เครือข่ายเด็กเท่ากัน ยื่นส.ส.พรรคการเมืองเสนอ นายกรัฐมนตรี เร่งจัดงบประมาณ65 ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

วันนี้(19ส.ค.64) ที่สภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานและเครือข่ายสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ได้ยื่นหนังสือต่อผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโดยมีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ออกมารับหนังสือดังนี้ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท  พร้อมทั้งไดเแถลงถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ขอให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ตามมติ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) และมีมาตรการด้านป้องกันและเยียวยาเด็กเล็กอายุ 0– 6 ปี จากสถานการณ์โควิด-19”

 นางสุนี ไชยรส ในนามคณะทำงานและเครือข่ายผู้หญิงและเด็กราว 400 องค์กร  โดยกล่าวว่า ได้มีผู้แทนส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมยื่นหนังสือวันนี้ จากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 2558 และขยายความคุ้มครองแก่เด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันขยายความคุ้มครองเด็กแรกเกิด 0–6 ปี ในวงเงิน 600 บาท/คน/เดือน ในกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี  ในปี 2564 ได้สนับสนุนเด็กเล็กไปประมาณ 2 ล้านคน คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ เครือข่ายแรงงานทั้งใน/นอกระบบ และนักวิชาการซึ่งปัจจุบันมีองค์กรสนับสนุน 336 องค์กรทั่วประเทศ มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพัฒนาสังคมฯอย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีอย่างยิ่งที่มติการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.)ได้สรุปถึง 2 ครั้ง[1] เห็นชอบนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า แก่เด็กเล็กอายุ 0-6ปี เดือนละ 600 บาท/คน/ปี  โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2565  แต่รัฐบาลกลับเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ไว้เพียง 16,000 ล้านบาท โดยไม่ได้เสนองบประมาณแก่เด็กเล็ก 4.2 ล้านคนทั่วประเทศตามมติ กดยช. ซึ่งเพิ่มงบประมาณปี 65 อีกเพียงประมาณ 15,000 ล้านบาทเท่านั้นก็จะสามารถอุดหนุนเด็กเล็กเพิ่มอีกถึง 2.2 ล้านคนแบบถ้วนหน้า

ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมาก มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดคนจนใหม่และภาวะคนว่างงานเพิ่มอย่างรวดเร็ว ครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ 0-6  ปีได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ีไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดมากกว่า 81%  และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 50%  เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เด็กเล็กเข้าไม่ถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิดส่งผลต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร ทุโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการทางร่างกาย และสมอง เสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงและ มีจำนวนเด็กเล็กที่ได้รับเชื้อโควิด 19 และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ครอบครัวก็ได้รับเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก  สถานการณ์ยากลำบากนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรัดนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6ปีแบบถ้วนหน้า ซึ่งผ่านมติ กดยช.แล้วให้จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาทต่อคนต่อเดือนดำเนินการในปีงบประมาณ 2565

[1] มติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) (ครั้งที่ 1) มติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563: เห็นชอบในหลักการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ0-6  ปีเดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ครั้งที่ 2) มติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563: เห็นชอบต่อแนวทางจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาท  โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565

ทางเครือข่ายฯ ได้มีการรณรงค์และผลักดันนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดเวทีทุกภาคประเมินสถานการณ์เด็กเล็กซึ่งยังมีการตกหล่นจากการเข้าถึงเงินอุดหนุนเด็กเล็กมาโดยตลอดประมาณร้อยละ 30  ซึ่งหนทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ   ต้องยกเลิกนโยบายคัดกรองแบบเจาะจงสงเคราะห์คนจน   แต่ต้องให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเรียนฟรี 12 ปีซึ่งเป็นระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ในแต่ละภูมิภาคได้จัดทำแถลงการณ์เรียกร้องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าภายในปีงบประมาณ 2565 ถึงนายกรัฐมนตรี ให้เห็นความสำคัญของการให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเป็นพื้นฐานด้านการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งมีผลการศึกษาของ ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 2542  ยืนยันว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแก่สังคมในระยะยาวและให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า

คณะทำงานฯ ในนามเครือข่ายเด็กเท่ากัน ขอเรียกร้องนโยบายและมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลดังต่อไปนี้

ด้านนโยบาย

1.  ขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ผ่านมติและจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565  ตามนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) ที่เห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 600 บาท ต่อคนต่อเดือนแบบถ้วนหน้า

มาตรการเชิงป้องกันและช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

2.  มาตรการเชิงรุก: ครอบครัว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและบุคลากรที่ต้องดูแลเด็กเล็ก ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งมีมาตรการกระจายอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเด็กเพื่อคุ้มครองเด็กเล็ก มาตรการส่งเสริมดูแลสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด -19 น้อยที่สุด 

3.  มาตรการลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก การดูแลด้านอาหารและส่งเสริมโภชนาการแก่เด็กเล็กให้เข้าถึงบริการได้อย่างเต็มที่  รวมทั้งเสริมสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กระหว่างรอศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เปิดบริการ

คณะทำงานฯ หวังอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเร่งรีบดำเนินการในปีงบประมาณ ​2565