สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาฯ เสนอการปฏิรูปแรงงานให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

มนัส

สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เข้าพบยื่น 6 ข้อเสนอปฏิรูปด้านแรงงานเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เน้น ความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ด้านสิทธิ สวัสดิการ รายได้ คุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน การมีส่วนร่วม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเป็นธรรมในด้านขบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดยนายมนัส โกศล ประธานสภาฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อ เสนอเรื่อง การปฏิรูปด้านแรงงานเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปด้านแรงงาน เพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นดังนี้

1. แรงงาน หมายถึง คนทำงานที่มีรายได้ทุกคนทุกกลุ่มวัยทั้งที่อยู่ในโรงงานสถานประกอบการ หรือประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และในครัวเรือน ได้แก่ เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทั่วไป กลุ่มหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างขององค์กรภาครัฐและองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆที่อยู่ในเมือง เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ หาบเร่แผงลอย เป็นต้น

2. องค์ประกอบของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน คือ การมีความมั่นคงในงานและรายได้ มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน และ การมีหลักประกันทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมจากการสร้างวินัยการออมในระหว่างการมีงาน

3. มีความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ และ มีสิทธิในการเลือกหรือตัดสินใจในการทำงานอย่างอิสระโดยปราศจากการบังคับหรือควบคุมนอกเหนือจากที่กฎหมายหรือระเบียบกติกากำหนด

4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงการบริการ การได้รับข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรและองค์ความรู้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ทั้งในระหว่างทำงานและหลังเกษียณอายุการทำงาน

5. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในระดับบุคคลได้แก่การพัฒนาทักษะฝีมือสนับสนุนการรวมกลุ่ม/องค์กรทั้งลูกจ้างคนทำงานในท้องถิ่น ชุมชน นายจ้าง ภาครัฐ และรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการบูรณาการ และสร้างเครือข่ายเพื่อ สนับสนุนและสานพลังเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานร่วมกัน

6. สร้างความเป็นธรรมทั้งในด้านกระบวนการยุติธรรมแรงงาน โดยกำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เป็นธรรม และการบังคับใช้นโยบาย และออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อการลิดรอนสิทธิด้านแรงงานและการเข้าถึงบริการและเงินทุนหรือไม่ให้มีผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นรวมถึงสังคมโดยรวม

ทั้งนี้นายมนัส โกศล ประธานสภาฯกล่าวว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์และแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในประเทศไทยผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” เป็นจำนวนถึง 25.1 ล้านคน หรือร้อยละ 64.2(สำนักงานสถิติแห่งชาติ2556) จะเห็นว่าแรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมและมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย แต่แรงงานกลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยอมรับ ส่วนแบ่งและผลตอบแทนจากการลงแรงกายและแรงสมองกลับคืนมาไม่มากนัก มีสถานภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ต่ำ คนงานส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตด้อยกว่า ได้รับสวัสดิการไม่เพียงพอ ไม่มีความมั่นคงทั้งในชีวิตและการทำงาน ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ในความคาดหวังของสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือข้อเสนอได้รับการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :  ข้อเสนอการปฏิรูปด้านแรงงานเพื่อบัญญัติไว้ใ นรัฐธรรมนูญใหม่ (1))

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน