หัวใจของแรงงานสัมพันธ์ และวิธีการ “บ้องตื้น”ของผู้มีอำนาจ

1452094299012

หัวใจของแรงงานสัมพันธ์ และวิธีการ “บ้องตื้น”ของผู้มีอำนาจ
————

โดย ภาสกร จำลองราช

หมายเหตุ-เห็นข่าวเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังทั้งทหารและตำรวจ กดดันและบีบบังคับให้ลูกจ้างบริษัทซันโคโกเซราว 500 คน ที่ชุมนุมอยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานเลิกการรวมตัว พร้อมกับจับกุมแกนนำ เมื่อคืนนี้(6 มค.59) แล้วรู้สึกห่อเหี่ยวใจจริงๆครับ คนงานชุมนุมกันภายใต้ระบบสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แต่นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน เมื่อคนงานชุมนุมหน้าโรงงานที่ระยอง ก็ถูกไล่ แต่พอมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงานก็เจอวิธีการรุนแรงเช่นเดียวกันอีก

นึกถึงงานเขียนชิ้นหนึ่งเรื่อง “ฉันทนาแก่-หมาพิการ และกำแพงสูงกระทรวงแรงงาน” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2548 สมัยยังวิ่งหาข่าวอยู่กระทรวงแรงงาน เลยนำมาแบ่งปันอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ต้องการสื่อคือผู้บริหารองค์กร ควรมองลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานด้วยความเมตตา เพราะกระทรวงนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างเป็นหลัก ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ข้าราชการได้ซีหรือคอยแต่ดูแลปกป้องนายจ้างเป็นสำคัญ

ถามว่าถ้าไม่ให้เขาชุมนุมอยู่ที่กระทรวงแรงงาน หรือหน้าโรงงานแล้ว จะให้เขาชุมนุมที่ไหน ที่สำคัญคือการเจรจาต่อรองหรือการหารือกันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งผมเชื่อว่าคนในกรมสวัสดิการคและคุ้มครองแรงงานเข้าใจดี แต่ข้าราชการและผู้มีอำนาจบางพวกของกระทรวงแรงงาน ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจศาสตร์นี้ จึงเลือกใช้วิธีบ้องตื้นแบบคลั่งอำนาจ
——————

ฉันทนาแก่-หมาพิการ และกำแพงสูงกระทรวงแรงงาน
——
เมื่อปี 2541 สาวโรงงานกลุ่มใหญ่ที่เป็นลูกจ้างบริษัทไทยเกรียงสิ่งทอ จำกัด ในย่านพระประแดง ถูกเลิกจ้างครั้งใหญ่เกือบ 400 คน สาวฉันทนาเหล่านี้ทำงานอยู่ในโรงงานสิ่งทอแห่งนี้มาทั้งชีวิต มีอายุงานกว่า 20-30 ปี แต่ต้องถูกเลิกจ้างเอาตอนวัยใกล้ 60 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดมาก และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้สำหรับขบวนการแรงงาน ซึ่งได้มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ และปักหลักอยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานอยู่นานเกือบ 2 ปี

เมื่อเรื่องเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรม พวกป้าๆ น้าๆ เหล่านี้ต้องแยกย้ายกันดิ้นรนทำมาหากินกันตามมีตามเกิด โดยกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวของกรมประชาสงเคราะห์(ในขณะนั้น) พอเช้ามาก็ออกไปรับจ้างทำงานต่างๆ ที่ตัวเองพอจะทำได้และหาได้ เพียงเพื่อประทังเอาตัวให้รอดไปวันๆ หวังแค่มีเงินเหลือพอไว้จ่ายค่าประกันตนให้กับสำนักงานประกันสังคมที่ต้องเสียเดือนละ 400 กว่าบาท เพราะหากละเว้นการจ่ายเงินสมทบเมื่อใด สิทธิต่างๆ ก็เป็นอันขาดกัน

ประวัติศาสตร์แรงงานเสี้ยวนี้ยังพอหาดูในกระทรวงแรงงาน เพราะฉันทนาสูงวัย 3-4 คนหรือที่เรียกกันในกระทรวงแรงงานว่าป้าไทยเกรียง ได้รับการเอื้อเฟื้อจากผู้บริหารกระทรวงแรงงานยุคนั้นให้ขายของใต้ถุนกระทรวงต่อไป หลังจากนำของมาปูเสื่อขายระหว่างนั่งประท้วง

นับตั้งแต่นั้นมา ภาพของหญิงแก่ยืนขายเสื้อผ้าอย่างอารมณ์ดี จึงอยู่คู่กับใต้ถุนกระทรวงแรงงานมาโดยตลอด เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของข้าราชการในกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ ข้าราชการจำนวนมากโอนย้ายมาจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวเป็นชุมชนเดียวกัน

ในช่วงการประท้วงอันยาวนานของกลุ่มคนงานหญิงไทยเกรียงฯ ช่วงท้ายได้มีลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างเช่นเดียวกันของบริษัทไทยเอโร่กาเม้นท์ จำกัด อีกหลายร้อยคนมาร่วมสมทบ สิ่งที่เหลือไว้เป็นสัญลักษณ์ทุกวันนี้คือหมาข้างถนนหลายตัว ที่คนงานเหล่านี้เลี้ยงเอาไว้

ระหว่างปักหลักอยู่ใต้ถุนกระทรวง เมื่อคนงานเดินทางกลับ บางคนที่ผูกพันกับหมาที่ตัวเองเลี้ยงไว้ก็เอามันกลับบ้านไปด้วย แต่ยังเหลืออีกหลายตัวที่เจ้าของชั่วคราวทอดทิ้งไว้ที่กระทรวง

ทั้งไอ้จิ๋ว อีแม้ว และไอ้ 3 ขากลายเป็นหมาประจำกระทรวง แม้รูปร่างหน้าตาของมันไม่ได้บ่งบอกถึงความมีเชื้อสายพันธุ์นิยม และไม่น่าจับน่ากอดนัก แต่ข้าราชการและคนในชุมชนกระทรวงแรงงานกลุ่มหนึ่ง นับตั้งแต่รองปลัดไปยันข้าราชการระดับล่างต่างก็เอ็นดูมัน ยอมควักเงินซื้อข้าว หาอาหารมาขุนมันอย่างไม่ขาด โดยมีป้าไทยเกรียงขันอาสารับภาระ

ป้าไทยเกรียง ไอ้จิ๋ว อีแม้ว และไอ้ 3 ขา เป็นสีสันที่มีชีวิตชีวาของหน่วยงานราชการ ตกเย็นเลิกงานข้าราชการก็เต้นแอโรบิคไป บรรดาหมาๆ ที่ซุกตัวตามมุมต่างๆ ในช่วงเวลางานก็ทยอยเดินออกมาทักทาย

ขณะที่ป้าไทยเกรียงพอเก็บของเสร็จก็พาเด็กเล็กมาเดินเล่น เด็กคนนี้เป็นลูกของลูกจ้างประจำคนหนึ่งในกระทรวงแรงงานกับหนุ่มแบงก์ที่มาเปิดสาขาอยู่ในกระทรวง ที่จริงพวกเขาสามารถเอาลูกจ้างคนอื่นเลี้ยงก็ได้ แต่เพราะอยากให้ป้าไทยเกรียงมีรายได้เสริมจึงมาจ้างแกเลี้ยงลูก

ทุกอย่างน่าจะเป็นความงดงามประดับกระทรวงที่ทำงานอยู่กับคนจน แต่เชื่อหรือไม่ ความงดงามเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับผู้บริหารบางส่วน??

หลังจากยุคประท้วงยืดเยื้อของคนงานไทยเกรียงฯ และไทยเอโร่ฯ ปรากฏว่า กระทรวงของประชาชนแห่งนี้ ได้ออกระเบียบใหม่สำหรับชาวบ้านทุกคนที่เดินทางเข้ามาติดต่องาน ต้องแลกบัตรก่อน แม้กระทั่งรถมวลชนต่างๆ ก็ถูกต้องสงสัยหมดว่าเป็นม็อบคนงาน และห้ามเข้ามาในกระทรวง ทุกประตูมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าอย่างแข็งขัน

รั้วกำแพงกระทรวงเสมือนสูงขึ้นทุกวัน วัฒนธรรมความเชื่อเรื่องความมั่นคงแบบบ้าคลั่งของหน่วยงานราชการถูกนำมาใช้ที่นี่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ภาพของคนงานที่ถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าตั้งแถวรอแลกบัตรกลายเป็นภาพที่ชินตา ขณะที่ป้าไทยเกรียงฯและบรรดาหมาๆ ตกอยู่ในแผนงานหนึ่งของการจัดระเบียบอยู่ร่ำไป

ยิ่งทุกครั้งที่มีการผลัดอำนาจในหมู่เหล่าผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงซึ่งสับเปลี่ยนกันเป็นว่าเล่น กลุ่มป้าไทยเกรียงและบรรดาหมาๆ จะได้รับความเดือดร้อนก่อนใครอื่น ทำให้ทุกวันนี้ป้าไทยเกรียงฯต้องถอยร่นไปขายของในโรงอาหาร จากเดิมที่เคยขายให้คนมาติดต่องานในกระทรวงด้านหน้า

การผลัดเปลี่ยนอำนาจยุคแม้ว 2/1 ก็เช่นกัน มีข่าวลือมานับสัปดาห์ว่าเขาจะไล่ป้าไทยเกรียงไม่ให้ขายของ พร้อมกับให้ กทม.มาจับหมาไปเสีย ซึ่งแรกทีเดียวก็ไม่มีใครสนใจสักเท่าไหร่ เพราะไม่เชื่อว่าจะมีใครไร้น้ำใจขนาดนั้น แต่ล่าสุดทุกอย่างทำท่าเป็นจริงขึ้นมาเมื่อข้าราชการระดับผู้อำนายการรายหนึ่ง ได้เรียกป้าไทยเกรียงไปพบและบอกในสาระสำคัญคือให้พวกแกเลิกขายของเพราะไม่เสียค่าเช่า และเขายังอ้างถึงเรื่องการเลี้ยงเด็ก เลี้ยงหมาว่าไม่เหมาะสมด้วยนานัปการ

มิใช่ป้าไทยเกรียงเท่านั้นที่เสียน้ำตา แต่คนในชุมชนแรงงานที่ทราบข่าวต่างก็พลอยเศร้าใจด้วยเช่นกัน ยังดีที่เมื่อสอบถามไปยังฝ่ายการเมืองที่เข้ามาใหม่แล้วได้รับคำตอบว่าไม่รู้เรื่องด้วย เพียงแต่ราชการ(บางคน)นำไปแอบอ้างกันเอง

ปัญหาช่องว่างระหว่างหน่วยงานราชการไทย และประชาชนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอด ถึงขนาดต้องมีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่ แถมนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันถึงกับประกาศเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นนโยบายสำคัญ

ทั้งหมดนี้ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ป้าไทยเกรียง และหมาจะได้อยู่ในกระทรวงแรงงานต่อไปหรือไม่ คำถามอยู่ที่ว่าผู้บริหารกระทรวงแรงงานมีความคิดเรื่องวัฒนธรรมขององค์กรอย่างไรต่างหาก
////////////