เกษตรกรฯ ยื่นนายก เร่งแก้ปัญหาพันธสัญญาไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่  15  มกราคม  2554  เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม ได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.)  ได้ชุมนุมเรียกร้องให้  นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  สาขาภาคเหนือ   โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1.   เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนแก่เกษตรกรเกษตรพันธะสัญญา

1.1 จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเกษตรระบบพันธสัญญา โดยมีองค์ประกอบของตัวแทนเกษตรกรผู้เสียหายเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรพันธสัญญา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1.1.1     ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินคดีทางกฎหมายกับเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา

1.1.2     ให้บริษัทดำเนินการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากระบบเกษตรพันธะสัญญา

2.    เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรเกษตรพันธสัญญา โดยรัฐบาลจะดำเนินการสร้าง “กลไกกลางทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิเกษตรกรเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม” กลไกดังกล่าวที่มีองค์ประกอบและสัดส่วนของตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา 40 % ตัวแทนผู้ประกอบการ 20 % ตัวแทนภาครัฐ 20 % ตัวแทนนักวิชาการ 10 % และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตร 10 % กลไกดังกล่าวทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

       1)    ส่งเสริมการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน

2)    เตรียมความพร้อมเกษตรกรให้มีความเท่าทันโดยการสนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ด้านต่างๆ ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธะสัญญา

3)  กำหนดนโยบาย กฎหมาย สัญญาที่เป็นมาตรฐานกลางที่เป็นธรรม

4) กำกับ ดูแล และบังคับใช้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ในการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักประกันทางด้านรายได้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการถูกใช้ทรัพยากรของเกษตรกรและรวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งด้านวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และพลังงาน

5) รับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการฟ้องแทน ไกล่เกลี่ย และเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย

1) เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญาในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะที่กลุ่มทุนสร้างช่องว่างทางสัญญา เพื่อความได้เปรียบในการลงทุน เนื่องจากเกษตรกรต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระต่างๆ ได้แก่ ภาระจากการถูกใช้ทรัพยากร เช่น ที่ดิน โรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นต้น ภาระทางสังคม เช่น ปัญหาการถูกต่อต้านจากชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งรายได้ที่ได้จากข้อสัญญาจะอยู่ในรูปแบบ 2 รูปแบบ คือ

1.    ราคาประกันในการรับซื้อ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาตลาดที่กลุ่มทุนคาดการณ์ ซึ่งถ้าเกิดกรณีราคาประกันสูงกว่าราคาตลาด กลุ่มทุนจะยกเลิกการรับซื้อ เพราะเป็นข้อตกลงทางวาจาเท่านั่น

2.    ค่าจ้างที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการของเกษตรกรและต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทางกลุ่มทุนกำหนด

ทั้ง 2 รูปแบบ เกษตรกรต้องเสาะหาหรือนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาเพื่อผลิตผลผลิตให้กับกลุ่มทุน โดยไม่มีการตอบแทนหรือชดเชยการถูกใช้ทรัพยากรนั้นๆเลย ซึ่งการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มทุน ไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวในข้อสัญญาใดๆเลย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นึกถึงและไม่รู้ถึงวิธีการทำสัญญา ทำให้เสียเปรียบและประสบปัญหาหนี้สินกับกลุ่มทุนและสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อมาลงทุน  จึงต้องมีหน่วยงานกลางซึ่งควรเป็นภาครัฐทำหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลการทำสัญญาให้เป็นธรรม

เนื่องจากรูปแบบสัญญาแบบเดิม เกษตรกรเสียเปรียบและแบกรับภาระต้นทุนการผลิตครึ่งหนึ่งแทนกลุ่มทุน จึงควรเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาสัญญาให้เป็นไปในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนกับเกษตรกร โดยให้ประเมินราคาทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรมีเป็นทุนของเกษตรกร วัตถุดิบต่างๆ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เทคโนโลยี การบริหาร การตลาด ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่เป็นของกลุ่มทุนให้ประเมินราคาเป็นทุน และให้แบ่งส่วนรายได้ตามสัดส่วนของทุนแต่ละฝ่ายอย่างเป็นธรรม

2) ตามข้อเสนอปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ข้อที่ 3) ว่าด้วยเรื่อง การเข้าถึงและการคุ้มครองสิทธิและโอกาสของเกษตรกร ข้อย่อย ข้อที่ 3.2 เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ซึ่งกล่าวว่าโดยพฤตินัยยังมีเกษตรพันธะสัญญาจำนวนมากที่ทำกันแบบปากเปล่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เป็นช่องทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรที่ไร้ธรรมาภิบาลฉวยโอกาสขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้โดยง่าย จึงมีข้อเสนอให้รัฐ

3.2.1 เตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธสัญญาให้มีความพร้อม ด้วยการจัดระบบการให้ความรู้ความเข้าใจในพันธสัญญาด้วยวิธีการต่างๆ เช่นฝึกอบรม ทำคู่มือให้ศึกษา มีโทรศัพท์สายด่วนให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างพอเพียงก่อนที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญา

3.2.2 ปรับปรุงแก้ไขพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม ด้วยหลักปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้

–           “ความเป็นหุ้นส่วน” โดยบริษัทผู้ประกอบการและเกษตรกรร่วมกันทำข้อตกลง ร่วมกันรับความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกัน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม”

–           “ความโปร่งใส” โดยให้มีตัวแทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรท้องถิ่น หรือองค์กรที่เกษตรกรเห็นสมควร ร่วมเป็นพยานรับรู้ในการทำพันธสัญญา และเกษตรกรถือสัญญาคู่ฉบับไว้ด้วย

3.2.3 พัฒนาระบบการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามพันธสัญญา

–           ให้มีการจดทะเบียนบริษัทผู้ประกอบการเกษตรพันธสัญญา และแจ้งรายการทำพันธสัญญากับหน่วยงานด้านยุติธรรม

–           ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางของรัฐดูแลตรวจสอบการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพโดยหน่วยงานด้านยุติธรรมและกลุ่มองค์กรเกษตรกร

–           ศึกษาวิจัยข้อมูลห่วงโซ่ต้นทุนและกำไรเพื่อการกำหนดต้นทุนการผลิต ราคารับซื้อผลผลิต และราคาขายที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร บริษัท พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค

3.2.4 พัฒนากลไกทางกฎหมาย

–              จัดตั้งกลไกกลางระดับชาติ เพื่อไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรพันธสัญญา ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เสียเปรียบ หรือต้องการออกจากระบบพันธะสัญญา

–             ศึกษาและพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร บริษัทและภาคีอื่นๆ ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาให้มีความเป็นธรรม

หลังจากการเจรจาเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี  กับ  นางสาวกฤษณา  สีหลักษณ์  รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี  ในวันที่  14  มกราคม  2554  เวลา  16.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่  และเวลา  19.00  น.  แกนนำของแต่พื้นที่ปัญหาได้เข้ายื่นหนังสือ  ต่อนายกรัฐมนตรี  ที่ห้องรับรอง  ท่าอากาศยานเชียงใหม่

หลังจากได้รับหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานที่มีตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.)  ประกอบไปด้วย นายดิเรก  กองเงิน  นายสุมิตรชัย  หัตถสาร  นายปราโมทย์  ผลภิญโญ  นายเหมราช  ลบหนองบัว  นายจำนง  จิตรนิรัตน์  นายพงษ์ศักดิ์  สายวรรณ  นายไมตรี  จงไกรจักร  นายพงศ์อนันต์  ช่วงธรรม  นายคมสันต์  จันทร์อ่อน  นายพรชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์  นางสาวนพพรรณ  พรหมศรี  นายบุญ  แซ่จุ่ง  นายสมบูรณ์  สิงกิ่ง  นายสามารถ  วีระกุล  นายสมชาย  นาคเทียม  นายประยงค์  ดอกลำไย  นายกฤษกร  ศิลารักษ์. โดยคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทหน้าที่ศึกษาแนวทางและเสนอแนะในการกำหนดนโยบาย  งบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.)  ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ  และนโยบายของรัฐบาล  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ  หรือคณะทำงาน  เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม  รายงานผลการศึกษาแนวทางและวางกรอบในการกำหนดนโยบายงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้คณะรัฐมนตรีทราบ  เชิญผู้แทนส่วนราชการ  หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล  เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง  ให้ข้อมูล  รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา  และปฏิบัติงานอื่นๆ  ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย  ผู้ชุมนุมจึงสลายการชุมนุมจากธนาคารแห่งประเทศไทย  สาขาภาคเหนือ  ในเวลา  13.00 น.  เพื่อที่จะไปประกาศชัยชนะในการที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

นายโอภาส  สินธุโคตร นักสื่อเกษตรกรพันธสัญญา รายงาน