“สร.รฟท.ค้านปิดหัวลำโพง เพิ่มภาระค่าเดินทางประชาชนหาเช้ากินค่ำ”

สร.รฟท.ค้านปิดหัวลำโพง เพิ่มค่าเดินทาง กระทบประชาชน รัฐควรลดภาระค่าครองชีพ

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ สร.รฟท. เรื่อง “ขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ”

กิจการรถไฟไทย หรือ “กรมรถไฟหลวง” ได้ก่อกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5“พระปิยมหาราช” ซึ่งเกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่าน โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา        ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟ เพื่อให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว ที่พระองค์ท่านทรงเสด็จมากระทำพระฤกษ์ แซะดิน ตอกหมุด ตรึงรางรถไฟ ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2434 ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ เรา รู้สำนึกแน่อยู่ว่าธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนย่อมอาศัยถนนหนทางไปมากันเป็นใหญ่เป็นสำคัญ ได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายชุมชนให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น เราจึงได้อุตส่าห์คิดจะทำทางรถไฟให้สมกำลังบ้านเมือง  ”

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 พระองค์ทรงเสด็จมาในพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์จากสถานีกรุงเทพ ถึงสถานีอยุธยา คือการเดินรถไฟสายแรกเพื่อให้กิจการรถไฟฯจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แผ่นดินสยาม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำพาสยามสู่ยุคแห่งการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของ   คนไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกยึดครองจากชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2453 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ    ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459  สถานีหัวลำโพงจึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งในการเดินทางของประชาชนด้วยขบวนรถไฟ    เป็นสถานีจุดเริ่มต้นและปลายทางในการเดินทาง เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทยที่อยู่เคียงคู่กันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอัจฉริยะภาพ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน “กิจการรถไฟหลวง” ให้กับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ใช้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้า สร้างความเจริญและโอกาสให้กับประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสร.รฟท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังจากเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางรถไฟบางซื่อ – หัวลำโพงด้วยApplication“Zoom”ว่าหลังจากที่ได้มีการเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อเต็มระบบเพื่อเป็นศูนย์กลาง

การเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้การรถไฟฯ เร่งพิจารณาแนวทาง การหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงโดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ตามที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 40 (4) “เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของ การรถไฟฯ” จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเรื่องนี้ สร.รฟท.  ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และขอคัดค้านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการในการมาทำงานไป-กลับ จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนภาพรวมในวงกว้าง จากการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการเดินทาง เนื่องจากภารกิจหลักของการรถไฟฯ คือการให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร และจากใจกลางตัวเมืองกลับไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยความสะดวก ปลอดภัย
เพราะเป็นจุดเริ่มต้น – และปลายทาง ของขบวนรถไฟชานเมืองในเส้นทางต่างๆที่มีประชาชน หลากหลายอาชีพ นักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากใช้บริการเดินทางเข้ามา ทำงานและเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออก ใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศและของการรถไฟฯ และเป็นพื้นที่อันควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้     หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่าจำเป็นต้องปิดสถานีและหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงจริงๆควรสอบถามความเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการก่อนจะดีกว่าหรือไม่

2.จากข้อมูลเหตุผลที่อ้างถึงว่าในการปิดสถานีและไม่ให้มีขบวนรถเข้ามาในสถานีรถไฟหัวลำโพง นั้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. เนื่องจากขบวนรถไฟเป็นปัญหาที่ทำให้รถติด ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ประชาชนที่เดินทางจำนวนมากจากทั่วประเทศได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้ามาในตัวเมืองชั้นใน แล้วทางรถไฟก็มีมาก่อนถนนใน กทม.เกือบทั้งหมด แล้วทำไมตอนสร้างถนนข้ามตัดผ่านทางรถไฟ ผู้เกี่ยวข้องไม่หาวิธีแก้ปัญหาจุดที่ถนนตัดผ่านกับทางรถไฟ และขอตั้งคำถามไปที่รัฐมนตรีฯว่าหากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้ว บนท้องถนนใน กทม.การจราจรจะไม่ติดขัดใช่หรือไม่ ถ้ายังมีปัญหาการจราจรอยู่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดพลาดในเรื่องนี้

3.พื้นที่ในบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องที่ใช้สำหรับการเดินรถมีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 หากรัฐมนตรีมีความต้องการที่จะหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯ  โดยจำเป็นต้องพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว ในแนวทางไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถไฟแต่อย่างใด เพราะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับการขนส่งสาธารณะทางรถไฟสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ อีกทั้งยังมีพื้นที่ มีทีดินว่างเปล่าของการรถไฟฯอีกมากมายหลายแปลงที่จะหาประโยชน์ หารายได้ให้แก่การรถไฟฯได้ทั้งในกรุงเทพ และ ต่างจังหวัด

คำถามคือ ทำไมไม่ทำ มีผู้มีอิทธิพลมากบารมี กี่รายที่หาประโยชน์เข้ากระเป๋าพวกพ้องของตนเอง และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้มีการทุจริตคอรัปชั่นตามมาได้ หรือว่า….การปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)…จะเป็นขบวนการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การด้อยค่าความสำคัญโดยทำให้ภาพของการเป็นกิจการแห่งรถไฟสยามเลือนหายไป หากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นสถานีรถไฟได้อย่างไรกัน คงจะเหลือเพียงความเป็นหน่วยงานที่มีแต่หนี้สิน โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุผลที่มาของหนี้สินเหล่านั้น    ว่ามาได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? ? ? พร้อมกับการยกเหตุผล (ข้ออ้างลอยๆ) ขึ้นมาประกอบในการจะเอาที่ดินใจกลางเมืองจำนวน120 ไร่ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานไว้เพื่อใช้ในกิจการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของการรถไฟฯ ไปยกให้นายทุนเอกชนเช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์…โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความเจริญและความอยู่ดีกินดีของคนในชาติมามากกว่า 120 ปีซึ่งประเมินค่ามิได้….คนที่คิดทำลาย คิดดีแล้วหรือ….มันสมควรแล้วหรือ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และขอแจ้งให้พี่น้องสมาชิก สร.รฟท. คนรถไฟทุกท่าน รวมทั้งพี่น้องประชาชนผู้ที่รักความเป็นธรรม ในสังคมได้รับทราบ และได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นร่วมกันออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้การรถไฟฯหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ซึ่งเป็นขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟ ฯ เพื่อสืบทอด     เจตนารมณ์พระราชปณิธาน ของสมเด็จพระปิยมหาราชที่มีมาอย่างยาวนาน และทรงพระราชทาน “กิจการรถไฟ” ไว้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน