้มีการประชุมเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันงานที่มีคุณค่า “ หรือDecent Work  ซึ่งจะจัดในวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555  โดยกำหนดนัดสมาชิกผู้ใช้แรงงาน แนวร่วม และพันธมิตร แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ รวมตัวกัน เวลา  10.00-12.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเดินรณรงค์ ไปที่หน้าอาคารสหประชาชาติ( UN) เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี  จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย

    

1. การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98

2. การยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาช่วง ระยะสั้น

3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม และการปฏิรูประบบประกันสังคม

4. ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสภาพ การถ่ายโอน

5. การสนับสนุนการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

6. สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

 โดยจะมีรายละเอียดข้อเสนอต่าง และการติดตามถึงความคืบหน้าในการที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันยังมีการจ้างงานที่เลือกปฏิบัติ และหลากหลาย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ และ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายต่างๆตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะ “ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ” ซึ่งปัจจุบันค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าน้ำมัน ค่ารถโดยสารสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความเคลื่อนไหวสภาอุตสาหกรรมได้ออกมาคัดค้านการปรับค่าจ้างในปี 2556 สร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างมาก ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เข้าพบทางรองเลขานายกรัฐมนตรี เพื่อขอนัดพบและยื่นหนังสือให้แก่นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันDecent Workดังกล่าว และเครือข่ายแรงงานขอยีนยันเห็นชอบตามการปรับค่าจ้างของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีมติในการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท อีก 70 จังหวัดที่เหลือครั้งนี้ด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน