สภาพัฒนาแรงงานยื่นข้อเสนอ คสช.ปฏิรูปประกันสังคม

10579199_858140917530577_1973344467_n

สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดย นายมนัส โกศล พร้อมคณะรวม 13 คน เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พลตรีเดชา ปุญญบาล เลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 เพื่อเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม โดยมี พันเอก ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

โดยนายมนัสให้เหตุผลที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมว่า ต้องการมืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุนที่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กองทุนประกันสังคมมีเงินรวม 1,099,625 ล้านบาท ทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารประกันสังคมมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ขาดความโปร่งใสในการใช้เงิน ตอบสนองฝ่ายการเมืองมากกว่าผู้ประกันตน มีข้อจำกัดการเข้าถึงสิทธิและการบริการ โดยข้อเสนอต้องการให้เป็นองค์กรที่มีการจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วม ให้ครอบคลุมแรงงานกว่า40 ล้านคน ทั้งแรงงานในระบบ 25.1 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 11 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ 4 ล้านคน ส่วนคณะกรรมการบริหารประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง และมีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง ไม่ถูกผูกขาดอำนาจเหมือนเช่นที่ผ่านมา

10695441_858140930863909_266294102_n 10682091_858140924197243_28119071_n

สำหรับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ “คนทำงานถ้วนหน้า” ประกอบด้วยหลักการ 7 ประการ คือ

(1) หลักคุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ ซึ่งได้รับสวัสดิการส่วนใหญ่ไม่เท่ากับกฎหมายประกันสังคม สาระสำคัญคือ

(1.1) คนทำงานทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่มีอายุตั้งแต่15 ปี ขึ้นไป และมีรายได้จากการทำงาน ต้องมีหลักประกันทางสังคมคุ้มครอง ทั้งในรูปแบบการบังคับและรูปแบบสมัครใจ

(1.2) “คนทำงาน” หมายถึง กลุ่มคนทำงานที่มีนายจ้างร่วมสมทบ ผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการองค์กร หรือบริษัท/ร้านค้าต่างๆ และกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในทุกประเภทงาน เช่น เกษตรกร คนขับรถบริการสาธารณะ กลุ่มอาชีพ OTOP แม่ค้าหาบเร่ มัคคุเทศก์ ศิลปิน นักแสดง นักเขียน เป็นต้น

ทั้งนี้ควรทำให้เป็นระบบบังคับสำหรับคนทำงานทุกคน โดยมีนโยบายและระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังจากแหล่งอื่นๆ มาช่วยสนับสนุน เช่น ระบบการจัดเก็บภาษี

(2) หลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข สาระสำคัญคือ

(2.1) ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เหมาะสม

(2.2) การร่วมจ่ายเงินสมทบ เป็นไปตามหลักความสามารถในการจ่าย โดยคำนึงถึงรายได้ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

(2.3) มีระบบการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการลดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของผู้ประกันตน ที่ไม่สามารถจัดการเรื่องเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การว่างงานชั่วคราว เงื่อนไขทางสุขภาพและสังคมหรือเศรษฐกิจ โดยมีการกำหนดเกณฑ์และแนวทางสำหรับการปฏิบัติ

(3) หลักการมีส่วนร่วม สาระสำคัญคือ

(3.1) การร่วมจ่ายตามหลักความสามารถในการจ่าย

(3.2) การบริหารจัดการกองทุน เช่น การคัดเลือกกรรมการ การรับฟังความคิดเห็น สัดส่วนที่มาของกรรมการ

(3.3) การตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส และประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการกองทุน

(4) หลักความครอบคลุมและเป็นธรรม สาระสำคัญคือ

(4.1) ผู้ประกันตนทุกคนจะได้ประโยชน์ทดแทนขั้นพื้นฐานที่เท่ากัน 7 ประการ ตาม พรบ.ประกันสังคม

(4.2) สิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามประโยชน์ทดแทน จะมี 2 แนวทาง คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นตามความสามารถในการจ่าย (โดยมีการกำหนดเกณฑ์และแนวทางการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่พิจารณาอย่างรอบด้าน)

(5) หลักความยืดหยุ่น ทันสมัย สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม สาระสำคัญคือ

(5.1) ความเป็นสมาชิกในแต่ละมาตราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยผู้ประกันตนมีทางเลือกในการปรับย้ายความเป็นสมาชิกในแต่ละมาตราได้ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40

(5.2) ประโยชน์ทดแทนสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพิ่มเติมได้ มีทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และสถานะของกองทุน
หลักการสำคัญร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ “คนทำงานถ้วนหน้า”

(6) หลักการบูรณาการ สาระสำคัญคือ

(6.1) เชื่อมโยงและประสานสิทธิประโยชน์ ร่วมกับระบบสวัสดิการอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพ ระบบ
บำนาญ หรือ กองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

(6.2) การเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการ เช่น ระบบการชำระเงิน ระบบฐานสมาชิก

(6.3) การกำหนดมาตรฐานการให้บริการ เช่น ช่องทางการให้บริการ เพดานการจ่ายเงิน เกณฑ์ในการจ่ายเงิน

(6.4) การบูรณาการหรือการปรับปรุง/เพิ่มสิทธิประโยชน5/การกำ หนดมาตรฐานตามกฎหมายประกันสังคม ร่วมกับกฎหมายอื่นๆ ต้องพิจารณาถึงการไม่ลิดรอนสิทธิประโยชน์ที่คนทำงานพึงได้รับตามกฎหมายนั้นๆ

(7) หลักความเป็นอิสระ สาระสำคัญคือ

(7.1) เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของรัฐ

(7.2) มีการออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ตามความเหมาะสมกับการบริหารงานกองทุนประกันสังคม

(7.3) ผู้บริหารกองทุนประกันสังคมต้องมาจากการสรรหา ที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ มีความเป็นมืออาชีพ มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะด้าน