หากแรงงานมีสิทธิเลือกสส.ในพื้นที่ทำงาน เสียงแรงงานคงดังพอ กำหนดการเมือง

โดย โสพณ ทองโสพา นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปิดทำการค้ากับต่างชาติในสมัยรัฐกาลที่ 4 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากถิ่นฐานเดิมเรื่อยมาจนมาถึงสมัยรัฐกาลที่ 7  ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ถึงทุกวันนี้ก็นับได้ 80 ปี มีกฎหมายถูกตราขึ้นหลายฉบับ หลายต่อหลายมาตรจนเราแทบจะจำไม่ได้ และมีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งจากประชาชนผู้ที่มีสิทธิออกเสียง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในสภาผู้ทรงเกียรติ แต่ต้องผิดหวังกับตัวแทนของตนที่เลือกเข้าไป ซ้ำร้ายประชาชนยังต้องถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากตัวแทนที่เลือกไปทำหน้าที่ด้วยการออกกฎหมายที่มาควบคลุมมากกว่าการคุ้มครอง พร้อมทั้งนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เอื้อผลประโยชน์ให้กับทุนและพวกพ้องของตนที่เป็นคนส่วนน้อย

จากอดีตถึงปัจจุบันจะมองเห็นได้ว่า ประเทศได้พัฒนาจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ระบบสังคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตามนโยบายของรัฐที่ประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ห่างไกล จากภูมิลำเนาเดิมจนเกิดปัญหา เวลาที่มีการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่ว่า จะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ทำให้แรงงานเหล่านี้ ต้องเดินทางกลับเพื่อไปใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 72 (วรรคหนึ่ง) เพราะนายจ้างจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และไม่ให้ข้อมูลข่าวสารของการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่คนงานในสถานประกอบการของตนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อเลือกผู้แทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของแรงงานเหล่านั้น (นายจ้างพูดทำไมต้องไปยุ่งกับการเมือง)  เพราะแรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีประมาณ 37 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศประมาณ 67 ล้านคน คิดเป็น 70 % และแรงงานส่วนใหญ่จะเสียสิทธิในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ และการเลือกตั้งแต่ละครั้งเหล่าผู้ใช้แรงงานจะไม่รู้เลยว่าผู้แทนของตนจะเป็นคนอย่างไร ด้านข้อมูลข่าวสารทั้งหมดจะรับรู้จากทางบ้านต่างจังหวัด รู้แต่ผู้สมัครในพื้นที่ ที่ตนทำงานอยู่เท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิที่จะหย่อนบัตรลงคะแนนให้ เพราะไม่มีชื่อตามทะเบียนราษฏร ที่ตนทำงาน

บทสุดท้ายแรงงานเหล่านี้ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกที่มาทำความวุ่นวายในพื้นที่ แต่ถ้าแรงงานเหล่านี้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงาน และมีสิทธิหย่อนบัตรให้กับผู้สมัครในระดับท้องถิ่น หรือผู้สมัคระดับชาติก็ดี เพราะคงได้รับการต้อนรับ และช่วยดูแลแก้ไขปัญหาหากแรงงานถูกรังแกจากนายจ้างบ้าง ถ้าไม่มีสิทธิแรงงานก็จะเป็นเพียงผู้ที่มาทำความวุ่นวาย เป็นเพียงประชากรแฝงที่มาใช้ทรัพยากรของเขา ในท้องที่นั้น ๆ โดยไม่ได้คิดว่าแรงงานเหล่านั้นก็มีส่วนที่สร้างรายได้ และความเจริญมาให้ชุมชนของตน เช่นกัน

///////////////////////////////////