อสร.เตรียมพบรมว.แรงงาน เสนอประกันสังคม ม.40 เป็นสวัสดิการ

อาสาสมัครแรงงาน(อสร.) กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประชุมเตรียมข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน ให้แก้ปัญหาด้านทักษะ พัฒนาความรู้ จัดสวัสดิการดูแล แก้ระเบียบใหม่ให้ทันสมัย

วันที่ 27 มิถุนายน 2562 สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย จัดประชุมผู้นำพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบ อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง ครั้งที่1 ที่ห้องประชุมชั้น 34 ตึกเอส เอ็ม ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อมูลเรื่องการทำงานของอาสาสมัครแรงงานทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้แทนจังหวัดสุพรรณบุรีเล่าว่า ในเรื่องการปฏิบัติงานนั้น ด้วยอาสาสมัครแรงงานได้รับการแต่งตั้งโดยระเบียบของกระทรวงแรงงานว่าด้วยอาสาสมัครแรงงาน พ.ศ.2548 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนถึงการทำงานอาสาสมัครแรงงานว่า มีหน้าที่ เช่น

  1. รณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องประกันสังคม มาตรา 40 ถึงสิทธิต่างๆที่กำหนดไว้ และเชิญชวนเพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40
  2. ส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยลงพื้นที่รวมกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ แรงงานที่ตกงาน ในการฝึกอาชีพต่างๆ
  3. อบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอยการขนาดเล็กที่ไม่ถึง 10 คน

และยังมีการให้คำปรึกษาปัญหาแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมถึงมีการทำหน้าที่ตรวจเอกสารดูแลสิทธิของแรงงาน อย่างเช่นเมื่อเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล อุบัติเหตุ พิการ หรือเสียชีวิต เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายประกันสังคมด้วย

โดยการทำงานของอสร.นั้นเสมือนว่าเป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานในการให้คำปรึกษา สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงานโดยไม่ได้มีค่าตอบแทนให้ ทำการรวมกลุ่มอบรมกฎหมายประกันสังคม โรงงานสีขาว ต้านยาเสพติด สร้างงานสร้างอาชีพ เป็นการทำงานร่วมกับทาง 5 ส.ของกระทรวงแรงงาน คือ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม จัดหางาน  พัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งในต่างจังหวัดนั้นมีการทำงานที่เข้มข้นมีพี่เลี้ยงในการทำงานร่วมกับอสร. มีการกำหนดงานทำร่วมกัน 18 ด้าน ซึ่งมีตัวชี้วัดการเช่น ภายใน 1 เดือนต้องได้ 10 คนเป็นต้น ซึ่งตัวชีวัดการจะดูว่าประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร โดยภาคกลางได้มีการอบรมดวงตราแรงงานแล้วในหลายจังหวัด เช่น สุพรรณ สระบุรี อยุธยา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฯลฯ

ด้านผู้แทนในกรุงเทพฯสะท้อนว่า เหมือนว่าจะทำทุกเรื่องเมื่อมาเป็นอาสาสมัครแรงงาน โดยความเป็นจริง คือทำงานด้านอาสาสมัครมานานเพราะส่วนใหญ่มาจากแกนนำแรงงานนอกระบบ และอสร.กรุงเทพฯตั้งเมื่อปี 2560 และไม่ค่อยได้รับตอบรับจากกระทรวงแรงงานเท่าไรแม้ว่าจะอยู่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจ แต่ก็ทำงานทั้งการรวมกลุ่ม ให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยในการทำงาน ซึ่งปัญหาการเดินทางก็ไม่ต่างกับอสร.ในจังหวัดต่างๆคือพื้นที่ห่างไกลการเดินทางยังเข้าไม่ถึง ไม่มีระบบขนส่งอย่างรถโดยสารเข้าในพื้นที่ การลงพื้นที่มีค่าใช้จ่ายสูง และอสร.ไม่มีงบสนับสนุนการทำงาน เป็นต้น

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อสร.ในกรุงเทพฯนั้นมีประมาณ 900 คน แต่ชุมชนมีทั้งหมด 2070 แห่ง และตอนนี้ทั้งประเทศมี อสร.ทั้งหมด 9,998 คน ทั้งประเทศ หากว่ามีอสร.ครบทั้งประเทศน่าจะมีจำนวนกว่า 10,000 คน โดยบทบาทหน้าที่ของอสร.นั้นทำงานตามที่กระทรวงแรงงานมีคำสั่งประหนึ่งข้าราชการ จึงจะเห็นว่าการทำงานของอสร.เต็มที่ กระทรวงแรงงานก็ควรต้องมาดูแลรับผิดชอบคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเขาบ้าง เช่นการดูแลเรื่องระบบกระกันสังคมมาตรา 40 โดยจ่ายเงินเข้าสู่ระบบ โดยถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานในการดูแลอสร. อย่างกรณีอาสาสมัครสาธารสุข ที่จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีกว่าแม้ว่าจะถือบัตรทองไปรับบริการทำให้เขารู้สึกถึงการมีคุณค่า ซึ่งในส่วนของอสร.เองก็ทำงานให้กับภาครัฐคือกระทรวงแรงงาน แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเลย ทั้งนี้จึงคิดว่า ควรต้องมีการรวมกลุ่มร่วมมือกันเพื่อไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมข้อเสนอ เช่นให้ทางกระทรวงแรงงานจัดสวัสดิการโดยการประกันสังคมมาตรา 40 ให้กับอสร. และมีการพัฒนาทักษะที่ยังขาดอยู่มากหลายเรื่องและให้มีความรู้และทักษะที่เท่ากัน ด้วยวันนี้อสร.แต่ละพื้นที่จะมีฐานทักษะความรู้ที่ต่างกัน ด้วยบางอย่างเป็นความรู้เฉพาะทาง การทำงนสื่อสารประชาสัมพันธ์ ผ่านระบบโซเซียลมีเดีย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการทำงานของอสร.นั้นไม่มีคำว่า อสร.ในระบบ อสร.นอกระบบ อสร.ข้ามชาติ อสร.ต้องทำงานครอบคลุมทุกแรงงานความรู้จึงต้องมี ซึ่งจะเห็นได้จากการทำงานฝ่ายขายประกันสังคมมาตรา 40 ทำงานเรื่องโรงงานสีขาว ให้ความรู้ด้านยาเสพติด เรื่องสุขภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัย สิทธิต่างๆด้วย

อีกประเด็นที่ควรต้องมีการปรับแก้คือระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยอาสาสมัครแรงงาน พ.ศ. 2548 ซึ่งใช้มาเกือบ 14 ปีแล้ว และไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งสังคมเศรษฐกิจการพัฒนาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานอสร.ที่มีคุณภาพ และมีคุณค่า มีความยั่งยืนมั่นคง ควรมีส่วนร่วม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน