เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ เสนอนโยบายแก้ปัญหาค้ามนุษย์

5 องค์กรเครือข่ายต้านการค้ามุษย์ เสนอนโยบาบเพื่อความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อรัฐบาลไทย

วันที่ 6 มิถุนายน 2560 เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ 5 องค์กร ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อความก้าวหน้าต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเนื้อหาข้อเสนอดังนี้
ด้วย เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ANTI-HUMAN TRAFFICKING NETWORK (ATN) ประกอบด้วย มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มูลนิธิเพื่อนหญิง (FOW) มูลนิธิกระจกเงา   มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งทั้ง 5 องค์กร เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย  

เครือข่ายฯ มีบทบาทสำคัญเชิงรุกในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นกลไกกลางเชื่อมประสานการดำเนินงานทั้งในเชิงป้องกันปัญหา การติดตามช่วยเหลือด้านคดีความ การประสานงานกับองค์กรเอกชนต่างประเทศเพื่อให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดกิจกรรมในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ของทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลได้ประกาศให้ทุกวันที่ 5  มิถุนายน  เป็นวันต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งชาติ เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจปัญหาและทราบถึงสถานการณ์ของการค้ามนุษย์มากขึ้น รวมถึงการรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศต้นทาง โดยในปีนี้เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ เล็งเห็นว่ารัฐบาลได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี  เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์  จึงได้จัดประชุมขึ้นเพื่อประเมินความก้าวหน้าของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในหลากหลายรูปแบบซึ่งประกอบไปด้วย การใช้แรงงานทาส  การใช้แรงงานเด็ก  แรงงานประมง บังคับขอทาน การแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กสตรี การเคลื่อนย้ายอย่างไม่ปกติกรณีโรฮิงญา จากการประชุมเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์  จึงได้มีข้อเสนอมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยยกระดับการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ดังนี้  

ข้อเสนอ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในภาพรวม

1. รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณ กองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในระดับจังหวัด  เพื่อให้สหวิชาชีพสามารถเบิกจ่ายงบได้อย่างรวดเร็วและช่วยผู้เสียหายได้ทันต่อสถานการณ์ 

2. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยต้องทำงานเชิงรุกจัดอบรมให้ความรู้กับ องค์การบริหารส่วนตำบล  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ทุกฉบับ เพื่อการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ สนับสนุนการทำงานของทีมสหวิชาชีพจังหวัด

3. รัฐบาลต้องยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้เสียหายขณะอยู่ในสถานคุ้มครองของภาครัฐ โดยให้ภาคธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาร่วมทำงาน  เพื่อยกระดับกิจกรรมส่งเสริมด้านอาชีพ ที่หลากหลาย เป็นไปตามความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เสียหาย ที่ส่วนมากมาจากครอบครัวยากจนและต้องการรายได้

4. รัฐบาลต้องจัดทำเวทีประชุมเพื่อทำแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน  และภาคประชาสังคม ภายใต้กรอบประชารัฐร่วมใจ รณรงค์ต้านภัยค้ามนุษย์  วันที่  6  มิถุนายน  2559

5. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติในสัดส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชน ต้องมีวาระหมุนเปลี่ยนหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ  

6. รัฐควรเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามการดำเนินคดี   รวมถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย

7. เงินจากการยึดทรัพย์ของผู้ต้องหา หรือจำเลย  ควรนำมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย 

ข้อเสนอ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์  กรณีการแสวงหาผลประโยชน์กับผู้หญิงและเด็ก

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดให้มีพนักงานสอบสวนตำรวจหญิง ในทุกสถานีตำรวจภูธรจังหวัด เนื่องจากพบข้อเท็จจริงว่ามีแต่ตำแหน่ง แต่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำอยู่จริง จึงเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองผู้เสียหาย เด็ก สตรี จากความผิดฐานค้ามนุษย์

2. ขอให้รัฐบาลทำฐานข้อมูล เด็กและผู้หญิง ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก และอาจถูกผลักเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก

3. ขอให้รัฐบาลยกเลิกงบประมาณการรับรองผู้ใหญ่ ระบบเลี้ยงดูปูเสื่อ  เพื่อต้อนรับโดยใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การการจัดหาผู้หญิงและเด็กมารับรอง

4. รัฐบาลต้องมีการดำเนินการเอาผิดกับผู้ซื้อบริการอย่างเด็ดขาด

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์   กรณีใช้แรงงานทาส  การใช้แรงงานเด็ก   แรงงานประมง  

1. ขอให้มีการตรวจสอบสภาพการจ้างงาน ที่เป็นธรรมและปลอดภัยให้กับแรงงานประมง ทุกเชื้อชาติ ในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ เนื่องจากการทำงานพบว่า แรงงานยังมีสภาพการจ้างงานไม่เป็นธรรม  (ตามเอกสารแนบรายงานการช่วยเหลือ)

2. ยกระดับการลงพื้นที่การตรวจสอบเรือประมง โดยมีเผยแพร่เอกสารการตรวจสอบต่อสาธารณชน

3. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานประมง  เพื่อให้ผู้แทนเข้าไปตรวจสอบได้

ข้อเสนอ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ กรณีโรฮิงญา

1. สนับสนุนให้ชาวโรฮิงญา มีทางเลือกในการเดินทางไปยังประเทศอื่น ด้วยความสมัครใจ  และปลอดภัย  

2. รัฐบาลไทยต้องช่วยยกระดับ การแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาในระดับอาเซียนเพื่อให้ประเทศสมาชิกหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ และสถานะชาวโรฮิงญา 

ในฐานะที่เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบ MOU ประชารัฐร่วมใจ รณรงค์ต้านภัยค้ามนุษย์ของรัฐบาล ที่ลงนามเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 จึงขอนำเรียนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อความก้าวหน้าต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ