ส่องการสร้างความสุขผู้สูงอายุโลก กับ การพัฒนาความสุขผู้สูงอายุไทย

ในปัจจุบันที่ประเทศไทยมีการก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้านการเมืองที่ยังน่าลุ้นระทึกว่าจะไปในทิศทางไหน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดในตอนนี้ คือ กระแสของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมองทวนกระแสของคนรุ่นใหม่กลับไป เราจะพบว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้าง “สังคมผู้สูงอายุที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

ประเทศนอร์เวย์ เป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ดีที่สุดในโลก โดยการจัดอันดับจาก Global Average Index, Gini Index และการวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ยกให้ประเทศนอร์เวย์เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาติดๆกับ ประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศแถบลาตินอเมริกา ที่ได้ติดโผเป็นลำดับต้นๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมผู้สูงอายุที่ยั่งยืน คือ การมุ่งพัฒนาสวัสดิการต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นที่มาของโครงการเงินบำนาญผู้สูงอายุ ที่มากน้อยขึ้นอยู่กับภาษีที่ชำระในช่วงวัยทำงาน ซึ่งก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แต่ค่าตอบแทนที่ได้รับในวัยชราก็คุ้มค่ามากๆ ทั้งระบบบ้านพักคนชรา การดูแลของผู้ดูแล และระบบสาธารณสุข

ประชากรส่วนใหญ่ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุในประเทศแถบทวีปยุโรป แต่ในทวีปเอเชียที่ต้องยกให้เป็นอันดับหนึ่ง คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า ผู้สูงอายุในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และประชากรวัยทำงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุกลับลดลงเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของการสร้าง Aging Community หรือ ชุมชนผู้สูงวัย ที่นอกจากจะบรรเทาความเหงาของผู้สูงอายุ ยังสร้างความสุขอีกด้วย การสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยน และทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่การย้อนวัยแต่เป็นการสูงวัยอย่างร่าเริง การใช้เวลากับคนที่อายุใกล้เคียงกัน ชอบทำกิจกรรมเหมือนๆ กัน เท่านี้ก็เป็นการสร้างคุณภาพที่ดีให้ชีวิตผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น

จากรายงานของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2583 ประชากรผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 32.1 จากประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน เหลือเพียงร้อยละ 55.1 งานวิจัยจาก “สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล” แสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตนเอง มีถึงร้อยละ 89 รองลงมา คือ ลูกสาวคนโตที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุเป็นหลัก ผู้หญิงแกร่งทั้งหลายจึงต้องรับผิดชอบทั้งงานและผู้สูงอายุวัยพึ่งพิง

สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุด คือ ความรุนแรงในผู้สูงอายุในประเทศไทย เป็นปัญหาซ่อนเร้นที่ผู้สูงอายุไม่กล้าบอกเล่าให้ใครฟัง ข่าวที่ปรากฏส่วนมากจะเป็นความรุนแรงที่เกิดจากคนภายนอกและผู้ดูแลที่ไม่ใช่ลูกหลาน แต่ที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ คือ ความรุนแรงในครอบครัว การทุบตีทำร้ายร่างกาย เพราะความเครียด การไม่สามารถรับมือกับปัญหาจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปและช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ เพราะความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ภาวะกดดันรอบข้าง รวมถึงการขาดทักษะในการดูแล การข่มขืนกระทำชำเรา เพราะความโลภ หรือ สภาวะทางจิต

การจะพัฒนาสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ให้ขึ้นไปอยู่ในขั้นบันไดของ ประเทศที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้น เราทุกคนคือพลังสำคัญ โดยต้องเริ่มจากตัวเรา ที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของผู้สูงอายุ กลับไปย้อนนึกถึงความรักและความใส่ใจที่ท่านได้มอบให้เรา สถาบันครอบครัวที่มีความสำคัญในการสร้างจิตสำนึก ความกตัญญู และการยกย่อง ให้เกียรติ ตามวิถีของคนไทย พร้อมกับการร่วมใช้เวลาในช่วงวันหยุด หรือ ผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลผู้สูงอายุ เพราะการได้ใช้เวลากับครอบครัวเป็นความสุขที่สุดของวัยชรา และที่สำคัญกว่าคือไม่ผลักภาระความตึงเครียดไปอยู่กับบุคคลคนเดียวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ในขณะที่ภาครัฐและเอกชนก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมกันพัฒนาระบบสวัสดิการ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ รวมถึงการให้ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะการที่ผู้สูงอายุเรียนรู้ที่จะดูแลตนเอง ลูกหลานเรียนรู้ที่จะปรับตัวและดูแลผู้สูงอายุ ชุมชนเข้าใจและใส่ใจ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยได้มี “สังคมผู้สูงอายุ ที่มีความสุขอย่างยั่งยืนและมั่นคง

…………………………………………………………………..

เด็กหญิงธารธรรม  ฉันทอุไร  โรงเรียน หอวัง