แรงงานฝืนกฏอัยการศึกชุมนุมยื่น สนช.ยับยั้งร่างกฏหมายประกันสังคมของรัฐบาล

PA300364

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานบุกยื่นหนังสือ สนช.ให้ยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมของรัฐบาลเพราะมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประกันสังคมเพื่อคนทำงาน ด้าน สปช.ชี้หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงผู้ประกันตนจะถือว่าเป็นการลักไก่ไม่ชอบธรรม ส่วน สนช.แจงเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมต่อเพราะเป็นมติ ครม.หากจะเบรกต้องให้รัฐมนตรีแรงงานดึงกลับไปเอง ประกาศพรุ่งนี้(31ตุลาคม57)นำเข้าพิจารณา เสนอตั้งตัวแทนเครือข่าย 7 คนเป็นกรรมาธิการร่วม

วันที่ 30 ตุลาคม 2557 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ประกอบด้วย 14 องค์กรด้านแรงงานราว 100 คน ได้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ชะลอการนำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่..)พ.ศ. ….ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอเข้าวาระการประชุมของ สนช.

นายมนัส โกศล ตัวแทนเครือข่ายฯกล่าวว่า ทราบว่า สนช.มีการบรรจุร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 19/2557 วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ซึ่งมีสาระสําคัญส่วนใหญ่คล้ายกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับคณะรัฐมนตรีเสนอก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอแนะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ในขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็กําลังจะเร่งพิจารณา

ทั้งนี้ เครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) ได้ศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่ายังไม่ข้อบกพร่องหลายเรื่อง จึงมีข้อเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคือ

PA300328

(1) ควรชะลอเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) และขอให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่เกี่ยวของ ทั้งฝ่ายผู้ประกันตน(มาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40) ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายสถานพยาบาล และหน่วยราชการต่างๆ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

(2) ด้วยร่างกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวมีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับหลักการ 4 ประการเพื่อการปฏิรูปประกันสังคม “หลักประกันเพื่อคืนความสุขสู่ประชาชน” ที่เครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) เคยนำเข้าหารือกับรองประธานสภานิติบัญญัติ (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 แม้บางประเด็นในร่างกฎหมายได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคมให้ดียิ่งขึ้นไปอีกตามหลักการการปฏิรูปประเทศ ทั้งขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนเครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน 14 องค์กร (คปค.) เข้าร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมด้วย

(3) เนื่องจากกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) เข้าสู่การพิจารณาคู่ขนานไปด้วยกัน ทําให้การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย อาจไม่มีข้อมูลและความเห็นรอบด้านและเป็นปัจจุบัน จึงขอให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะนําไปสู่การลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อบังคับใช้ต่อไป

PA300334

โดยทางนายสุรชัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณาในวันนี้ แต่จะเข้าในวันพรุ่งนี้ ซึ่งคงยับยั้งหรือชะลอการนำเข้าพิจาารณาไม่ได้ด้วยทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้นำเข้า หากเครือข่ายฯต้องการให้ชะลอ ต้องไปบอกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดึงร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมออกไปก่อนเพื่อรับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ เมื่อมาสู่การพิจาณาของ สนช.ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.จะเห็นว่าอย่างไร ซึ่งทางสนช.ก็จะมีการงดเว้นเรื่องของระเบียบข้อบังคับเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขได้ในขั้นกรรมาธิการแรงงาน โดยได้เสนอให้มีคุณมนัส โกศล เข้าไปเป็นตัวแทนในสัดส่วนของ สนช. และมีสัดส่วนของแรงงานอีก 6 คน ซึ่งก็ให้เสนอเข้ามาว่าเป็นใครบ้าง

ทั้งนี้ในวันเดียวกันเครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้ทราบว่าทางคณะรัฐมนตรีได้บรรจุร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาลเข้า สนช.แล้ว และต้องการให้ สปช.สนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานของแรงงานด้วย โดยมี นางสารี อ๋องสมหวัง นายวิทยา กุลสมบูรณ์ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มารับหนังสือ

โดยนางสารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสปช.กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกันตนคนหนึ่งก็ได้เห็นถึงความเสียเปรียบของผู้ประกันตนในด้านสิทธิ สวัสดิการการเข้าถึงสิทธิของกองทุน และเห็นถึงจุดอ่อนของการบริหารจัดการกองทุน และร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนด้วย การที่มีการนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสู่วาระการประชุมและหากผ่านวาระที่ 1 การแก้ไขเพื่อนำเอาข้อเสนอของตัวแทนผู้ประกันตนที่มาร้องในวันนี้เข้าสู่การพิจารณาในหลักการใหญ่คงไม่ได้แน่ ตนเห็นว่าด้วยกับการนำร่างออกมาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ทำได้คือการชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน เพื่อสร้างหลักการที่สอดคล้องกัน เพราะบางประเด็นก็ต้องปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมที่มีอยู่ไม่ใช่ลดลง การที่นำร่างกฎหมายประกันสังคมเข้าโดยเร่งด่วนเช่นนี้ ถือเป็นการลักไก่ประชาชนผู้ประกันตน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว สมาชิก สปช.กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองจะเข้าไปเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนคิดว่า โดยหลักการ กระบวนการร่างกฎหมายของภาคประชาชนเพื่อสร้างแนวทางการมีส่วนร่วมโดยการล่าลายมือชื่อต้องทำได้จริง ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่ขบวนการแรงงานร่วมกับภาคประชาชนช่วยกันลงลายมือชื่อนั้นมีหลักการที่ดีแต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา วันนี้เพียงที่จะนำหลักการมาเสนอต่อสนช.ให้ชะลอร่างแล้วมาทำกระบวนการร่วมกันใหม่ ตนคิดว่า สนช. ต้องรับฟังข้อเสนอและนำร่างออกมาก่อนเพื่อช่วยกันพิจารณาอย่างมีส่วนร่วม

จากนั้นก็มีการประกาศเจตนารมณ์ โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กรได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมนั้น บัดนี้ทางครม.ได้มีมติในการนำร่างกฎหมายประกันสังคมเร่งเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งเห็นว่าเนื้อหายังไม่ใช่การปฏิรูปหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง หากต้องการปฏิรูปจริงต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปในครั้งนี้โดยการฟังเสียงผู้ประกันตน หากทาง สนช.ยังคงเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ ทางเครือข่ายฯจะรวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิรูประบบประกันสังคมต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้ประกันตน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน