สหภาพคนทำงานร่วมกับ 18 เครือข่าย แถลงความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่

ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่

สหภาพคนทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่าย 18 องค์กร

——————————————-

            ประเทศไทยมีประชากรราว 71 ล้านคน จากข้อมูลรายงานผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนไทยในเดือน ก.ค. 2565 ของสำงานสถิติแห่งชาติพบว่าประชากรไทยที่อยู่ในวัยแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีงานทำ 39.48 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน และผู้ว่างงานที่รอฤดูกาล 0.21 แสนคน และถ้านับครอบครัวของพวกเขา กคนกลุ่มนี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เป็นเจ้าของที่แท้จริงของประเทศนี้ พวกเขาสมควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลเอาใจใส่ประชาชน

            แม้ว่าคนทำงานจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะเป็นกลุ่มคน 99% ของประเทศ แต่ด้วยการถูกกีดกัน ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองให้สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้แม้คนทำงานจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่กลับมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การบริหารประเทศน้อยมาก พรรคการเมืองในประเทศส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากฝ่ายทุน หรือกลุ่มคน 1% ทำให้การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย มาตรการ การบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่ผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นต้องการ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

            ปี 2566 ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง พรรคการเมืองต่าง ๆ กำลังจัดทำนโยบายพรรคเพื่อที่จะใช้ในการหาเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง พวกเราคนทำงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากพวกเรา ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราคนทำงานสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่จะต้องสะท้อนปัญหาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อดูว่าพรรคการเมืองใดบ้างที่จะยินดีที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาและรัฐบาลเพื่อนำเอาข้อเสนอของพวกเราไปดำเนินการให้ปรากฎเป็นจริง

            สหภาพคนทำงานจึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ รวม 17 องค์กรที่ทำงานร่วมกันจึงได้สัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นโดยมีผู้แทนจากหลากหลายองค์กร และคนทำงานจากหลากหลายอาชีพ จนในที่สุดก็ได้จัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบาย “ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน” เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อนำไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคมนี้ และหลังจากนั้นผู้แทนองค์กรต่าง ๆ จะเดินสายไปยื่นข้อเสนอกับพรรคการเมืองทั้งหลาย

องค์กรผู้ร่วมเสนอ

  1. สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT)
  2. สหภาพไรเดอร์
  3. สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.)
  4. Nurses Connect
  5. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
  6. Equal Asia Foundation
  7. สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
  8. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet Thailand)
  9. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย (สพท.)
  10. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
  11. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
  12. Swing Thailand
  13. Empower Foundation
  14. กลุ่มทำทาง
  15. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (MWG)
  16. พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
  17. สหภาพคนทำงาน

ความหวัง และข้อเสนอ 8 หมวดของคนทำงาน

  1. การเลือกทำงาน รวมกลุ่ม-ต่อรองและมีรายได้ที่เป็นธรรม
  2. การเรียนรู้ รับข้อมูลและพัฒนาตนเอง
  3. การมีชีวิตและความปลอดภัยในสังคมและที่ทำงาน
  4. การมีปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานของตนและครอบครัว
  5. การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการยอมรับทางสังคม
  6. เสรีภาพในการแสดงออกต่อสังคมและที่ทำงาน
  7. การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและที่ทำงาน
  8. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกอัตลักษณ์ เพศสภาพ สภาพร่างกาย สภาวะสุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม

หมวดที่ 1. สิทธิการเลือกงานและการมีงานทำ การรวมตัวเจรจาต่อรองและมีรายได้ที่เป็นธรรม

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • ทุกคนในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงงานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
  • เมื่อจบการศึกษา จะได้ทำงานตามที่เราฝันอยากทำ
  • เราหวังจะมีความสุขกับการทำงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงาน
  • งานทุกงานในประเทศนี้จะเป็นงานที่เป็นธรรม (fair work) มีคุณค่า (decent work) และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  • งานทุกงานจะต้องทำให้คนทำงานมีรายได้เพียงพอต่อตนเองและครอบครัว  ค่าตอบแทนจะต้องเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยมีการกำหนดข้อตกลงการจ่ายที่ชัดเจน ไม่ควรมีใครต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
  • ไม่มีงานใดถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าต่ำต้อย งานทุกงานต้องได้รับการคุ้มครองและรับรองโดยกฎหมาย รวมถึงงานบริการทางเพศ หรือเซ็กส์เวิร์ก
  • งานที่เราทำไม่ควรกินเวลาจนทำให้เราไม่มีเวลาพักผ่อน เรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว
  • การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องสมัครใจ โดยต้องได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  • เราหวังจะได้งานที่มีความมั่นคง และไม่มีใครต้องถูกเลิกจ้างหรือต้องตกงานอย่างไม่เป็นธรรม และหากต้องตกงานจะต้องมีระบบรองรับ เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี
  • เราอยากเห็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน ทุกคนที่ทำงานควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดสภาพการทำงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการ โดยไม่ปล่อยให้นายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว
  • เราหวังว่าสิทธิในการรวมตัวและเจรจากต่อรองร่วม ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานจะได้รับการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองอย่างจริงจัง
  • เราอยากเห็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้รับการยอมรับ มีความเข้มแข็งและทำหน้าที่เป็นปากเสียงพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับคนทำงานหรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศ 99% อย่างได้ผล

ข้อเสนอของพวกเรา

  • ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO
    • ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม
    • ฉบับที่ 155 ว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
    • ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดา
    • ฉบับที่ 189 ว่าด้วยการการคุ้มครองงานบ้าน
    • ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในที่ทำงาน
  • ยกร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้หลักประกันการทำงาน ส่งเสริมและคุ้มครองคนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล
  • ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และให้มีกลไกกำกับดูแลเพื่อให้คนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และมีส่วนร่วม ตามหลักการงานที่มีคุณค่า (decent work) ของ ILO โดยเฉพาะอาชีพที่เปราะบาง เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ เช่น แรงงานในระบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง แรงงานนอกระบบ คนทำงานที่ถูกจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ พนักงานบริการทำความสะอาด พนักงานนวด รวมไปถึงผู้ค้าบริการทางเพศ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม โปร่งใส เข้าถึง ตรวจสอบได้ มีความปลอดภัย มีหลักประกัน สวัสดิภาพในการทำงาน มีชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือการบริหารงานอย่างเป็นธรรม
  • ส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนทำงานประเภทต่างๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การลดหรือยกเว้นภาษีอุปกรณ์ประกอบอาชีพ เช่น เครื่องไม้ เครื่องมือช่าง เครื่องดนตรี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย
  • ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างอย่างมีหลักการที่ชัดเจน โดยต้องเป็นอัตราเดียวที่บังคับใช้เท่ากันทั่วประเทศ โดยยึดถือเกณฑ์ ของ ILO ฉบับที่ 131 ที่กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว และมีการปรับขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และปรับปรุงระบบประกันสังคมให้เป็นการประกันสังคมถ้วนหน้า สำหรับคนทำงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงและได้รับสิทธิที่จะมีหลักประกันในการทำงานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เช่น เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
  • ในระยะยาว ยกเลิกการแบ่งแยกกลุ่มคนงานเป็น “ในระบบ-นอกระบบ” เพื่อดูแลแรงงานทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน
  • ในระยะยาว รัฐต้องจัดให้มีระบบรายได้พื้นฐานทั่วหน้า หรือ ยูบีไอ (Universal Basic Income) เพื่อสร้างความเท่าเทียมและยกระดับชีวิตของผู้คนในสังคม
  • รัฐบาลทำฐานข้อมูลแรงงานอย่างละเอียด แยกตามอาชีพ เพศ อายุ ช่วงวัย ภูมิภาค

หมวดที่ 2.   การเรียนรู้ รับข้อมูลและพัฒนาตนเอง

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • เราต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ฟรีจริง เข้าถึงได้จริง และพัฒนาตัวเราได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเสนอของพวกเรา

  • ควบคุมเวลาการทำงาน เพื่อให้สามารถทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. เรียนรู้ 8 ชม.
  • ปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนอย่างจริงจัง และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย มีเนื้อหาใช้ได้จริง และมีผู้สอนที่มีคุณภาพทัดเทียมกันในแต่ละสถานศึกษา
  • ยกเลิกหนี้ กยศ. ให้เรียนฟรีตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียนโดยไม่มีหนี้การศึกษา
  • บรรจุวิชาทักษะชีวิตจำเป็น เช่น การว่ายน้ำ การปฐมพยาบาล ในหลักสูตรการศึกษาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
  • การศึกษาที่เท่าเทียม มีมาตรฐาน ครอบคลุมทุกช่วงวัย ใกล้บ้าน
  • อบรมพัฒนาอาชีพฟรี รวมถึงมีเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เรียน โดยหลักสูตรต้องส่งเสริมทุกอาชีพอย่างหลากหลาย ตรงความสนใจของผู้เรียน เช่น มีศูนย์ฝึกกระจายทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงให้ผู้เรียนร่วมออกแบบหลักสูตรเองได้
  • เพิ่มงบประมาณสนับสนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์การเรียน และจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับทุกคน ทุกพื้นที่
  • ให้มีวิชาหรือหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน การจัดตั้งสหภาพ ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ เพศศึกษา ความหลากหลายทางเพศ และอัตลักษณ์ทับซ้อน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เช่น บรรจุหลักการ “งานที่มีคุณค่า” หรือ “ผลกระทบของเผด็จการ” ลงในหลักสูตร และอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงต่อชีวิตของประชาชนทุกคน
  • ส่งเสริมให้มีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์กระแสรองที่หลากหลาย สะท้อนความเป็นท้องถิ่น และไม่ยึดติดกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบชาตินิยม หรือราชาชาตินิยม รวมถึงให้มีพิพิธภัณฑ์แรงงานที่เข้าชมฟรีทุกจังหวัด
  • ส่งเสริมวิชามนุษยศาสตร์ สุนทรียภาพ ศิลปะ ภาษา ทักษะสร้างสรรค์ พัฒนาการเด็กเล็ก ให้ผู้เรียนเลือกศึกษาตามความสนใจ เนื่องจากการศึกษาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเรียนรู้เพื่อเร่งเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว
  • ลดเวลาเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้อง
  • สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มสมานฉันท์สังคมและเศรษฐกิจ หรือ SSE (Social Solidarity Economy) ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และมีพื้นที่สาธารณะเพื่อการศึกษานอกห้องเรียน

หมวดที่ 3.  การมีชีวิตและความปลอดภัยในสังคมและที่ทำงาน

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรฐานเดียวที่ครอบคลุมแรงงานใน-นอกระบบ และมีหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิแรงงาน
  • อยากให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีประกันสังคม หรือมีค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า
  • อยากเลิกงานตรงเวลา มี work life balance
  • มีความเป็นธรรมในการจ้างและเลิกจ้าง
  • ได้เลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการประกันสังคม
  • สังคมเปิดใจ ลดอคติ เห็นทุกอาชีพมีค่าและได้รับสวัสดิการในชีวิตและสังคมโดยไม่เปรียบเทียบค่าระหว่างอาชีพ คนขายบริการทางเพศจะไม่ผิดกฎหมายและได้เป็นแรงงาน
  • ไม่อยากมีหนี้สินในวัยทำงาน
  • อยากให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิต มีสวัสดิการที่ดี มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง
  • อยากมีรัฐสวัสดิการสำหรับบั้นปลายชีวิต
  • ทุกคนมีสวัสดิการเพียงพอที่จะร่ำรวย รองรับความต้องการในชีวิตและได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
  • อยากให้รัฐดูแลเรื่องการศึกษาอย่างทั่วถึง เรียนฟรีจนจบปริญญา
  • ให้ลูกหลานเจริญเติบโตในสถานแวดล้อมที่ดี มีความรู้ เอาตัวรอดได้ในอนาคต ห่างไกลจากยาเสพติด
  • อยากมีสุขภาพแข็งแรง
  • มีเมืองที่ดี ไม่ต้องการให้มีโจร ผู้ร้าย
  • อยากเห็นคุณภาพอากาศที่ดี PM 2.5 หมดไป อากาศบริสุทธิ์เหมือนต่างประเทศ
  • สังคมไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงและ LGBTQ+
  • มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เสมอภาค

ข้อเสนอของพวกเรา

  • ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองคนทำงาน (เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยอาชีวะอนามัยในที่ทำงาน ประกันสังคม แรงงานสัมพันธ์) และรวบรวมให้เป็นฉบับเดียวที่สามารถคุ้มครองแรงงานทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง (ได้แก่ คนทำงานภาครัฐ คนทำงานของหน่วยงานในกำกับของรัฐ คนทำงานเอกชน คนทำงานอิสระและกึ่งอิสระ คนทำงานต่างสัญชาติ) พร้อมทั้งสร้างกลไกการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • ขยายขอบเขตกฎหมายแรงงานคุ้มครอง โดยให้รวมถึงการคุกคามทางเพศ หรือการคุกคามขู่เข็ญอื่น ๆ
  • ออกกฏหมายเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายคนทำงาน ให้สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าของกิจการ นายทุน และรัฐได้อย่างยุติธรรม
  • ลดชั่วโมงทำงาน ไม่ให้เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทุกสาขาอาชีพ
  • สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่จัดอีเวนท์ มหรสพ สถานบันเทิงต่างๆ ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่างที่อาจจะเกิดกับคนทำงานได้ เช่น การทะเลาะวิวาท โรคระบาด อุปกรณ์อันตราย
  • เพิ่มความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมในสังคมและที่ทำงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการให้ครอบคลุมและสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำประปาต้องดื่มได้ รับรอง พ.ร.บ. อากาศสะอาด จัดให้มีแสงสว่างในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และจัดให้มีทางลาดชัน ลิฟท์ ทางเดินสำหรับคนพิการ
  • ขยายขอบเขตนิยามของสถานที่ทำงานให้ครอบคลุมรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย (เช่น ไรเดอร์ พนักงานกวาดขยะ คนงานก่อสร้างบนท้องถนน) และคนทำงานในทุกสถานที่ทำงานต้องได้รับการคุ้มครองประกันอุบัติเหตุตลอดเวลาทำงาน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิ
  • เพิ่มค่าเสี่ยงภัย และการคุ้มครองคนทำงานระหว่างการเดินทางไปและกลับจากสถานที่ทำงานที่หลากหลาย
  • คนทำงานทุกภาคส่วนต้องได้รับสวัสดิการการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน
  • คนทำงานทุกคนได้รับค่าชดเชยอย่างเพียงพอในการดำรงชีพอย่างมีคุณค่าในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เช่น เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ
  • กองทุนเงินทดแทนต้องคุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ
  • เงินทดแทนควรได้รับการบริหารจัดการโดยกองทุนเอง ไม่ใช่โดยบอร์ดประกันสังคม
  • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากทหารเกณฑ์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่แรงงานโดยรัฐ และการใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
  • ปฏิรูปตำรวจ-ทหาร-ศาล ให้โปร่งใส่ตรวจสอบได้ ยกเลิกระบบส่วยและตู้แดง

หมวดที่ 4. การมีปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานของตนและครอบครัว

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • ประเทศนี้จะมีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ประกันความสุขสมบูรณ์ของประชาชนทุกช่วงวัย จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
  • เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตมีพัฒนาการที่สมวัย
  • ไม่มีใครต้องอดตายเพียงเพราะไม่มีคนช่วยป้อนอาหาร
  • ไม่มีใครต้องป่วยตายเพียงเพราะยาราคาแพง หรือถูกปฏิเสธการรักษา
  • ไม่มีใครต้องไปนอนข้างถนนเพียงเพราะถูกไล่ออกจากบ้าน
  • ครอบครัวของของเราจะเปี่ยมไปด้วยความรัก ไม่มีใครในครอบครัวถูกกดดันหรือจำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิตเพราะไม่มีเงิน
  • เราจะมีชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบายไร้กังวล ไม่ต้องดิ้นรนไปจนตาย

ข้อเสนอของพวกเรา

ข้อเสนอด้านการตั้งครรภ์และมีบุตร

  • เงินอุดหนุนสตรีตั้งครรภ์จวบจนคลอด 3,000 บาทต่อเดือน
  • การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยไร้เงื่อนไข
  • เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดถึงอายุ 6 ปี
  • มีสถานเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้สถานประกอบการ เวลาทำการของสถานเลี้ยงเด็กสอดคล้องกับการทำงาน ไร้การกีดกันสัญชาติ
  • สิทธิลาคลอด 180 วัน ใช้ได้ทั้งผู้ตั้งครรภ์และผู้ช่วยเลี้ยง โดยมีการชดเชยรายได้ระหว่างลาคลอดไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต

                        ข้อเสนอด้านสุขภาพ

  • ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย และเจลหล่อลื่นฟรีถ้วนหน้า
  • ยกเลิกการกำหนดถ้วยอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
  • มีบริการสุขภาวะทางเพศทั่วถึงถ้วนหน้าทุกช่วงวัย
  • สิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีถ้วนหน้าทุกช่วงอายุ
  • รวมทุกกองทุนสุขภาพ (ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง) เป็นหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว

ข้อเสนอด้านการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

  • สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินราคาย่อมเยาในพื้นที่เขตเมือง
  • ที่อยู่อาศัย เช่าได้ในราคาย่อมเยา
  • จำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน
  • รัฐต้องรับผิดชอบชุมชนด้านอาชีพและที่อยู่อาศัยในกรณีบังคับย้ายที่อยู่อาศัย

                        ข้อเสนอด้านความมั่นคงในอาชีพ

  • กำหนดให้ค่าตอบแทนแก่นักศึกษาในระหว่างที่มีการฝึกงาน รวมถึงการอุดหนุนค่าเดินทาง ค่าอาหาร และสวัสดิการอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครอบชีพจริง โดยต้องเป็นอัตราที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีเงินเก็บ อย่างน้อยในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำให้กลายเป็น “อัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต” ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า
  • ค่าแรงเพียงพอสำหรับคนทำงานและครอบครัว สัมพันธ์กับรายจ่าย
  • ชดเชยรายได้นักดนตรีกรณีที่มีประกาศห้ามแสดงมหรสพหรืองานสังสรรค์รื่นเริง
  • ยกเลิกการกำหนดเครื่องดนตรีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
  • ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับแรงงานนอกระบบ ไมโครเอนเตอร์ไพรส์เพื่อเข้าถึงอุปกรณ์การทำงาน (เช่น รถยนต์ หรือเครื่องดนตรี)

                        ข้อเสนอด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต

  • ประกันรายได้ระหว่างว่างงานในอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต ในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน
  • บำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุรับ 3,000 บาทต่อเดือน
  • เบี้ยความพิการ 3,000 บาทต่อเดือน
  • เพิ่มอัตราการจ้างผู้ช่วยคนพิการ ให้สอดคล้องกับสัดส่วนคนพิการ และการเข้าถึงบริการผู้ช่ายคนพิการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (personal assistance) ตัองไม่ถูกจำกัดหรือเลือกปฏิบัติด้วยอายุ เพศ สัญชาติ ประเภทความพิการ และระดับความพิการ
  • รับประกันว่ารายรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยให้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
  • ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ให้แพงเกิน
  • ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีให้เป็นแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
  • ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้าและพลังงานทั้งหมด

                        ข้อเสนอด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิต

  • ขนส่งสาธารณะปลอดภัย ราคาถูกหรือฟรี มาตรฐานเดียวทั่วประเทศ สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน ผู้พิการเข้าถึงได้
  • รถขนส่งสาธารณะต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าให้หมด
  • ให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมกันในชุมชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การแสดงศิลปะ ดนตรี การค้าหาบเร่แผงลอย
  • ควบคุมธุรกิจไม่ให้ปล่อยมลพิษเยอะเกินไป ไม่เน้นการจ่ายค่าชดเชยคาร์บอนเครดิต
  • การถือครองกรรมสิทธิที่ดินไม่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา
  • น้ำประปาสะอาดดื่มได้ทั่วประเทศ
  • ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรีในกรณีที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ควบคุมโรค

หมวดที่ 5. การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการยอมรับทางสังคม

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • เราอยากเห็นสังคมที่คนเท่ากัน ไม่ถูกแบ่งแยกด้วยอาชีพ สถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรูปแบบไหน เพศอะไร เชื้อชาติใด จะต้องได้รับการยอมรับ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
  • เกษียณอายุอย่างมีคุณค่า มีสวัสดิการรองรับ
  • ยกเลิกการแบ่งแรงงานเป็น “นอกระบบ” กับ “ในระบบ”
  • ไม่มีลูกจ้างชั่วคราว จะมีแต่ “ลูกจ้างประจำเท่านั้น”
  • เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผู้ประกันตนทุกคนต้องได้เลือกกรรมการเอง
  • จะมีสิทธิสมรสเท่าเทียม สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือใช้คำนำหน้าชื่อที่เป็นกลางทางเพศ (เจนเดอร์ เอ็กส์) และขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในการรับอุปการะบุตรและสถานะสมรส
  • ไม่ถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ และไม่ถูกละเมิดความเป็นมนุษย์ด้วยกฎหมาย และนายจ้าง
  • ผู้หญิง = คน มีสิทธิตัดสินใจควบคุมร่างกายตัวเอง ต้องเข้าถึงสิทธิยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ฟรี และเป็นธรรม
  • ทุกคนจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
  • sex worker คืออาชีพหนึ่ง ต้องไม่ผิดกฎหมาย และเข้าถึงประกันสังคม
  • สร้างความเป็นธรรมและคุ้มครองคนทำงานแพลตฟอร์มออนไลน์
  • ประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
  • แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน ไม่เอื้อต่อนายทุน

ข้อเสนอของพวกเรา

  • บรรจุหลักสูตรเรื่องสิทธิแรงงาน ส่งเสริมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถาบันการศึกษาด้านแรงงานระดับประเทศ
  • ยกเลิกโรงเรียนเตรียมทหาร ยกเลิกข้อบังคับที่จำกัดเพศในการเข้าถึงตำแหน่งทางทหาร เข้าถึงการศึกษาทางทหาร
  • ยกเลิกคำว่า “เจ้านาย นายจ้าง ลูกจ้าง” เปลี่ยนเป็นคำว่า “ผู้จ้าง ผู้รับจ้าง คนทำงาน”
  • ผ่านร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และบังคับใช้จริงอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้มีอัตลักษณ์ทับซ้อน
  • ตรวจสอบทัณฑสถาน เรือนจำ สถานพินิจฯ เพื่อขจัดแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิในเรือนจำ รวมถึงปรับปรุงให้เรือนจำเป็นสถานที่บำบัดขัดเกลาผู้กระทำผิดอย่างคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังด้วย
  • สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) ต้องให้บริการอย่างปลอดภัย เป็นมิตร และเคารพสิทธิของผู้ใช้บริการ รวมถึงในกรณีหมอไม่พร้อมให้บริการด้วยตนเอง ต้องมีระบบส่งต่อที่รวดเร็ว ไม่ตำหนิตีตรา ไม่เกลี้ยกล่อมให้ตั้งครรภ์ต่อ 
  • ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานหรือการบังคับทำความเคารพ
  • ยกเลิกโทษประหารชีวิต
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ปัญหาของทุกสาขาอาชีพเพื่อให้สังคมเคารพคุณค่าทุกอาชีพ
  • สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี (สวมกำไลข้อเท้า EM) หรืออดีตนักโทษที่พ้นโทษให้กลับเข้าสู่การประกอบอาชีพผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดโอกาสให้สมัครงาน (ยกเว้นอดีตนักโทษบางคดี เช่น คดีล่วงละเมิดทางเพศ)

หมวดที่ 6 เสรีภาพในการแสดงออกทั้งในสังคมและในที่ทำงาน

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • ทุกคนจะมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทุกพื้นที่รวมไปถึงในสถานที่ทำงาน โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิและถูกคุกคาม
  • เราฝันถึงการกระจายอำนาจในทุกท้องที่ ให้ผู้คนในแต่ละพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการปกครองกันเอง ไม่ให้อำนาจรวมศูนย์กระจุกตัวอยู่กับส่วนกลางเท่านั้น
  • คนทำงานมีพื้นที่ มีเวทีที่จะพูดคุยและเจรจาต่อรองกับรัฐ อภิสิทธิ์ชนและนายจ้างได้
  • การชุมนุม การประท้วง และการนัดหยุดงานถือเป็นสิทธิพื้นฐาน เป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำได้
  • เราหวังว่ากฎหมาย ม.112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลั่นแกล้ง ทำร้ายผู้คนที่เห็นต่างจะถูกยกเลิกไปในเร็ววัน
  • เราหวังว่าสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมของคนทำงานทุกภาคส่วนจะได้รับการยอมรับอย่างจริงจังในประเทศนี้
  • รัฐจะจัดสรรงบประมาณ พื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกันในการจัดกิจกรรมแสดงออกทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ห้องสมุด หอศิลปะ พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ผู้คนมาใช้และแสดงออกร่วมกัน
  • เราหวังจะมีพรรคการเมืองที่คนทำงานเป็นเจ้าของ หรือเสนอตัวเป็นตัวแทนที่จะรักษาปกป้องผลประโยชน์ให้กับคนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่ม 99%

ข้อเสนอของพวกเรา

  • ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์
  • ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 116  ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น
  • ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 117 ว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพในการนัดหยุดงาน
  • ยกเลิก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมต้องไม่ถูกดำเนินคดี
  • คุ้มครองสหภาพแรงงานและการชุมนุมในสถานประกอบการ โดย
    • แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
    • การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิทธิและเสรีภาพของคนทำงาน กระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงแรงงาน
    • คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ไม่ให้มีการบังคับเปิดเผยชื่อของผู้ก่อการ
  • ยกเลิกความพยายามในการผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม (No NPO Bill)
  • ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะศาลแรงงาน
  • การวิจารณ์รัฐต้องไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท
  • คุ้มครองสิทธิการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ส่วนตัวของคนทำงาน เช่น การสักลาย การแต่งกาย
  • ยกเลิกการบังคับแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันต่าง ๆ หรือแนวคิดชาติวัฒนธรรมเดี่ยว
  • ยกเลิกกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนใต้

หมวดที่ 7. การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและที่ทำงาน

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • คนจะเท่ากัน จะเกิดความเสมอภาคเท่าเทียม
  • สังคมจะปราศจากชนชั้น อำนาจสูงสุดจะเป็นของคน 99%
  • ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
  • รัฐจะนำภาษีของประชาชนมาบำรุงประโยชน์สุขของประชาชน
  • จะมีรัฐบาลของคนทำงาน โดยคนทำงาน เพื่อคนทำงาน
  • ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะสหภาพจะมีความเข้มแข็ง
  • จะมีรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และนักการเมืองจะทำตามสัญญา
  • สังคมจะเข้าใจความสำคัญและให้เกียรติ คนทำงานด้านการดูแล (care giver) มากขึ้น
  • สักวันหนึ่งแรงงานทุกคนจะมาอยู่ในสหภาพคนทำงานและมีอำนาจต่อรองกับรัฐและทุน
  • จะมีพรรคแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคน 99% สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
  • จะมีการลงทุนและเศรษฐกิจเติบโตโดยไม่ทิ้งหรือกดขี่ขูดรีดคนทำงาน คน 99%
  • คนทำงานทุกอาชีพจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีค่าแรงที่เป็นธรรม มีสวัสดิการครอบคลุม ทำงานอะไรก็ชีวิตดีมีความสุขได้
  • คน 99% จะมีส่วนตัดสินใจในทรัพยากร
  • จะมีทีมบริหารและรัฐบาลที่เข้าใจแรงงาน คนทำงาน และเห็นหัวประชาชน
  • วงการภาพยนตร์ทั้งระบบจะได้รับการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาอย่างครบวงจร และมีพื้นที่ให้ทุกความฝัน
  • คุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้น และสังคมจะเป็นธรรม

ข้อเสนอของพวกเรา

  • สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
  • บำนาญประชาชนถ้วนหน้าเทียบเท่าข้าราชการ
  • สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้าและมีคุณภาพเทียบเท่าข้าราชการ
  • เอาผิดคณะรัฐประหาร การรัฐประหารนิรโทษกรรมไม่ได้ และไม่มีอายุความ
  • ปฏิรูปศาล ให้ยึดโยงกับประชาชนคน 99%
  • ปฏิรูปตำรวจทหาร ให้ยึดโยงกับประชาชนคน 99%
  • ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน
  • ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ คสช.
  • สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือเหลือสภาเดียว
  • ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเผด็จการ คสช
  • ปลดล็อกท้องถิ่น อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น งบประมาณท้องถิ่น 50% ส่วนกลาง 50%
  • สิทธิเรียนฟรีถ้วนหน้าถึงระดับมหาวิทยาลัย ด้วยคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม
  • ขยายความครอบคลุมประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกคน
  • ยกระดับสิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสิทธิข้าราชการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  • บอร์ดประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งของคนทำงานทุกคน
  • กฎหมายแรงงานฉบับเดียว ครอบคลุมคนทำงานทั้งหมด ทั้งรัฐและเอกชน
  • กฎหมายควบคุมบริษัท ให้ปฏิบัติต่อชุมชนและแรงงานทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม
  • กฎหมายสิทธิการมีส่วนร่วมบริหาร โดยให้บอร์ดบริหารครึ่งนึงมาจากการเลือกตั้งของคนทำงานในบริษัทและสถานประกอบการ (หรือเรียกว่า ‘โคดีเทอร์มิเนชั่น ลอว์’)
  • กฎหมายประชามติที่ยอมรับอำนาจทางตรงของประชาชนคนทำงานในการเสนอ ให้ผ่าน หรือปัดตกกฎหมาย
  • กฎหมายที่ยอมรับให้ประชาชนมีสิทธิปัดตก หรือระงับกฎหมายที่เอื้อบริษัททุนหรือนายทุนได้ง่ายและทันกาล
  • กฎหมายที่กระทบต่อประชาชนคนทำงาน ต้องทำประชามติเสมอ
  • กฎหมายรับรองให้คนทำงานทุกภาคส่วนจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถร่วมกันต่อรองหลายสหภาพฯ ได้
  • กฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทต้องต่อรองกับสหภาพแรงงานเสมอ
  • สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทุนเงินกู้อย่างถ้วนหน้าของแรงงานทุกภาคส่วน
  • เลือกตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคนทำงาน
  • กฎหมายต้องกำหนดให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายและการจัดระเบียบพื้นที่ มีพื้นที่ทำการค้าอย่างถูกต้องที่ค้าขายได้จริง
  • พ.ร.บ. กองทุนเพื่อประชาธิปไตยในเศรษฐกิจและที่ทำงาน ส่งเสริมสนับสนุนให้ทรัพยากรแก่เพื่อเพิ่มพูนจำนวนธุรกิจที่บริหารแบบสหกรณ์
  • สิทธิการรวมตัวประท้วงหยุดงานเพื่อต่อรองกับรัฐและทุน

หมวดที่ 8. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกอัตลักษณ์ เพศสภาพ สภาพร่างกาย สภาวะสุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม

ความหวังของพวกเรา

เราหวังว่า

  • จะมี ‘รัฐธรรมนูญสีรุ้ง’ ที่พูดถึงสิทธิสมรสเท่าเทียมสำหรับทุกคน
  • ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ไม่แบ่งแยกและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ฐานะ ชนชั้น อาชีพ สภาพร่างกาย สุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
  • ผู้ทำแท้งจะไม่มีโทษทางอาญา และไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการ
  • ผู้ใช้แรงงานจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและทำงาน เช่น แรงงานหญิงได้รับโอกาสการทำงานเท่ากับผู้ชาย
  • สังคมเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงและผู้มีเพศหลากหลายจะได้รับโอกาสเท่าผู้ชาย
  • ชีวิตของเราจะถูกคุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตาย
  • การข้ามเพศและผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการฟรี
  • ผู้ติดเชื้อ HIV จะไม่ถูกดูหมิ่น รังเกียจ หรือถูกบังคับตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน
  • ผู้ค้าบริการทางเพศ (sex worker) ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิแรงงาน
  • จะไม่มีชนชั้นในระบบราชการ และพนักงานราชการเข้าใจปัญหาของประชาชน
  • รัฐมีทรัพยากรพื้นฐาน เช่น การศึกษา ที่ดินทำกิน เตรียมไว้ให้ประชาชนทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน และกระจายทรัพยากรพื้นฐานนั้นอย่างเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอของพวกเรา

  • สิทธิแรงงานและสิทธิทางสุขภาพพื้นฐานต้องคำนึงถึงผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สิทธิการข้ามเพศ สิทธิการครอบครองและใช้ของเล่นทางเพศ (หรือเซ็กส์ทอย) และสิทธิลาป่วยเนื่องจากประจำเดือน
  • ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ว่าด้วยความผิดของผู้ทำแท้ง และขยายสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้เข้าถึงสิทธิทำแท้งปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ยกเลิกระบบไบนารี่ หรือการจำกัดให้มีเฉพาะชาย-หญิง ในการระบุคำนำหน้าชื่อ โดยเพิ่มคำนำหน้าที่เป็นกลางทางเพศ หรือ ‘เจนเดอร์ เอ็กส์’ ด้วย
  • ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ขจัดระบบส่วยตำรวจ และคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศ หรือเซ็กส์เวิร์กเกอร์ ในฐานะแรงงาน
  • ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม (ไม่เอา พ.ร.บ. คู่ชีวิต), ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และร่าง พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
  • ขยายสิทธิลาคลอดโดยได้รับเงินชดเชยเป็น 180 วัน โดยให้มารดาและคู่ครองแบ่งกันได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะถูกเลิกจ้างด้วยเหตุตั้งครรภ์หรือลาคลอดอยู่ฝ่ายเดียว รวมถึงสอดส่อง ปราบปราม ลงโทษนายจ้างที่เลิกจ้างผู้ตั้งครรภ์อย่างไม่เป็นธรรมด้วย
  • รัฐต้องจัดให้มีทรัพยากรพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ประชาชนทุกคนในมาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงได้ง่าย เช่น สถาบันการศึกษา พื้นที่สาธารณะ รถขนส่งสาธารณะ
  • ทรัพยากรพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ หรือที่เอกชนจัดให้ในสถานประกอบการ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคลอย่างเข้าใจและเป็นมิตร เช่น ห้องน้ำที่เป็นกลางทางเพศ หรือติดตั้งอุปกรณ์สำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ
  • ยกเลิกศาสนาประจำชาติทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ต้องไม่บังคับเรียนศาสนาในสถานศึกษา และยกเลิกการห้ามขายแอลกอฮอล์หรืองดงานรื่นเริงในวันสำคัญทางศาสนา
  • รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในการงานอาชีพ และแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาโดยเร็ว เช่น ยกเลิกการระบุเพศในประกาศรับสมัครงาน การไม่บังคับแต่งกายตามเพศกำเนิดในที่ทำงาน การอนุญาตให้ผู้หญิงสมัครเป็นนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายสิบทหารบก นักเรียนจ่าทหารเรือ นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนนายร้อย จปร. นักเรียนนายเรือ หรือนักเรียนนายเรืออากาศได้
  • รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบทำเอกสารอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยเน้นการส่งเสริมให้ถูกกฎหมายมากกว่าปราบปรามจับกุม และต้องรับรองว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ
  • ขยายสิทธิเลือกตั้งให้คนไร้สัญชาติในไทย พระภิกษุสงฆ์ และผู้ต้องขังในเรือนจำ