ศาลระนองยกฟ้องจำเลย คดีค้ามนุษย์

 

ศาลจังหวัดระนอง พิพากษายกฟ้องจำเลย คดีค้ามนุษย์ในแรงงานประมงชาวกัมพูชา

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลจังหวัดระนองได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดระนอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบรรจบ แก่นแก้ว ไต๋ก๋งเรือ ก.นาวามงคลชัย 8 และนายสมชาย เจตนาพรสำราญ เจ้าของกิจการแพปลาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจำเลย (หมายเลขคดีดำที่ คม.1/2559 และคม.3/2559) ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์, ร่วมกันค้ามนุษย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยบังคับใช้แรงงาน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจเองหรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่นต่อผู้เสียหายแรงงานประมงชาวกัมพูชาจำนวน 4 คน โดยผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ได้แต่งตั้งให้ทนายความโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมายรวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนองเพื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลจังหวัดระนอง ได้อ่านคำพิพากษา โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์รูปแบบการบังคับใช้แรงงาน เนื่องจาก

  1. การที่ผู้เสียหายลงเรือประมงที่มีอุปกรณ์หาปลาและอวนอยู่ในเรืออยู่ก่อนนั้น ผู้เสียหายควรจะทราบว่า เรือลำดังกล่าวเป็นเรือประมงที่ต้องออกหาปลาไม่ใช่เรือโดยสาร การที่ผู้เสียหายลงเรือโดยไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใดประกอบกับก่อนนั้นมีเจ้าหน้าที่สอบถามผู้เสียหายถึงความสมัครใจในการทำงานบนเรือ ถือว่าผู้เสียหายตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะการทำงานจากตัดหัวปลาเป็นการทำงานบนเรือประมง
  1. เรื่องระยะเวลาการทำงานที่ได้มีการอ้างว่าต้องทำงานวันละ 22 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือนและผู้เสียหายได้รับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อหากพิจารณาถึงสภาพร่างกายของคนทั่วไป การทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานร่ายกายต้องอ่อนเพลียและไม่สามารถทนต่อสภาพการทำงานและความเป็นอยู่แบบนั้นได้
  2. ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินค่าจ้างครบตามสัญญาจ้างหรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามกฎหมายแรงงานต่อไป และ
  3. ศาลเห็นว่าเหตุที่ผู้เสียหายแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยเพียงเพื่อต้องการค่าจ้างค้างจ่ายและค่าล่วงเวลาในการทำงานเท่านั้น ดังนั้นศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ศาลพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ นางสาวภัทรนิษฐ์ เยาดำ ที่ปรึกษา โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการตีความนิยามการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบประเภทการบังคับใช้แรงงาน ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความนิยามดังกล่าวในบริบทของการบังคับใช้แรงงานประมงที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสภาพการทำงานที่มีข้อจำกัดและขาดอิสรภาพประกอบกับคำพิพากษาอาจไม่เป็นไปตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ว่า การหลอกลวง การจำกัดเสรีภาพ การไม่จ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง และช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนาน เป็นการบังคับใช้แรงงาน