สรุปประชุมกองบรรณาธิการนักสื่อสารแรงงานครั้งที่ 5

วันที่ 2 มีนาคม 2554 เวลา 13.00 – 17.00 น. จัดโดยโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ณ.ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

นายวิชัย  นราไพบูลย์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนานักสื่อสารแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึงการอบรมเพิ่มของศูนย์พื้นที่เพื่อเสริมทักษะการทำสื่อสิ่งพิมพ์ การสื่อสารด้วย สื่อมีเดีย ซึ่งมีความสำคัญต่อการสื่อสารต่อสังคม การพัฒนาทักษะการเขียนข่าวเพิ่มจากเดิมที่บางพื้นที่อาจหายไปบ้าง  หรือไม่มีบทบาทในการทำงานด้านสื่อ แต่อย่างไรก็มั่นใจว่าการผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักข่าวอย่างน้อยก็ได้คนที่กลับเข้าไปทำงานในองค์กรบ้าง

ขณะนี้มีหลายส่วนที่ขอให้มีการอบรมเพิ่มในพื้นที่ เช่น ศูนย์สมุทรปราการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม และ ศูนย์สระบุรีในวันที่ 17 มีนาคม การที่คนที่อบรมเขียนข่าวส่งมาได้ถูกนำไปสื่อผ่านหน้าเว็บไซต์ และสื่อกระแสหลัก เป็นการสร้างกระแสข่าวแรงงานที่มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายซึ่งแต่ละพื้นที่ได้มีการทำกันอยู่แล้ว

วันนี้คงต้องปรึกษาเรื่องการทำงานวีดิทัศน์ที่แต่ละศูนย์ยังทำได้ไม่ครบ และถูกต้องตามข้อตกลง โดยคิดว่าเป็นการทำเพื่อการให้การศึกษาทั้งในพื้นที่และสังคมผ่านยูทูบ เว็บไซต์ โดยนำงานนโยบายเรื่องประกันสังคม ความปลอดภัยมาจัดทำเป็นข่าวสิ่งพิมพ์ และข่าววีดิทัศน์ หรือสารคดี

นายสมบูรณ์ เสนาสี นักสื่อสารแรงงานศูนย์ฉะเชิงเทรา-ปราจีน ได้มีการประชุมเพื่อปรับทัศนคติภายในกลุ่ม รวมถึงการจัดการอบรมทักษะการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์มีผู้เข้าร่วมถึง 18 คน ซึ่งได้อบรมกันเองทั้งทักษะการตัดต่อวีดีโอ และเขียนข่าว

ที่ประชุมเสนอให้มีการมอบหมายงานในการดูแลภาพรวมข่าวการตั้งทีมตัดต่อวีดิทัศน์ ในพื้นที่ เรื่องที่ สองคือการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ในพื้นที่ หรือจดหมายข่าว โดยทางโครงการสนับสนุนงบการจัดทำเบื้องต้นเดือนละ 500 บาท

ในส่วนศูนย์พื้นที่รังสิตปทุมธานี และศูนย์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา-อ่างทอง คงต้องให้มีการปรับภายในก่อนว่าจะให้ทางโครงการฯช่วยอะไร ซึ่งทางศูนย์รังสิตปทุมธานีได้มีการขออบรมเพิ่มเช่นกันแต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา ส่วนศูนย์พระนครศรีอยุธยายังไม่ได้มีการขอมา

นางสาวสวรรยา ผดาวัลย์ นักสื่อสารแรงงานศูนย์สระบุรี กล่าวถึงการทำงานในพื้นที่ มีการจัดงานร่วมกับทางพิพิธภัณฑ์แรงงานเรื่องพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร และมีการเตรียมการอบรมในพื้นที่ โดยกำหนดวันที่ 17 มีนาคม มีผู้ประสงค์เสนอตัวเข้าร่วมอบรม 15 คน ขณะนี้ทางศูนย์ฯยังขาดการทำงานตัดต่อวีดิทัศน์ส่งทางโครงการฯ หวังว่าหลังอบรมจะสามารถส่งงานวีดิโอได้ตามที่ตกลงไว้ ส่วนการเขียนข่าวในพื้นที่ยังมีการเขียนข่าวอย่างต่อเนื่อง การจัดทำจดหมายข่าวในพื้นที่ก็ออกต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งได้มีการแจกสมาชิกในกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง แกนนำจะนำไปแจก ทั้งหนังสือพิมพ์วอยเลเบอร์ คนงานขอเพิ่มเนื่องจากไม่พอแจกให้สมาชิก ส่วนจดหมายข่าวของศูนย์ให้แต่ละสหภาพถ่ายเอกสารแจกเพิ่มเอง เพื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น

นายสมบูรณ์ เสนาสี  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ฉะเชิงเทรา-ปราจีน ทางกลุ่มมีการให้ความสำคัญกับการสื่อสาร มีการนำเรื่องการสื่อสารบรรจุเป็นวาระการประชุมของกลุ่ม ส่งเสริมให้มีการอบรมเพิ่ม มีการอบรมสื่อมิเดีย เฟรชบุค อีเมล์ เพื่อสร้างระบบสื่อสารภายในองค์กร

การอบรมเพิ่ม ตัดต่อวีดิโอเพิ่มอีก 17 คน เขียนข่าว 24 สหภาพ โดยกำหนดว่าจะอบรมตั้งแต่เดือนมีนาคม –เมษายน 2554 และจะมีการจัดทำจดหมายข่าว 3 ฉบับ

นายธีระวุฒิ  เบญมาตย์ นักสื่อสารแรงงานศูนย์สมุทรปราการ ยังคงทำงานยึดติดกับองค์กร การจัดอบรมเพื่อหาทีมทำงานที่จะเข้ามาทำงานสื่อสารเพิ่มซึ่งเห็นว่าหลังจากอบรมแล้วคงได้ทีมทำงานเพิ่ม ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 9 มีนาคม วางวางแผนการทำงานร่วมกัน หากมีปัญหาทางการทำงานก็ไม่ท้อที่จะขออบรมเพิ่มอีกจนกว่าจะมีคนเข้ามาทำงานด้านสื่อ

หลังจากที่ได้นำเรื่องสื่อบรรจุเป็นวาระหนึ่งของการประชุมคณะกรรมการTeam มีปัญหาว่าไม่สามารถคุยเรื่องสื่อได้เต็มทีจึงได้เลื่อนมาประชุมนักสื่อสารแรงงานของศูนย์ช่วงเช้า และประชุมคณะกรรมการTeam บ่าย ซึ่งทางศูนย์ยังไม่ได้ผลิตวีดิทัศน์เลย และยังไม่ได้ทำจดหมายข่าวในพื้นที่ หลังวันที่ 9 มีนาคมคงชัดเจนมากขึ้น

นายมงคล  ยางงาม นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ นครปฐม-สมุทรสาคร พื้นที่ขณะนี้งานไม่ออก เนื่องจากงานในพื้นที่มีมากทั้งงานของของมูลนิธิเอเชีย งานนโยบายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และขณะนี้ตนก็ได้ลาออกจากงานแล้วเนื่องจากมีปัญหาส่วนของโรงงานที่ทำอยู่ ซึ่งคิดว่าจะเข้ามาพัฒนากลุ่มเพื่อสร้างคน วางงานใหม่ให้คนทำงานกลุ่มมีมากขึ้นตลอดนี้งานมีมากกว่าคน และคนทำงานยังต้องทำงานประจำในโรงงานด้วย ระบบการทำงานเป็นทีมตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องการเขียนข่าวส่งเพราะไม่มีเวลา งานวีดิทัศน์ และจดหมายข่าวก็ไม่ได้ทำ แต่ก็คิดว่าคงจะประชุมเพื่อทำออกมาให้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

ในส่วนของนักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ระยอง-ชลบุรี ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้เนื่องจากติดการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรอง มีการชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่ ในส่วนของข่าวในพื้นที่ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่เขียนข่าวมากและสม่ำเสมอ การตัดต่อวีดิทัศน์ได้มีแล้ว 1 เรื่อง ส่วนจดหมายข่าวหลังประชุมครั้งก่อนมีการจัดทำออกมาเกือบเป็นรายวัน แต่ยังขาดความหลากหลายของข่าว

วาระหนังสือพิมพ์วอยเลเบอร์ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการจัดทำให้เร็วขึ้น ทันการประชุมกองบรรณาธิการ(บก.)นักสื่อสารแรงงาน ทุกเดือน เพื่อการมาประชุมแล้วนำกลับไปแจกในพื้นที่ได้เลย ไม่ต้องกลับมาเอาใหม่อีก  และที่ประชุมยังขอปรับการประชุมกองบก.นักสื่อสารฯเป็นวันพุธสุดท้ายของเดือน ซึ่งเดือนมีนาคมจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม 2554 เท่ากับเดือนนี้ประชุม 2 ครั้ง

วาระ 100 ปี สตรีสากล ที่ประชุมร่วมกับกำหนดการทำงานร่วมกันในงาน 100 ปีสตรีสากล โดยที่ประชุมเสนอให้ทางนางสาวสวรรยา ผดาวัลย์ ในฐานะเลขานุการกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ทำหนังสือเชิญนักสื่อสารแรงงานเข้าร่วม และกำหนดคนทำข่าวงานเสวนา โดยมี สวรรยา ผดาวัลย์ ธีระวุฒิ เบญมาตย์ มงคล ยางงาม สมบูรณ์ เสนาสี รับเขียนข่าวในงาน และทางธีรวุฒิ และ มงคล ยังรับไปหานักสื่อสารแรงงานในส่วนของศูนย์เข้าร่วมและเขียนข่าว

วาระข่าวหนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์ ที่ประชุมสรุปว่าอยู่ในเดือนมีนาคม คงต้องให้ความสำคัญกับข่าว 8 มีนา งาน 100 ปีสตรีสากล เป็นข่าวพาดหัว ข่าวคนงานแม็กซีส ฟูจิตสึ และพีซีบี เป็นข่าวรอง ข่าวคนงานไทยในลิเบียบทสัมภาษณ์นายชาลี ลอยสูง ประธานสมานฉันท์แรงงานไทย นายธีรวุฒิ รับเขียนข่าว ข่าวพีมูบ โดยมงคลจะรับเป็นคนเขียนจากการร่วมงานในวันที่ 3 มีนาคม

วาระเรื่องประชุมสัญจร  ที่ประชุมเห็นว่าควรคงไว้ แม้ว่าครั้งแรกยังไม่สามารถจัดประชุมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา เพราะยังไม่พร้อม

วาระเรื่องบทบรรณาธิการที่ประชุมเสนอให้มีการปรับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากข่าวมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา  สวรรยา ผดาวัลย์ รับไปปรับแก้เพิ่มเติมใหม่
 

สรุปรายงานโดย วาสนา ลำดี