“อุดมการณ์และนโยบายด้านการเมือง ประสบการณ์ในความขัดแย้ง”

เรียบเรียงโดย กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ 

            สถาบันแรงงานเพื่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพนักสหภาพแรงงานระดับแกนนำ เรื่อง “การศึกษาแลกเปลี่ยนเสริมสร้างโลกทัศน์ ในบริบทสหภาพแรงงานกับการเมือง” ในวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2564 ณ อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักสหภาพแรงงานในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง โดยหัวข้อการเสวนาแลกเปลี่ยน เรื่อง “อุดมการณ์และนโยบายด้านการเมือง ประสบการณ์ในความขัดแย้ง”ในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 5 คน ได้แก่ 1) สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน และ ส.ส.พรรคก้าวไกล 2) ทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.พรรคก้าวไกล 3) สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย 4) มนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ 5) มานิตย์ พรหมการีย์กุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

            สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน และสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร (ส.ส.)พรรคก้าวไกล ในฐานะสัดส่วนเครือข่ายแรงงาน เล่าว่า การเข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรกเริ่มต้นกับพรรคอนาคตใหม่ แล้วตลอดที่ผ่านมาเห็นว่า ปัญหาของขบวนการแรงงาน คือ การขาดความเข้มแข็งของการรวมตัว แม้ว่าเคยร่วมกันในเครือข่ายแรงงานยานยนต์ในการตั้งสมัชชาแรงงานได้เพื่อหวังให้เกิดขบวนแต่ก็ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ซึ่งบทบาทของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในเวลานี้ ไม่ได้มีเฉพาะสัดส่วนหรือตัวแทนของแรงงาน แต่พรรครวมด้วยตัวแทนที่หลากหลายภาคส่วน และเปิดพื้นที่ให้นำเสนอประเด็นปัญหาแรงงานได้ ส่วนบทบาทอีกด้านในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่มีอำนาจออกคำสั่งเพื่อบังคับให้หน่วยงานรัฐและอื่น ๆ ปฏิบัติตามได้ แต่พยายามทำงานสองด้านหลัก ๆ คือ การผลักดันกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติแต่ก็ไม่ผ่านถูกโหวตคว่ำในรัฐสภา และการรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อให้ติดตามหรือเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งผู้เดือดร้อนเหล่านั้นต้องมาร้องเรียน และการใช้สื่อสังคมออนไลนก็ช่วยเป็นแรงผลักทางอ้อมให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลนำไปแก้ไขปัญหา 

            ท้ายสุดการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานในมุมมองของ ส.ส.สุเทพ มองว่า การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แต่ต้องไม่แตกแยกในกลุ่มแรงงาน อยากให้เกิดกระบวนการพูดคุยกันบ่อยมากขึ้น อีกทั้งยังตั้งใจว่าถ้าอีกโอกาสได้เป็นผู้แทนราษฎรก็ต้องการเพียงอีกหนึ่งสมัย เพราะต้องผลัดกันให้คนรุ่นใหม่มีบทบาท ส่วนคนรุ่นเก่าคอยทำหน้าที่ประคับประคอง อย่างไรก็ตามในเวลานี้หลายพรรคเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและขักชวนแรงงานมากขึ้น แต่อยากให้แรงงานที่จะเป็นนักการเมืองเหล่านั้นทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องแรงงานเป็นที่ตั้ง 

            ทวีศักดิ์ ทักษิณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)พรรคก้าวไกล กล่าวถึงบทบาทของการเป็นส.ส. และอีกสถานะของการเป็นผู้นำสหภาพแรงงานว่า ทำให้มีประเด็นปัญหาของแรงงานร้องเรียนเข้ามากในกรรมาธิการการแรงงาน และเห็นว่าการแก้ปัญหารายประเด็นทำให้ปัญหานั้น ๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่เคยเสนอร่างกฎหมายแล้วก็ไม่ได้รับความเห็นจากฝ่ายบริหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ควรผลักดันเรื่องอื่น ๆ นอกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว ยังมีเรื่องอื่น เช่น การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น 

            อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคก็ไม่ได้เน้นเฉพาะแรงงาน แต่เน้นขับเคลื่อนให้เกิดรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วบ่อยครั้งต้องตั้งข้อคำถามว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด เพื่อให้มีเงิน 470,000 ล้านบาท ซึ่ง ส.ส.ทวีศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่าการลดงบประมาณบางกระทรวงจะทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการมีความเป็นไปได้และประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากการเมืองดีย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นตาม  

            สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย กล่าวว่า ไม่นานมานี้ ได้รับการเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย เป็นพรรคที่เสนอว่าเป็นพรรคของแรงงาน แต่อย่างไรพรรคนี้ก็ไม่ใช่พรรคแรงงานพรรคแรก ๆ เนื่องจากประวัติศาสตร์แรงงานเคยมีพรรคการเมืองอื่นที่มีผู้แทนแรงงานของรัฐวิสาหกิจมีส่วนร่วมมาตลอดซึ่งย้อนกลับไปถึงสหอาชีวกรรมกรและพรรคกรรมกรไทย นอกจากนี้สมัยพรรคไทยรักไทยก็เคยมีผู้แทนแรงงานรัฐวิสาหกิจเป็น ส.ส.สัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ แต่ปัญหาที่เห็นคือนักธุรกิจทำงานการเมืองมากขึ้น แล้วคนกลุ่มนี้มีบทบาทของการเขียนกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม จึงเกิดการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้การต่อสู้บนท้องถนนมาโดยตลอดแต่ข้อเรียกร้องก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร 

            นอกจากนี้ ประเด็นเร่งด่วนที่ควรผลักดัน คือ ขยายสิทธิประโยชน์ชราภาพของประกันสังคม ธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลประกันสังคม ขจัดรูปแบบการจ้างงานชั่วคราวให้เป็นการจ้างงานระยะยาว สร้างสวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้า ซึ่งรัฐต้องให้ความสำคัญต่อการจัดสรรทรีพยากรที่เป็นธรรมมากขึ้น และรัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 เพราะจะทำให้แรงงานมีพลังและเสริมสร้างการต่อรองมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน  อย่างไรก็ตาม ทำให้เห็นว่าการส่งผู้แทนแรงงานเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งที่มีแรงงานเป็นสมาชิก ส่วนบทบาทของผู้แทนแรงงานที่ทำงานการเมืองต้องยึดมั่นผลประโยชน์ของแรงงานเป็นที่ตั้ง ต้องมีความพร้อม รู้จักการปรับกระบวนทัพและกระบวนยุทธ์ให้ทั้งสองต้องหนุนเสริมกัน กล่าวคือ ทั้งพรรคการเมืองและขบวนการแรงงานต้องร่วมมือกัน รักษาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง หากแต่ละพรรคการเมืองมีผู้แทนแรงงานเป็น ส.ส. ก็ขอให้รักและเคารพเป็นพี่น้องกันไว้ 

            มนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวว่า การเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นหนึ่งในสิบเก้าคนของการก่อตั้งพรรคแรงงานสร้างชาติ ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเป็นผู้นำแรงงาน และทั้งหมดนี้ใช้ทุนส่วนตัวมาจดทะเบียนก่อตั้งพรรค จึงไม่มีกลุ่มทุนมาสนับสนุนใด ๆ และเป็นพรรคของแรงงานจริง ๆ เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีในขบวนการแรงงาน และมีนโยบายแรงงานที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งทิศทางนโยบายของพรรคเน้นแรงงานก่อนในลำดับแรก เช่น 

            1) การจ้างงานเหมาบริการของหน่วยงานรัฐมีมากถึง 450,000 คน แต่แรงงานเหล่านี้มีสถานะเป็นพนักงานราชาการ ซึ่งไม่มีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ

            2) การผลักดันให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน 

            3) การขยายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพของประกันสังคมในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน 

            4) การส่งเสริมแรงงานภาคเกษตรกรรมให้มีศูนย์พักรอฤดูกาลการเกษตรเพื่อต่อยอดการแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์สู่การค้าในระดับสากล

            5) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพราะงานในอนาคตจะมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดลง ซึ่งจะมีแนวทางอย่างไรให้สมัครใจประกันตนมาตรา 40 

            6) การส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่ได้รับความสำคัญเหมือนกับการจัดตั้งสหกรณ์ 

            7) การกำหนดค่าจ้างแลกเข้าที่ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ 

นอกจากนี้ มนัส โกศล ได้กล่าวถึงบทบาทของตนในการขับเคลื่อนแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ค่าชดเชย ซึ่งได้รับการชื่นชมจากฝ่ายบุคคลหลายสถานประกอบการ  

            มานิตย์ พรหมการีย์กุล คณะทีปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เล่าว่า เคยร่วมจดทะเบียนพรรคสังคมธิปไตยในปี 2550 และมีสมาชิกถึง 5,000 คน ซึ่งเห็นว่าแรงงานและการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน แม้แต่ครั้นที่พรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งช่วงแรก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มาสนทนาด้วยเพื่อให้มีผู้แทนแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง เมื่อมีบทบาทกับพรรคฝ่ายค้านตนเองเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่รับข้อเสนอไปสนองตอบปัญหาความยากลำบากของแรงงาน แต่การเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำให้การนำข้อเสนอที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานกลับได้นำไปตอบสนองให้ เช่น การฉีดวัคซีนให้แรงงานมาตรา 33 และโครงการเรารักกันสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 

            ดังนั้น มานิตย์ กล่าวอีกว่า การทำงานของรัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจเพื่อให้เกิดการทำงานที่มั่นคง ปลอดภัย และแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความกินดีอยู่ดี อย่างไรก็ตาม มานิตย์ ยังไม่ตัดสินใจว่าตนเองจะสังกัดพรรคการเมืองใดในอนาคต แต่เห็นว่าหากมีโอกาสตนเองก็ต้องการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่การให้คนอื่นเป็นเหมือนเอาของไปฝากคนอื่น  

สรุป 

            มุมมองของผู้แทนแรงงาน 5 คน ที่ทำงานการเมืองของพรรคต่าง ๆ มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ ความต้องการให้เกิดความสามัคคีและไม่แตกแยกในขบวนการแรงงาน ให้หาจุดร่วมเพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาให้แก่แรงงาน นอกจากนี้ พรรคแรงงานสร้างชาติ และ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย มีข้อเสนอที่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การขยายสิทธิประโยชน์ชราภาพของประกันสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย การจัดตั้งธนาคารแรงงาน และการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม เป็นข้อเสนอที่เรียกร้องมาเกินทศวรรษ ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยจะมีประเด็นแตกต่างจากพรรคอื่น คือ คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ต่อสู้มาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เพราะโดยพื้นฐานการรวมกลุ่มมีสมาชิกมาจากรัฐวิสาหกิจ 

            ส่วนประเด็นแรงงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สภาพการทำงาน การจ้างงานเหมาช่วง เป็นเรื่องที่ผู้แทนแรงงานจากทุกพรรคในการเสวนาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ให้ความสำคัญ แต่จะมีสองพรรคคือ พรรคก้าวไกล และ พรรคสังคมประชาธิปไตย ที่กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิการรวมกลุ่มองค์กรและเจรจาต่อรองของแรงงาน คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากพรรคก้าวไกลจะเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของแรงงาน เพราะการแก้ปัญหารายประเด็นเหมือนที่ทำอยู่นั้น ไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจัง 

            ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ถือว่าเวลาการสนทนาค่อนข้างน้อย ครั้งต่อไปผู้แทนแรงงานที่ทำงานการเมือง ต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้นว่าแรงงานหมายถึงใคร เฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือรวมถึงทุกคนที่ทำงานได้รับค่าจ้างและไม่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ โจทย์เหล่านี้ใหญ่กว่าการทำอย่างไรให้ประชาชนมองว่าพรรคแรงงานคือภาพแทนของพวกเขา รวมถึงเยาวชนและวัยทำงานตอนต้นจะมองว่าพรรคเหล่านี้มีนโยบายตอบสนองชีวิตพวกเขาหรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองยังต้องทำการบ้านเรื่องนี้อีกมาก