สปส.มีมติช่วยนายจ้าง-ผู้ประกันตน ผลกระทบโควิด-19

บอร์ดประกันสังคม ลงมติ กรณีโควิด-19 มติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนว่างงานเพิ่มกรณีลาออก ร้อยละ 45 ไม่เกิน 90 วัน และกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 ไม่เกิน 200 วัน เป็นเวลา 2 ปี ฝ่ายลูกจ้างเสนอ การรักษาหากติดเชื้อ รัฐต้องรับผิดชอบเหมือนหลักประกันสุขภาพ และรักษาที่โรงพยาบาลผู้ประกันตนใช้สิทธิอยู่ ไม่ใช่ปฏิเสธการรักษา โยนไปโรงพยาบาลรัฐ

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยกับสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการประกันสังคมมีมติ ในวันนี้ 20 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน กรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้

  1. ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้

– ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

– กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน

  1. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน โดยงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
  2. ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด

นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง

ในการนี้ได้เร่งรัดให้มีผลบังคับโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้  เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาครัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ต่อไป

ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ฝ่ายของลูกจ้างพยายามที่จะเสนอในคณะกรรมการประกันสังคม ให้เพิ่มสิทธิกรณีว่างงานมากกว่านี้ คือ กรณีลาออกจากงานให้เพิ่มเป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน (180วัน) และกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้างให้เพิ่มสิทธิเป็นร้อยละ 80 เป็นเวลา 8 เดือน (240 วัน)  แต่ว่าที่ปรึกษาสำนักงานประกันสังคมไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่า จะสูญเสียเงินจำนวนมาก โดยทางที่ปรึกษามีการคำนวนเม็ดเงินมาเรียบร้อยถึงความเสี่ยง ซึ่งเราในฐานะผู้แทนของแรงงานก็พยายามที่เสนอโดยสรุปมาติก็ออกมาอย่างที่เห็น คือว่างงานจากการลาออก ได้ ร้อยละ45ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน และกรณีถูกเลิกจ้างเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 200 วัน ซึ่งก็ใช้เวลาถกเถียงกันนาน ซึ่งตอนนี้เราก็มีตัวแทนในบอร์ดเพียง 3 คนเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลสั่งให้หยุดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิค-19 นั้นในส่วนของอดีตคนงานไทยเกรียงที่ไปทำงานนวดในสปา นายจ้างต้องปิดตามรัฐสั่ง 14 วันนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นนายจ้างที่ดีและเข้าใจว่าลูกจ้างเองก็ได้รับผลกระทบ แต่นายจ้างแบบนี้อาจมีน้อย ซึ่งประกันสังคมได้มีมาตรการช่วยเรื่องดังกล่าวออกมาด้วย คือจ่ายให้ร้อยละ 50ของค่าจ้างเป็นเวลา 60 วัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างบังคับให้หยุดงาน หรือให้ลางาน โดยที่ไม่ได้เข้าข่ายกรณีที่รัฐสั่งให้หยุดชั่วคราว จะเข้ากับกรณีที่ ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือไม่แล้วอีก 50 วันใครจะจ่ายค่าจ้างตรงนั้น

กรณีเจ็บป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 ก็เป็นประเด็นถกเถียงมากทีเดียว ด้วยทางโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมมองว่า ไม่สามารถรักษาผู้ประกันภายใต้ระบบเหมาจ่ายของประกันสังคม หากพบว่าผุ้ประกันตนป่วยจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งตรงนี้ทางผู้แทนผู้ประกันตนมองว่า โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมไม่ควรปฏิเสธการรักษา แล้วผลักภาระให้กับทางโรงพยาบาลภาครัฐอย่างเดียว จึงเสนอว่า หากพบผู้ประกันตนป่วยต้องรักษา และประกันสังคมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยมองว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบส่วนต่างค่ารักษานี้ให้กับโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม หากพบผู้ป่วยด้วย ไม่ควรจะแตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประกันสังคมจ่ายก่อนแล้วไปเรียกเก็บที่รัฐบาล ไม่ใช่โยนผู้ป่วยไปมา

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ แห่งประเทศไทย หรืออดีตกรรมการประกันสังคมกล่าวว่า ประเด็นกรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้างนั้รน กระทรวงแรงงานต้องเข้าไปดู เพื่อให้นายจ้างทำให้ถูกต้องและเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย เนื่องจากมาตรการที่ประกันสังคมออกมาดูแลนั้น ยังมีข้อสังเกตุอยู่บ้างเพราะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดอยู่แล้วว่า หากหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างที่หยุดงาน ซึ่งกฎหมายมีก็ต้องบังคับใช้ และภาครัฐเองเคยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้างไว้แล้ว คือกรณีวิกฤตินายจ้างสามารถที่จะกูเงินจากประกันสังคม อัตราดอกเบี้ยต่ำได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งกู้ผ่านระบบธนาคารอยู่แล้ว

การที่ประกันสังคมเพิ่มเงินกรณีว่างงานไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างหรือลาออกจากงานในช่วงนี้ก็ถือว่าดี แต่บางกรณีอาจต้องดูให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น อย่างนายจ้างให้ลูกจ้างต้องลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอย่างกรณีสายการบิน หรือพนักงานโรงแรม ซึ่งน่าจะมีอีกหลายกรณี ที่นายจ้างรู้สึกว่าวิกฤติได้รับผลกระทบบ้าง ก็ไปจัดการที่ลูกจ้างก่อน ทั้งให้ลางานเป็นช่วงๆ ด้วยการที่ไม่ได้ค่าจ้างทำให้กระทบทั้งครอบครัวของแรงงานด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน