นักวิชาการเศรษฐศาสตร์หวั่น แผนฟื้นฟูไม่สนองการจ้างงาน ย้ำโควิดทำความเหลื่อมล้ำสูง

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ หวั่นเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คนว่างงานยังไร้ทิศทาง หลังการเยียวยา 3 เดือนจบ แต่การฟื้นฟู โครงการซ้ำเดิม ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการจ้างงานและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจตกต่ำ แม้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน หากแต่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

จากการสัมภาษณ์ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเครือข่ายภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด ต่อประเด็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ถาม : อยากให้อาจารย์พูดถึงเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีการเลิกจ้างและการว่างงานหลังโควิดที่มันอาจจะเกิดขึ้น

ตอบ : ความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีการเลิกจ้างและว่างงานเนื่องมาจากโควิดมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆคือ

1) การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจกฎหมาย หรืออาจเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายหรือนโยบาย อีกส่วนเกิดจาการเอารัดเอาเปรียบกัน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องสร้างระบบขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตด้วยที่จะเกิดการเลิกจ้างมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีแทนคน

2) ระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ยังไม่ครอบคลุมและบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ แรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกันสังคมที่เบิกจ่ายล่าช้าและเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม เป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวนและหาวิธีการพัฒนาให้ดีขึ้น

3) คนว่างงานยังไร้ทิศทาง แรงงานอาจยังรอดูสถานการณ์ ยังมีความหวังว่า บริษัทจะเปิด แล้วได้กลับเข้าไปทำงานใหม่ ยังมีเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทหรือเงินจากประกันสังคม แต่ถ้าหมดช่วง 3 เดือนนี้แล้วจะทำอะไร บางคนถูกเลิกจ้าง สภาพจิตใจย่ำแย่ ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ จะเริ่มต้นใหม่ยังไงดี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอาจต้องรออีก 1-2 ปี แรงงานทราบความไม่แน่นอนตรงนี้แค่ไหน ภาครัฐน่าจะให้ความรู้ให้ข้อมูลแนวโน้มการจ้างงานในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางว่า ตกงานแล้วต้องทำอะไรบ้าง หางานได้ที่ไหน แนะนำอาชีพที่เหมาะสมทั้งกับตัวแรงงานและสภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนการฝึกอบรมทักษะฝีมือเพื่อนำไปสู่อาชีพที่มั่นคงยั่งยืน

ถาม : อยากให้อาจารย์พูดถึงความพยายามของฝ่ายแรงงานที่จะร่วมมือกับภาคสังคมโดยกลายเป็นภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด อาจารย์คิดว่าจะมีส่วนช่วยเหลือสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน

ตอบ : คิดว่าการรวมกลุ่มในภาวะวิกฤตแบบนี้เป็นประโยชน์มากที่จะทำให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้ระหว่างกัน ร่วมมือกัน ช่วยกันหาทางออก และป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลายใหญ่โตจนเกิดความไม่สงบสุขขึ้นในประเทศ ภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์เพราะสามารถสื่อสารกับเครือข่ายแรงงานและให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดขึ้น ถือเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างสร้างสรรค์ สิ่งที่อยากจะฝากถึงให้ภาคีเครือข่ายแรงงานคือ การเยียวยาวสามเดือนกำลังจะสิ้นสุดลง แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อาจจะยาวไปถึงสิ้นปีหรือปีหน้า จะทำอย่างไรกันต่อ

ภาคธุรกิจมีข้อเสนอให้ขยายประกันสังคมออกไปอีก 6-9 เดือน ฝ่ายแรงงานเห็นด้วยหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม ในการจะคิดเรื่องนี้ ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีก่อน

  1. งบประมาณภาครัฐ ไม่น่าจะมีเงินกู้ก้อนใหม่อีกแล้วหลังจากนี้
  2. เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในทันที ธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาผลิตหรือให้บริการได้เท่าเดิม

ข้อเสนอของเราควรจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างไม่เลิกจ้าง ในปัจจุบันบริษัทที่ยังไม่ได้ปิดชั่วคราว ยังผลิตหรือให้บริการบางส่วน ใช้วิธี leave without pay ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆแม้ว่ารายได้จะลดลง และนายจ้างกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุนด้วยเพราะถือว่ายังจ้างงานอยู่ โดยอาจใช้เงินจากประกันสังคมจ่ายส่วนต่างบางส่วนของรายได้ที่ลดลง เช่น หากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างแล้วเห็นว่าให้หยุดงานลงครึ่งหนึ่งของวันทำงานปกติ รายได้ของแรงงานก็จะลดลงครึ่งหนึ่ง ในส่วนนี้ประกันสังคมช่วยจ่ายบางส่วนของรายได้ที่ลดลง (เพดานรายได้กำหนดไม่เกิน 15,000 บาท) เช่น จ่ายที่อัตรา 62% สมมติรายได้ปกติ 10,000 บาท ถูกปรับลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 5,000 บาท ประกันสังคมช่วยจ่าย 62% ของ 5,000 บาท เท่ากับ 3,100 บาท แรงงานก็จะมีรายรับรวม 8,100 บาท แต่หากปิดกิจการ 100% แรงงานก็รับจากประกันสังคม 6,200 บาทเหมือนกับที่ปัจจุบันทำอยู่ แต่เงื่อนไขนี้จะมีความยืดหยุ่นครอบคลุมมากขึ้น เปิดให้แรงงานกลุ่มที่ยังทำงานแต่มีรายได้ลดลงได้รับการช่วยเหลือด้วย ส่งผลลดแรงจูงใจในการลาออกเพื่อไปหางานใหม่ และช่วยลดภาระด้านค่าจ้างให้แก่นายจ้างที่ยังคงจ้างงานอยู่ด้วย โดยมาตรานี้จะต้องจำกัดระยะเวลา และนายจ้างต้องให้รายละเอียดถึงความจำเป็นของการปิดลดงานอันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และให้ลูกจ้างลงนามรับรองด้วย ในขณะเดียวกัน รัฐต้องให้การสนับสนุนแรงงานในการหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติม และที่สำคัญต้องอุดหนุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมทักษะฝีมือให้กับแรงงานเหล่านี้อีกด้วย

คำถาม : เรื่องแผนฟื้นฟูความชัดเจนก็ยังไม่มากก็เริ่มชัดเจนขึ้นรัฐดูเหมือนว่าแผนมันเหมือนกับส่วนของแรงงานมันไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ อาจารย์มีข้อเสนอยังไงต่อแผนฟื้นฟู

ตอบ : แผนฟื้นฟูมีความสำคัญมากเพราะเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่มาก อยากให้เอาไปใช้ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เราทราบอยู่แล้วว่า การกระจายรายได้ที่ผ่านมาไม่ทัดเทียมกัน หากดูจากจีดีพีของประเทศไทย ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน หากแต่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะฉะนั้นเราควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและระบบสวัสดิการแทนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าดูจากโครงการที่ยื่นของบฟื้นฟูส่วนใหญ่เป็นโครงการของภาครัฐ โครงการซ้ำเดิม ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการจ้างงานและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คิดว่า การใช้งบนี้มีความรีบเร่งมากเกินไป เกรงว่าจะขาดการกลั่นกรองที่ดี และเงินจะสูญเปล่า อยากให้ประชาชนและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ อยากให้จัดการแข่งขันโครงการในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เข้ารอบมาเรื่อยๆ ออกรายการโทรทัศน์ให้ประชาชนทั่วประเทศได้ติดตามรับชมอย่างต่อเนื่อง มีกรรมการให้ความเห็น มีคะแนนโหวตจากผู้ชม ควรเผยแพร่โครงการตั้งแต่ระยะแรก ไปเรื่อยๆจนถึงการลงมือทำโครงการ และผลการดำเนินโครงการ ประชาชนจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้ร่วมกันถอดบทเรียนของการใช้เงินก้อนใหญ่ของพวกเขา สุดท้ายแล้วโครงการจะสำเร็จมากน้อยเพียงไรอาจไม่สำคัญเท่ากับประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการพัฒนาประเทศ