สสค.สระบุรี-บริหารเชิงรุก! จัดประชุมไตรภาคี หวังลดความขัดแย้งในเขตพื้นที่!!

สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี เพิ่มแผนบริหารเชิงรุก หลังข้อขัดแย้งในพื้นที่เพิ่ม – จัดประชุมเชิงปฏิบัติการไตรภาคี เชิญนายจ้าง-ลูกจ้างหารือ ร่วมกำหนดนโยบาย..

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 สำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสระบุรี ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตามโครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานในสภาวะเศรษฐกิจ ณ โรงแรมเกี่ยวอัน จังหวัดสระบุรี โดยมีฝ่ายนายจ้าง สหภาพแรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าร่วมกว่า 30 คน มีนายนรินทร์ บุญทรัพย์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

นายนรินทร์ บุญทรัพย์ สวัสดิการฯกล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งเกิดจากการไม่เข้าใจกัน และไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักว่า  ลูกจ้าง นายจ้าง ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องไม่มองแต่ผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรธุรกิจ และในส่วนของภาครัฐยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ด้านนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง ได้เสนอมุมมองปัญหา และการแก้ไขความขัดแย้งด้านแรงงานในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจว่า แนวทางเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์  นายจ้างลูกจ้างคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายรู้จักให้และการรับ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน รู้บทบาทหน้าที่ทั้งสองฝ่าย และควรมีนโยบายและทิศทางด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างมีแบบแผน ให้โอกาสลูกจ้างได้แสดงความคิดเห็นเสนอแนะ ส่วนบทบาทสหภาพแรงงาน จะต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์จนเกินไป ต้องมีเหตุและผลความเป็นไปได้  กรรมการสหภาพส่งเสริมระเบียบวินัยของลูกจ้างยอมรับการปรึกษาหารือ เพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กร และที่สำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความจริงใจต่อกันและมีความสุจริตใจในการร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

ดร.วรพจน์ กาญจนาภา ผู้ช่วยรองประธานบริษัทไทยอคริลิคไฟเบอร์ จำกัด ได้เสนอมุมมองผลกระจากความขัดแย้งด้านแรงงานในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่อการลงทุนว่า  เมืองไทยประสบภาวะวิกฤตใหญ่ถึง  2 ครั้ง คือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหาย รวมทั้งมีผลกระทบทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางด้านการส่งออก การท่องเที่ยว ภาคสินเชื่อ และการลงทุน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งผลกระทบทั้งหมดเป็นผลกระทบภาคกว้าง การแข่งขันในการลงทุน ตลาดทุน ตลาดเงิน กระทบรายได้ประชาชาติ

ในส่วนภาคแรงงานนั้นก็มีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก หรือ มีการลดผลประโยชน์และสวัสดิการลง ทำให้มีผลกระทบด้านแรงงานสัมพันธ์ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยต้องมีความจริงใจต่อกันบนหลักการพูดคุยอย่างมีเหตุผล

                                                             

พรนาราย ทุยยะค่าย นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวพื้นที่สระบุรี  รายงาน