สร.รฟท.เร่งตั้งกรรมการสอบหาผู้กระทำผิดทำให้รัฐเสียหาย กรณีโฮปเวลล์

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
อ้างถึง 1.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดง อ.221 – 223 / 2562 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562
2.คำสั่งศาลปกครองกลาง สำนวนคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562
3.คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 241-243/2563 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เรื่อง ขอให้พิจารณาเร่งรัดตั้งกรรมการสอบหาผู้กระทำผิดทำให้รัฐเสียหาย กรณีค่าเสียหายจากโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ของบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 กลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงคมนาคม (ผู้ร้องที่ 1) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ผู้ร้องที่ 2) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยให้คืนเงินค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานจำนวน 2,850 ล้านบาท ชดใช้เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท และคืนเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38.75 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 12,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมากระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯได้มีคำร้องยื่นต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีโครงการดังกล่าวใหม่ โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน “กรณีโฮปเวลล์” ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป และ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงที่กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟฯ โต้แย้งประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การเลิกกันของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของผู้ร้องทั้งสอง (คค.,รฟท.) และ ผู้คัดค้าน (บ.โฮปเวลล์) มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดี และผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับผู้ร้องทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานที่จะนำเสนอต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นพยานหลักฐานใหม่อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ คำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ประกอบวรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฯต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้คืนเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัดชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 24,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทและการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี และการที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในการกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งหนังสือ 4 ฉบับ ขอให้กระทรวงคมนาคมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 25,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และศาลปกครองเพื่อวินิจฉัย เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นทางกระทรวงได้ทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ เพราะการรื้อฟื้นคดีถือเป็นข้อมูลใหม่ คือเรื่องความไม่ชอบตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ขณะที่เรื่องเดิมคือเรื่องของอายุความ นั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 40 (4) “ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ” ในประเด็นดังที่กล่าวมา สร.รฟท. เคารพในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่พยายามต่อสู้คดีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา และคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ อย่างไรก็ตาม สร.รฟท.เห็นว่ามีข้อเท็จจริงบางประการที่ยังมิได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลในการเสนอข้อมูลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้มีการพิจารณาคดีดังกล่าวใหม่

ดังนั้นเพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน และการรถไฟฯสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จึงขอหยิบยกประเด็นเสนอให้ทางรัฐบาลพิจารณาที่จะต่อสู้คดีใหม่ดังนี้
1.หากมีข้อเท็จจริงอื่นที่นอกเหนือจากการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาคดีใหม่ บนเหตุผลข้อเท็จจริงใหม่ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากมีช่องทางในการดำเนินการทางคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการในการทำสัญญา การยกเลิกสัญญา ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคู่สัญญาให้ได้รับผลประโยชน์ หรือกระทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการทำโครงการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หรือมีการทุจริตเกิดขึ้น ดังเช่น กรณีสัญญาออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG ทั้งๆ ที่คดีนี้ดำเนินมากว่า 20 ปี ซึ่งกรณีค่าเสียหายจากโครงการ ฯ ของบริษัทโฮปเวลล์ฯ ก็เช่นเดียวกัน ขอให้รัฐบาลเร่งรัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการจนถึงที่สุดทุกช่องทางตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม
2.โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เป็นการก่อสร้างระบบการขนส่งทางบก ดำเนินโครงการโดยบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีบริษัทแม่คือ บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ที่จดทะเบียนในต่างประเทศมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ในกรณีนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ได้มีข้อกำหนดในกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบธุรกิจการขนส่งทางบกและก่อสร้าง จะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนและได้ใบรับรองอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (ปัจจุบันคือ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ก่อนที่จะมีการเข้าทำสัญญาสัมปทาน อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ไม่ได้มีมติให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 แต่ด้วยเหตุข้อบกพร่องประการใด ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาผู้เกี่ยวข้องจึงไม่ได้มีการตรวจสอบก่อนที่จะลงนาม อีกทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ยังไม่ปรากฎในข้อต่อสู้ในชั้นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และในชั้นศาลปกครอง
3. โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการโดยบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทจะจัดหาเงินมาลงทุนเองโดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงินในเวลานั้น(ปี พ.ศ. 2534) ประมาณ 80,000 ล้านบาท การก่อสร้างมีระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ 60 กิโลเมตร โดย บ.โฮปเวลล์ฯจะได้รับสิทธิสร้างถนนยกระดับ เรียกเก็บค่าผ่านทางคู่ขนานกับทางรถไฟยกระดับ และได้รับสัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับด้วยรวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์สองข้างทาง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ แต่เนื่องจากโครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จและเกิดข้อพิพาทกัน ซึ่งโครงการนี้หากดำเนินการจนแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการขนส่งผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร และจะเป็นการช่วยลดปริมาณความหนาแน่นของระบบจราจรและยานพาหนะขนส่งลงเป็นอย่างมาก ในกรณีที่การรถไฟฯจะเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินสองข้างทาง ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุแห่งข้อพิพาทของสัญญา ในประเด็นนี้ ความเสียหายที่การรถไฟฯ ประเทศชาติ และประชาชนต้องสูญเสียประโยชน์ไป ขอให้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม คำนวณมูลค่าความเสียหายจากการสูญเสียโอกาสว่าเป็นมูลค่าเท่าใดเพื่อยกขึ้นมาเป็นประเด็นเหตุผลในการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลพิจารณาใหม่

ภายใต้เจตจำนงของรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน จึงต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ประกอบกับก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20สิงหาคม 2563 สร.รฟท. ได้ยื่นหนังสือในลักษณะเดียวกันแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ โดยรัฐมนตรีฯ มอบหมายให้ผู้ว่าการรถไฟฯนายนิรุฒ มณีพันธ์ให้เป็นผู้รับหนังสือแทนซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯก็ยืนยันชัดเจนในวันดังกล่าวว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดทุกช่องทาง ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้ตอกย้ำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอน หาช่องทางในการต่อสู้คดีทุกช่องทางจนถึงที่สุดเหมือนกรณีคลองด่าน ถ้าพิสูจน์ทราบในภายหลังว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง และทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ผู้ที่เป็นคนตัดสินใจก็ต้องถูกดำเนินคดี ทำให้รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด จึงถือเป็นเรื่องที่ดี น่าชื่นชม สร.รฟท.ขอให้กำลังใจรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าการรถไฟฯ รวมทั้งคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย และขอสนับสนุนในการต่อสู้คดีทุกช่องทางให้ถึงที่สุด ในส่วนของ สร.รฟท.ก็จะดำเนินการอีกทางหนึ่งคู่ขนานกันไปสู่เป้าหมายร่วมกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป