เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ เสนอ 8 ข้อแก้วิกฤติโควิด-19 ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ยื่น 8 ข้อเสนอ แก้ปัญหาโควิดผกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ หว่งกระทบหนักเบื้องต้นราว 5 แสนคน ภายในเดือนเมษายน 63

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ  ซึ่งเป็นเครือข่ายองคก์รพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ได้ส่งจดหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาผลกระทบในการจ้างแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้รับการร้องเรียนและเข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่แรงงานข้ามชาติ โดยสรุปดังนี้ สถานการณ์ปัญหาการระบาดของโรคดังกล่าว ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมาตรการการควบคุมพื้นที่เสี่ยงโดยการปิดสถานประกอบการจำนวนหนึ่ง การระงับกิจกรรมที่ทำให้การรวมผู้คนจำนวนมากของรัฐบาล รวมไปถึงการปิดด่านชายแดนทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก

จากการประเมินในเบื้องต้นในช่วงต้นเดือนเมษายน2563 น่าจะมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 500,000 คนที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง  ทั้งในแง่การถูกเลิกจ้างเพราะสถานประกอบการไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อได้ สถานประกอบการที่รัฐสั่งปิดตามมาตรการป้องกันโรค  ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งตัดสินใจเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือเดินทางไปหานายจ้างใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แรงงานข้ามชาติอีกส่วนหนึ่งที่ตกงาน และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ก็มีความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงการดูแลทางด้านสุขภาพอันเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนเพิ่มมากขึ้นเช่นกันและหากสถานการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้คาดว่าตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับผลกระทบอาจจะเพิ่มถึงหนึ่งล้านคนได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563

ดังนั้น เครือข่ายองคก์รด้านประชากรข้ามชาติ  ซึ่งเป็นเครือข่ายองคก์รพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับการร้องเรียนและเข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่แรงงานข้ามชาติ จึงมีข้อห่วงใย และข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานดังนี้

  1. ขอให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมพิจารณาให้กิจการที่ต้องปิดตัวเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ถูกสั่งปิดโดยรัฐ แต่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดกิจการต่าง ๆ หรือไม่ สามารถดำเนินกิจการได้เป็นการปิดกิจการโดยเหตุสุดวิสัย เพื่อให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการได้รับการช่วยเหลือ และยังรักษาสภาพการจ้างได้โดยไม่มีการเลิกจ้างแรงงาน ตลอดจนมีมาตรการให้ความช่วยเหลือสำหรับแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนและจ่ายสมทบประกันสังคมมาไม่ถึง 6 เดือนใน 15 เดือน และกล่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการที่ยกเว้นประกันสังคมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากกลุ่มแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือส่วนอื่นของรัฐไดั กรณีที่นายจ้างไม่นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนถือว่านายจ้างมิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ดังนั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงประโยชน์ทดแทน สำนักงานประกันสังคมควรพิจารณาดำเนินคดีนายจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม และให้ลูกจ้างมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันแรกที่มีการจ้างงานเกิดขึ้น
  2. ขอให้กระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางาน พิจารณายืดหยุ่นการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาติตามเงื่อนไขของมาตรา 51, 52 และ 53 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อรองรับปัญหาการเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งในกรณีเลิกจ้างโดยให้ยืดหยุ่นในเรื่องการพิจารณาเงื่อนไขการเลิกจ้าง และระยะเวลาในการเปลี่ยนนายจ้างให้มีความยืดหยุ่น ในกรณีนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการในช่วงนี้ต่อได้และมีความจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่ยังมีความประสงค์จะจ้างแรงงานข้ามชาติต่อ ควรจะเปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานกับนายจ้างรายอื่นไปก่อนระหว่างนายจ้างเดิมปิดกิจการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ และลดการใช้กองทุนประกันสังคมในการช่วยเหลือการว่างงาน
  3. ขอให้กระทรวงแรงงานและกรมการจ้ดหางาน พิจารณามาตรการรองร้บการตัดสินใจเลิกจ้างของนายจ้างในลักษณะของการไม่ดำเนินการต่อสัญญาจ้างเพื่อลดผลกระทบของสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมทั้งการที่แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางไดัโดยให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาการเลิกจ้าง รวมถึงกรณีการไม่สามารถดำเนินการแจ้งเข้าได้ทันตามเงื่อนไขการแจ้งเขา รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่ตัดสินใจไปใช้กลไกการนำเข้า MoU จากประเทศต้นทาง แต่ด่านชายแดนปิดก่อนกระบวนการจะสิ้นสุดโดยที่แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศต้นทาง ให้สามารถไปทำงานกับนายจ้างใหม่โดยใช้เอกสารเดิมไปก่อนจนกว่ากระบวนการดำเนินการนำเข้า MoU จากประเทศต้นทางจะสามารถดำเนินการได้ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับมาตรการการจ้างแรงงานข้ามชาติในช่วงฟื้นฟูการจ้างงานในช่วงหลังจากนี้ต่อไป
  4. ขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาปรับเงื่อนไขในการใช้งบกองทุนเพื่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทั้งในส่วนของการดำเนินการของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวและการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การรองรับช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือการปิดกิจการ ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ อันเกิดจากสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมทั้งพิจารณาจัดสรรงบประมาณที่เกิดจากรายรับอื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากในส่วนเงินประกันของบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง
  5. ขอให้กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงระบบการรับคำร้องผ่านระบบออนไลน์ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ทั้งนี้ขอให้พิจารณารูปแบบการทำงานเชิงเครือข่ายความร่วมกับภาคประชาสังคมในการยื่นคำร้องในกรณีการถูกละเมิดสิทธิแรงงานให้แก่แรงงานข้ามชาติได้ โดยผ่านระบบออนไลน์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยวิธีการลงทะเบียนและกำหนด username ของภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินการแทนแรงงานข้ามชาติและทำงานประสานกับสำนักงานสวสัดิการและคมุ้ครองแรงงานในพื้นที่ต่อไป
  6. ขอให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงระบบการยื่นคำร้องในกรณีการว่างงานผ่านระบบออนไลน์ที่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาในเรื่องการทำงานเชิงเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการยื่นผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อลดภาระของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง รวมทั้งลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากแรงงานข้ามชาติต้องมารับยื่นที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเอง
  7. ขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณามาตรกรการขอให้ผู้ประกันตนที่มีความจำเป็นสามารถแสดงความจำนงในการขอยื่นเบิกเงินประกันชราภาพในส่วนเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น
  8. ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการจัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะทำงานความร่วมมือในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และจัดทำแผนรองรับการฟื้นฟูการจ้างงานหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างรอบด้าน