สรุปร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับรัฐบาล …& โจทย์ที่ไม่ตอบ ?

สปส.โปร่งใสโดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ตรวจพิจารณาแล้วตามเรื่องเสร็จที่ 1382/2555 (ตุลาคม 2555) ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือลงวันที่ 29 มกราคม 2556 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งเรื่องคณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือลงมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นเรื่องด่วนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป

ข้อสังเกตและความเห็นของหน่วยราชการที่ชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

1. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นชอบในหลักการของร่างฯ ที่กระทรวงแรงงานเสนอ

2. สำนักงาน ก.พ. มีข้อสังเกตว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านประกันสังคมโดยกำหนดรูปแบบการบริหารที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัว และไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากการให้บริการด้านประกันสังคมได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนประกันสังคมเพื่อใช้ดำเนินการอยู่แล้ว

3. กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบกับร่างตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเนื่องจากมีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนที่ได้ร่วมจ่ายเงินสมทบ รวมทั้งรัฐบาลและฝ่ายนายจ้างได้จัดการประกันสังคมให้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่เพิ่มเติมมาตรา 30 ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (6) ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโดยรวมทั้งค่าบริการอื่นที่จำเป็น ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับรัฐบาลที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) แก้ไขบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ให้หมายถึง “ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง” โดยตัดคำว่า “ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด

(2) ขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ

(3) แก้ไขบทนิยามคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึงผู้สูญเสียอวัยวะ หรือสมรรถภาพของอวัยวะ หรือ สูญเสียภาวะปกติของจิตใจ “จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้” ไม่ต้องสูญเสียถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้

(4) แก้ไขบทนิยามคำว่า “ว่างงาน” ให้หมายถึง การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงเพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้างเท่านั้น

          (5) แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการประกันสังคม โดยตัดการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการออก และแก้ไขให้จำนวนกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเหลือฝ่ายละ 6 คน ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาจากการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งที่รัฐมนตรีกำหนด

(6) เพิ่มเติมให้คณะกรรมการประกันสังคม มีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คนเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ โดยสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปีในด้านการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(7) เพิ่มเติมคุณสมบัติของกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง หรือที่ปรึกษาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

1. มีสัญชาติไทย

2. ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

3. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

5. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

6. ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

7. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่

8. ไม่เป็นคู่สัญญา หรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญาหรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่จะต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน และหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว

(8) เพิ่มเติมให้การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการหรือที่ปรึกษา กรณีคณะกรรมการมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มีอยู่

(9) เพิ่มเติมให้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในคณะกรรมการแพทย์

(10) เพิ่มเติมให้กองทุนต้องมีการจัดทำระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง และมีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นการประจำ

(11) เพิ่มเติมให้ อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ถือกรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของกองทุน

(12) เพิ่มเติมให้สำนักงานประกันสังคมจัดทำรายงานการประเมินสถานะของกองทุน โดยให้เสนอคณะกรมการประกันสังคมทราบเป็นประจำทุกปี แล้วให้เปิดเผยต่อสาธารณชน ได้รับทราบสถานะของกองทุนตรงตามความเป็นจริงและสม่ำเสมอ

(13) เพิ่มเติมมาตรา 40 โดยต่อท้าย “บุคคลใดที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33” ด้วยถ้อยคำว่า “หรือไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้” อาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ได้ “ทั้งนี้ คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” และเพิ่มเติมให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

(14) ยกเลิกมาตรา 61 ที่บัญญัติให้ผู้ประกันตน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย

(15) เพิ่มเติมให้ประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้ครอบคลุมถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ตามที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม

(16) เพิ่มเติมให้สิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนซึ่งเสียชีวิต ไม่มีบุตร สามีหรือภริยา หรือบิดามารดา โดยกำหนดให้บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เป็นผู้มีสิทธิรับบำเหน็จชราภาพ และหากไม่มีบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุไว้ ก็ให้ทายาทต่อไปนี้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตามลำดับ โดยบุคคลใดมีมากกว่า 1 คนให้บุคคลลำดับนั้นได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน คือ

1. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

2. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา

3. ปู่ ย่า ตา ยาย

4. ลุง ป้า น้า อา

(17) เพิ่มเติมกรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(18) เพิ่มเติม กรณีผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย ให้มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จชราภาพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

สปส2PA070460

โจทย์ที่ไม่ตอบในร่างกฎหมายประกันสังคม ?

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับรัฐบาล ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของระบบประกันสังคม ปัจจุบันอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ

(1)     ความครอบคลุมถ้วนหน้าของการประกันสังคม

กล่าวคือ ลูกจ้างและพนักงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจหรือมีฐานะนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี เช่น องค์การมหาชน ที่จัดตั้งตามพ.ร.บ.องค์การมหาชนพ.ศ.2542, องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ, พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ, แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานในไทย เป็นต้น ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายประกันสังคม

นอกจากนี้ รัฐบาลและส่วนราชการยังมีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกา หรือ พระราชบัญญัติกำหนดให้กิจการหรือลูกจ้างกลุ่มใดที่กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมไม่ใช้บังคับได้ โดยคณะกรรมการประกันสังคมไม่มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบได้ หรือไม่

(2)     การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การมหาชน หรือ องค์กรอิสระของรัฐ มีเหตุผลความจำเป็นที่หลายฝ่ายเสนอ สรุปได้ดังนี้

  1. เพราะกองทุนประกันสังคมมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ไม่ใช่เงินทุนของรัฐบาลที่มาจากภาษีประชาชนฝ่ายเดียว  มีแรงงานรวมกว่า 10 ล้านคนและนายจ้างกว่า 4 แสนราย (ณ สิ้นปี 2555) ที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด
  2. การบริหารแบบส่วนราชการรวมศูนย์  ทำให้ผู้ประกันตนและนายจ้างไม่มีส่วนร่วมตรวจสอบและเกิดความเป็นเจ้าของกองทุนอย่างแท้จริง เพราะถูกแทรกแซงครอบงำจากอำนาจอิทธิพลฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้ง่าย
  3. เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลของระบบบริหารงานและการลงทุนประกันสังคม
  4. เพื่อลดการขาดแคลนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่  ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านบริหารการเงินการลงทุน
  5. สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจ  ต้องขยายความคุ้มครองให้กว้างขวางทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ  กฎหมายและโครงสร้างบริหารเดิมมีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใส

(3) ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมของหลักประกันสุขภาพในระบบประกันสังคม

เพราะเป็นเพียงระบบเดียวที่ผู้ประกันตน นายจ้างและรัฐบาลต้องร่วมจ่ายเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นเงินเหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์และค่ารักษาพยาบาลอื่นตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำหนด ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนจึงเกิดสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพลภาพ

นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์และระบบบริหารของสำนักงานประกันสังคมยังด้อยกว่าโครงการบัตรทอง สปสช.ด้วย มีเพียงประเด็นเดียว คือ หน่วยบริการภาคเอกชน ที่สำนักงานประกันสังคมมีจำนวนมากกว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. (ดูตารางที่ 1 และ ตารางที่ 2)

ตารางที่ 1  การเปรียบเทียบแนวทางการบริหารจัดการด้านรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคมและสปสช.

ประเด็น

สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช)

1. กรอบแนวคิดการทำงาน เน้นความมั่นคงของกองทุนเป็นหลัก เน้นสิทธิประโยชน์และการบริการ
2. รูปแบบองค์กร ระบบราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ
3. องค์ประกอบของคณะกรรมการ – ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน
– เลขาธิการแต่งตั้งโดยครม.
– ขาดผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์
– คณะกรรมการการแพทย์ไม่มีตัวแทนของผู้ประกันตน
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานบอร์ด
– เลขาธิการแต่งตั้งโดยบอร์ด
– มีองค์ประกอบครบทั้งตัวแทนผู้มีสิทธิ
ตัวแทนหน่วยบริการวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ
4. สิทธิประโยชน์ขอบเขตและเงื่อนไขการให้บริการ – สิทธิประโยชน์ด้อยกว่าบัตรทอง
– ครอบคลุมช่วงวัยทำงาน
– ขาดทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม
ป้องกันโรค และแพทย์แผนไทย
– ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต
– มีทั้งงานสงเสริมสุขภาพ ควบคุม
ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ และแพทย์แผนไทย
5. หน่วยบริการคู่สัญญา – มีหน่วยบริการภาคเอกชนมากกว่า – หน่วยบริการเอกชนน้อยกว่าสปส.
– มีหน่วยบริการภาครัฐมากกว่า
6. การบริหารจัดการของสำนักงาน  – ขาดประสิทธิภาพ และไม่ตอบสนองต่อผู้ประกันตน
– ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
– ขาดระบบบริหารจัดการเฉพาะ เช่น
โรคทีมีค่าใช้จ่ายสูงยาราคาแพง
– ขาดระบบสนับสนุนหน่วยบริการในการพัฒนาบริการ
– ขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
– มีประสิทธิภาพกว่าสปส.
– มีบุคลากรที่เชียวชาญมากกว่า
– มีระบบบริหารจัดการเฉพาะ เช่น โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยาราคาแพง
– มีระบบและงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบในหน่วยบริการ
– มีระบบสารสนเทศที่ดีกว่ารองรับ
7. การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน – ขาดการมีส่วนร่วมและการทำงาน ร่วมกับภาคเครือข่าย – มีส่วนร่วมของประชาชน ภาคี
เครือข่าย และ อปท.มากกว่า
8. การติดตามตรวจสอบประเมินผล – บุคคลภายนอกเข้าถึงข้อมูลได้ยาก
– ขาดการประเมินความพิงพอใจและ รับฟังความเห็นของผู้รับและผู้ให้บริการ
– เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า
– มีการประเมินความพึงพอใจผู้มารับบริการและผู้ให้บริการและจัดรับฟังความคิดเห็น เป็นประจำทุกปี
9. การคุ้มครองผู้มีสิทธิ – ขาดช่องทางการตอบคำถาม รับเรื่องร้องเรียน
ผ่านศูนย์บริการข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง
– ขาดศูนย์ประสานส่งต่อสำรองเตียง
– ขาดคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
– ไม่มีระบบชดเชยช่วยเหลือ
– มี call center ตลอด 24 ชั่วโมง
– มีศูนย์ประสานส่งต่อและสำรองเตียง
– มีระบบชดเชยช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ
และผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการ
รักษาพยาบาล (ม. 41)

ที่มา : โครงการจัดทำข้อเสนอทางเลือกและรูปแบบการบริหารจัดการ สวัสดิการด้านรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคมในอนาคตในสู่ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวสนับสนุนโดย สสส.,2555 น.36-37.

ตารางที่ 2  การเปรียบเทียบหน่วยบริการคู่สัญญาหลัก ระหว่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2554

หน่วยบริการคู่สัญญาหลัก

สปส.

สปสช.

ภาครัฐ
–          โรงเรียนแพทย์

9

14

–          โรงพยาบาลศูนย์

25

25

–          โรงพยาบาลทั่วไป

67

69

–          โรงพยาบาลชุมชน

 18

739

–          รพ.สต.

11,051

–          อื่นๆ

30

664

ภาคเอกชน
โรงพยาบาลเอกชน

90

44

คลินิกเอกชน

168

หน่วยบริการเครือข่าย
–          ภาครัฐ

1,115

–          ภาคเอกชน

1,348

242

รวม

2,704

23,931

ที่มา : สำนักงานประกันสังคมและสปสช. ข้อมูล ณ เดือน ตุลาคม 2554

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 มาตรา 10 กำหนดให้การขยายสิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพ.ร.บ.นี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน โดยให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามจำนวนที่ตกลงกัน ภายหลังคณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกาเริ่มให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตน ซึ่งผู้แทนคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้เคยประชุมหารือกันเมื่อปี2554 แต่ตกลงแนวทางดำเนินงานกันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

โดยสรุปคือ “หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสุขภาพและบริการรักษาพยาบาล รวมทั้งยา/เวชภัณฑ์ที่ประชาชนได้รับระหว่าง 3 กองทุน (คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า) จนมีการเรียกร้องของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้สำนักงานประกันสังคมมีการแก้ไขปรับปรุงสิทธิประโยชน์และบริการสุขภาพที่ผู้ประกันตนได้รับ” (บางตอนในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559, กระทรวงสาธารณสุข 2555,น.21)

(4) ความมีเสถียรภาพยั่งยืนของการบริหารกองทุนชราภาพ

กฎหมายประกันสังคมปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขการเกิดสิทธิรับเงินบำนาญ และเงิน บำเหน็จ ดังนี้

เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)

เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว)

  1. กรณีจ่ายเงินสมทบ 180 เดือน (15 ปี) ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนผู้ประกันตนสิ้นสุดลง2. กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไปให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ ตามข้อ 1 ขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

  1. กรณีจ่ายเงินสมทบ ต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ2. กรณีจ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

3. กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ

  จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนตาย

        สูตรคำนวรเงินบำนาญชราภาพ= ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วย 20%

(+ จำนวน % ที่เพิ่มให้อีกปีละ 1.5 %)

     สูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพกรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1 – 11 เดือน

= เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว

กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 – 179 เดือน

= เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของ

นายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน

ที่มา : แผนพับกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, (พิมพ์เมื่อ มิถุนายน 2555)

วรวรรณ  ชาญด้วยวิทย์และคณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้วิเคราะห์ความไม่ยั่งยืนของกองทุนชราภาพ ตามหลักเกณฑ์กฎหมายประกันสังคมปัจจุบันดังนี้ คือ

“การจ่ายเงินบำนาญในระบบประกันสังคมจะเกิดขึ้นเป็นปีแรกในปี พ.ศ.2557 ด้วยคนที่มีสิทธิรับบำนาญจะต้องเคยสมทบเงินมาแล้วอย่างน้อย 15 ปี (การเก็บเงินสมทบเพื่อบำนาญชราภาพเริ่มในปี พ.ศ.2542) การประมาณจำนวนผู้ประกันตนและผู้มีสิทธิรับบำนาญจากระบบประกันสังคมมีข้อสมมติดังนี้

  • อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 2
  • อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่ากับร้อยละ 73
  • อัตราการเข้าระบบประกันสังคมต่อการจ้างงานค่อยเพิ่มจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 30
  • อัตราค่าจ้างแท้จริงไม่เพิ่มขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2
  • ร้อยละ 80 ของผู้ประกันตนสูงอายุมีสิทธิรับบำนาญ
  • อายุเกษียณเท่ากับ 55 ปี และอัตราตายของผู้เกษียณเท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี
  • เงินค่าบริหารจัดการคิดเป็นร้อยละ 3 ของเงินสมทบ
  • อัตราประโยชน์ทดแทนเฉลี่ยค่อยเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ.2567

จากข้อสมมติดังกล่าวทำให้สามารถประมาณเงินสมทบ ค่าใช้จ่ายบำนาญและเงินสะสมของกองทุนได้ คือค่าใช้จ่ายเพื่อบำนาญในปี พ.ศ.2553 เท่ากับประมาณ 7 พันล้านและกองทุนมีเงินเหลือสะสม 7 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อบำนาญต่อปีเพิ่มขึ้นเรื่อยจนเป็น 5 แสนล้านบาทในปี พ.ศ.2593 ซึ่งเงินสะสมของกองทุนเหลือไม่พอต่อการจ่ายบำนาญตั้งแต่ปี พ.ศ.2588 สาเหตุที่กองทุนมีเงินสะสมไม่เพียงพอต่อการจ่ายบำนาญในอนาคต เพราะมีการเก็บอัตราเงินสมทบต่ำเกินไป ทำให้ผู้ที่สมทบตั้งแต่อายุ 20 ปีและมีค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ได้รับบำนาญมากกว่าเงินที่ตนสมทบไปเมื่ออายุเพียง 68 ปี ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยคือ 73 ปี ดังนั้น เงินสมทบในกองทุนย่อมไม่เพียงพอจ่ายบำนาญแน่นอน การที่จะให้เงินสะสมของกองทุนเพียงพอต่อการจ่ายผู้ประกันตนจะต้องมีอัตราเงินสมทบร้อยละ 14.5 ของค่าจ้าง (นายจ้างและลูกจ้างสมทบคนละครึ่ง)

การจ่ายเงินบำนาญของผู้ประกันตน รัฐมิได้ร่วมสมทบเงินกองทุนฯด้วย จึงไม่เป็นภาระต่อเงินงบประมาณ นอกเสียจากว่าเงินสะสมในกองทุนไม่พอกับค่าใช้จ่ายและรัฐให้สัญญาว่าจะช่วยส่วนที่ขาด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หลังปี พ.ศ.2588 เป็นต้นไป รัฐจะต้องหางบประมาณมากกว่าปีละ 4 แสนล้านบาทเพื่อมาจ่ายบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ” (โครงการวิจัยเรื่องทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย สนับสนุนโดย สสส.2553 น.115-117)

“เนื่องจากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพจะเริ่มจ่ายบำนาญในปี 2557 และถ้าเราไม่ดำเนินใดๆเลย เงินสะสมของกองทุนก็จะหมดไปภายใน 30 ปี ซึ่งมาตรการที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพก็มี 5 มาตรการด้วยกัน คือปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ ขยายอายุที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ขยายเวลาการส่งเงินสมทบ มีการปรับฐานค่าจ้างเฉลี่ยที่สมทบเงินบำนาญ และเรื่องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งการใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งก็ยังไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ ต้องใช้การผสมหลายอย่างด้วยกัน ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะขอยกเว้นเงินสมทบเข้ามาในผู้สูงอายุ เพราะแม้ว่า 55 หรือ 60 ปีแต่หากทำงานต่อ ก็ยังมีหน้าที่ต้องสมทบเงินต่อเนื่อง”

(จารุณี บริบาลบุรีภัณฑ์, นักวิชาการสถิติชำนาญการ สำนักงานประกันสังคม,เรื่อง “ขยายอายุการทำงาน มุมมองต่อภาคอุตสาหกรรม” (น.12) เอกสารประกอบการเสวนามโนทัศน์ใหม่ผู้สูงอายุ เรื่องประกันสังคมจาก 55 เป็น 60 ปีกับความมั่นคงทางสังคมของแรงงาน ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, 19 ก.พ.56)

จำนวนสถานประกอบการและผู้ประกันตนมาตรา 33 , มาตรา 39 และมาตรา 40 ปี พ.ศ. 2534 – 2555

ปี

สถานประกอบการ (ราย)

มาตรา 33

มาตรา 39

มาตรา 40

2534

30,255

2,925,500

2535

30,949

3,867,385

2536

55,623

4,623,607

2537

65,181

4,970,805

2538

73,604

5,184,441

18,804

2539

82,582

5,589,855

19,436

2540

90,656

6,084,822

23,712

2541

93,093

5,418,182

47,223

2542

100,360

5,679,597

70,354

2543

107,228

5,810,140

89,379

2544

110,814

5,865,208

118,231

2

2545

301,518

6,900,223

147,415

4

2546

324,079

7,434,237

175,131

10

2547

346,936

7,831,463

200,298

7

2548

362,559

8,225,477

241,929

4

2549

375,705

8,537,801

322,379

3

2550

381,506

8,781,262

400,905

3

2551

382,170

8,779,131

514,422

47

2552

389,953

8,744,795

679,700

60

2553

395,924

8,955,744

747,005

84

2554

404,195

9,054,535

855,412

590,046

2555

409,977

9,425,478

984,758

1,294,019

ที่มา :  สำนักเงินสมทบ , สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ  , กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

รวบรวมโดย :  มูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน

หมายเหตุ : 2  กันยายน 2533  บังคับใช้กับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คน ขึ้นไป
2  กันยายน 2536  บังคับใช้กับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
1  เมษายน 2545  บังคับใช้กับนายจ้างที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 10 คน หรือตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
3 พฤศจิกายน 2537  บังคับใช้กับผู้มิใช่ลูกจ้างที่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ม.40)
— ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งขึ้นทะเบียน  และหักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบตามอัตราที่กำหนด
— ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้เคยเป็นผู้ประกันตนมาแล้ว 12 เดือนและสมัครเป็นผู้ประกันตนภายใน 6 เดือนหลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (คือ ลาออกหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดระยะเวลาจ้าง)
— ผู้ประกันตนมาตรา 40  คือ  บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครใจเข้าประกันสังคมจำนวนเพิ่มขึ้นมหาศาลในปี2554  เพราะนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ที่เร่งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้น่าสนใจและรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนบางส่วนแก่แรงงานนอกระบบต่อรายตามชุดสิทธิประโยชน์ที่เลือกไว้ 
/////////////////////////////////////////