สร.ไทยเรยอน ครบรอบ 35 ปีไม่มีงานเลี้ยงใหญ่

snapshot20

งานเลี้ยงครบรอบ 35 ปีสหภาพแรงงานไทยเรยอน เป็นเพียงการนั่งล้อมวงกินข้าวกันของบรรดาสมาชิกสหภาพและแขกที่มาร่วมงาน ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีทำบุญเลี้ยงพระที่จัดขึ้นในบริเวณเต็นท์ชุมนุมหน้าโรงงานไทยเรยอน จังหวัดอ่างทอง

” เดิมทีสหภาพวางแผนจะจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีอย่างยิ่งใหญ่ เตรียมสั่งโต๊ะจีน 180 โต๊ะ เสื้อครบรอบ 35 ปีก็ทำเตรียมไว้แล้ว เพราะที่ผ่านมา การจัดงานใหญ่ในวาระสำคัญของสหภาพนอกจากเพื่อประกาศคุณค่าและศักดิ์ศรีขององค์กรแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายบริหารของบริษัทด้วย….”

ไข่มุกข์ จันทโคตร์ รองประธานสหภาพฯเริ่มเรื่อง และเล่าต่อด้วยสีหน้าข่มความรู้สึก

” ทีนี้เราก็ต้องเปลี่ยนแผนเพราะเกิดเหตุการณ์พิพาทแรงงานถึงกับต้องนัดหยุดงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน และนายจ้างก็ประกาศปิดงานเมื่อ 20 กันยายน ซึ่งนานกว่า 1 เดือนมาแล้ว สภาพจิตใจจึงยังไม่พร้อมสำหรับการเลี้ยงเฉลิมฉลอง รู้สึกเศร้าใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์กับนายจ้างก็ค่อนข้างดีมาตลอด คนงานก็รักบริษัท และทุ่มเททำงานมายาวนานจนบริษัทมีการเจริญเติบโตขยายกิจการออกไปมาก การชุมนุมก็ไม่ใช่สิ่งที่คนงานอยากทำ เพราะยากลำบาก ตากแดดตากฝน และยังมีสมาชิกต้องต้องตายไประหว่างการชุมนุมอีกด้วย….”

ซึ่งสมาชิกที่เสียชีวิตไปนั้นชื่อ พจน์ นพศรี เป็นสมาชิกที่มีจิตใจยืนหยัดในการต่อสู้มาก จากครอบครัวมาอยู่ที่ชุมนุมทุกวันไม่เคยขาด และยังคอยช่วยงานในที่ชุมนุมด้วย ภายหลังค่ำคืนที่ฝนตกหนัก พอเช้าวันที่ 17 ตุลาคม พจน์ก็ช่วยเช็ดและใช้พัดลมเป่าเก้าอี้ให้แห้งเตรียมไว้สำหรับคนที่จะมาชุมนุม จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้ารั่วจากพัดลมดูดเสียชีวิต (อ่านเรื่องของ พจน์ นพศรี  ตามลิงค์ข้างล่าง)

https://voicelabour.org/%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B5/
snapshot16 11snapshot12

ไข่มุกข์พนมมือเมื่อพระเริ่มสวด แต่ยังเล่าต่อว่า

” สงสัยว่าเป็นนโยบายของบริษัทหรือเปล่าที่ต้องการจะล้มสหภาพ เพราะที่ไทยเรยอนค่าจ้างและสวัสดิการถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่มเบอร์ล่าซึ่งมีหลายบริษัทในเครือ ที่นีมีสหภาพมานานและช่วยต่อสู้เรียกร้องจนคนงานมีสภาพการจ้างที่ดี ชีวิตมีความมั่นคงอย่างทุกวันนี้ นายจ้างจึงอาจต้องการเบรคตรงนี้ “
และยังพูดถึงการเจรจาที่ต้องยืดเยื้อยาวนานว่า

” บริษัทถือโอกาสทำการซ่อมบำรุงใหญ่ ( Shutdown) โดยการประกาศปิดงานก็ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง และใช้วิธีจ้างผู้รับเหมาเข้าไปทำงานซ่อมแทน ซึ่งใช้คนงานเหมาค่าแรง 2-300 คนที่มีค่าแรงถูกกว่าคนงานประจำ ส่วนการซ่อมใหญ่ก็คงเป็นการปรับปรุงระบบบำบัดอากาศและน้ำเสียซึ่งเคยถูกชาวบ้านร้องเรียน จนกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตรวจและสั่งให้หยุดปรับปรุง ซึ่งก็ตรงกับช่วงหยุดงานปิดงานพอดี “

ส่วนข้อขัดพิพาทที่สหภาพแรงงานเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อคนงานนั้น ไข่มุกข์บอกว่า หลักๆก็คือเรื่องโบนัสที่เคยได้ 136 วันของค่าจ้าง แต่บริษัทจะขอให้เพียง 45 วัน แล้วพิจารณาผลประกอบการเอา 5%ของกำไรมาเฉลี่ยให้ อีกเรื่องก็คือการปรับขึ้นค่าจ้างตามเกรดก็ถูกลดหมดเช่น เกรด A จากเดิมขึ้น 11% ก็เหลือ 4% แล้วยังมีค่าครองชีพก็ถูกขอปรับลด ซึ่งเป็นเรื่องที่คนงานยากจะยอมรับได้ จึงเกิดการนัดหยุดงานขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่ตั้งสหภาพแรงงานมา 35 ปี โดยมีสมาชิกลงมตินัดหยุดงาน 736 คน จากสมาชิกทั้งหมด 849 คน ทั้งนี้มีพนักงานทั้งหมดรวมฝ่ายบริหารจำนวน 980 กว่าคน  

ซึ่งเรื่องที่เกิดความขัดแย้งหนักจนถึงกับต้องนัดหยุดงานและปิดงานนั้น ศรีโพธิ์ วายุพักตร์ ที่ปรึกษาของสหภาพ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานไทยเรยอนมาอย่างยาวนาน ก็รู้สึกแปลกใจและคาดไม่ถึง

” ไม่รู้ว่าบริษัทปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะนับแต่เริ่มก่อตั้งสหภาพที่ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในขั้นตอนขอจดทะเบียนเพราะนโยบายรัฐท้องถิ่นไม่อยากให้มีสหภาพเกิดขึ้นในแถบอ่างทอง ซึ่งบริษัทเองก็รู้เรื่องแต่ก็ไม่ขัดขวาง และกว่า 20 ปีที่ผ่านมาต่างก็ใช้วัฒนธรรมองค์กรที่ประนีประนอมสูง เคยมีบ้างที่มีทีท่าว่าจะนัดหยุดงานแต่ก็คลี่คลายไปได้ พอมาในช่วง 10 ปีหลัง แม้บริษัทไม่มีท่าทีต่อต้านให้เห็นชัดเจน แต่ก็รู้สึกว่าจะต่อต้านอยู่ลึกๆ เห็นได้จากการเจรจาข้อเรียกร้องระยะหลังๆต้องใช้เวลายาวนานขึ้น บริษัทอาจต้องการลดศรัทธาของสมาชิก ลดความน่าเชื่อถือของสหภาพที่สามารถเรียกร้องสวัสดิการได้เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด บริษัทคงคิดถึงเรื่องธุรกิจมากกว่าเรื่องแรงงานสัมพันธ์ที่ดีอย่างที่เคยเป็น “

ศรีโพธิ์เล่าให้ฟังหลังพระฉันเพลเสร็จ ก่อนขอตัวไปร่วมวงกินข้าวกับสมาชิกและแขกผู้มาร่วมทำบุญ
หลังอิ่มท้อง เฉลย ชมบุหรั่น ประธานสหภาพฯ หัวเรือใหญ่ผู้กุมทิศทางการชุมนุมต่อสู้ครั้งนี้ นั่งขัดตะหมาดพักผ่อนอยู่ในเต็นท์ หลังต้องต้อนรับแขกเหรื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวแรงงานรวมทั้งฝ่ายบริหารที่มาร่วมงานด้วยตั้งแต่เช้า และเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร เฉลยตอบแบบครุ่นคิดว่า

” ตอนนี้ก็คงต้องยืนหยัดเคียงข้างคนงานเพื่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่ก็สังเกตเห็นว่าคนงานเริ่มมีปัญหาบ้างเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะลูกใกล้เปิดเทอม หลายคนยังเป็นหนี้นอกระบบ มีหนี้ผ่อนบ้านผ่อนรถ “

ซึ่งในการแก้ปัญหานั้น สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานไทยเรยอนก็ได้เปิดให้สมาชิกกู้กรณีพิเศษคนละ 10,000 บาท นอกเหนือไปจากที่ใช้เงินจากกองทุนนัดหยุดงานของสหภาพที่มีอยู่ 16 ล้านบาท จ่ายให้สมาชิกที่เข้าร่วมชุมนุมคนละ 200 บาทต่อวัน โดยต้องมาเซ็นชื่อร่วมชุมนุมกันสัปดาห์ละ 3 วันคือ จันทร์ พุธ ศุกร์ ซึ่งก็ทำให้การต่อสู้ยังคงเหนียวแน่นแม้ว่าจะผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เฉลย ในฐานะผู้นำองค์กรที่รับผิดชอบชะตากรรมของสมาชิกทุกคนก็บอกว่า หนทางที่จะคลี่คลายปัญหาก็อยู่ที่แต่ละฝ่ายต้องยอมถอยบ้างให้มาอยู่ในจุดที่สมเหตุสมผล และต้องมีความจริงใจที่จะไม่พยายามทำให้เหตุการณ์เลยเถิดจนไปสู่จุดที่รุนแรงแตกหักมากกว่านี้ เพราะต่างก็อยู่กันด้วยดีมานาน

นักสื่อสารแรงงาน
รายงานจากจังหวัดอ่างทอง