วิไลวรรณ แซ่เตีย และสองมือของป้าๆฉันทนา ในวันที่ “แสนเหนื่อย”

DSC01865
หลังจากช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่หลายปี พออายุได้ 19 “วิไลวรรณ แซ่เตีย” ก็เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ ต่างบ้านต่างถิ่นเหมือนกับเพื่อนๆ ด้วยความรู้เพียง ป.4

เธอได้งานเป็นสาวฉันทนาในโรงงานทำถุงเท้าแห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 30  ปี เธอยังทำหน้าที่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในโรงงานแห่งเดิม จากค่าแรงวันละ 20 บาท เพิ่มเป็น 319 บาทในวันนี้

ค่าจ้างวันละ 319 บาท ที่ดูเหมือนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนอาชีพเดียวกัน แต่พิจารณาให้ละเอียดจะเห็นว่าอัตราที่เธอได้รับสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ที่วันละ 300 บาท เพียง 19 บาท

มนุษย์คนหนึ่งทำงานมากว่า 30 ปี แต่กลับได้ค่าความรู้ความชำนาญ หรือค่าความอยู่นาน แค่ 19 บาทเท่ากับเครื่องดื่มชาเขียว 1 ขวด ขณะที่นายจ้างนายทุนต่างกอบโกยและสะสมกำไรกินกันไม่หมดจนชั่วลูกชั่วหลาน

จาก “น้องวิ” มาเป็น “พี่วิ” ของเพื่อนรวมงานและกลายเป็น “ป้าวิ” ของหลานๆ ในโรงงาน เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตที่จมหายไปในโรงงานเพื่อแลกกับรายได้เพียงแค่ประทังชีพ
“ถามว่าพอมั้ย มันไม่พอหรอก เมื่อก่อนได้วันละ 50-60 บาทยังดีกว่า เพราะค่าครองชีพ วันนี้เพราะคนงานอาศัยทำโอทีถึงอยู่ได้ ทุกอย่างอาศัยระบบเงินผ่อนเอา แม้แต่ข้าวสารยังต้องผ่อนจ่ายเลย เพราะเราไม่มีเงินเก็บ” ป้าวิสะท้อนชีวิตจริงยิ่งกว่าละครของลูกจ้างไทย
แทบทุกวันวิไลวรรณใช้เวลาตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นอยู่ในโรงงาน ชีวิตหมุนเวียนเช่นนี้มาตลอด จนปี 2526 เธอสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน อีก 1 ปีต่อมา เธอได้เข้าร่วมกับคนงานกลุ่มย่านต่างๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้นจนสำเร็จ

วิไลวรรณเป็นที่ยอมรับในแวดวงแรงงานในฐานะผู้นำแรงงานหญิง ซึ่งผ่านการต่อสู้เรียกร้องสิทธิประโยชน์ของคนงานในหลายๆ เรื่อง เช่น การลาคลอดบุตร การเรียกร้องจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ขณะนี้เธอได้รับการยอมรับให้นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรด้านแรงงานอย่างหลากหลาย ไม่ใช่แข็งตัวเหมือนเหล่าสภาองค์กรลูกจ้างต่างๆ ที่ระยะหลังระดมกันจดทะเบียนเพื่อรองรับผลประโยชน์ที่รัฐจัดสรรให้

“อยู่ในโรงงานคนนั้นคนนี้ก็มาปรับทุกข์อยู่เรื่อยๆ บางคนทะเลาะกับสามี บางคนบ่นคิดถึงลูกที่ฝากไว้กับพ่อแม่ในต่างจังหวัด เราก็ให้กำลังใจกันไป มันเหมือนเราอยู่ในสังคมที่มีแต่ความทุกข์ แต่ปัญหาหลักคือเรื่องเศรษฐกิจของพวกเขา” เธอเล่าถึงบรรยากาศในที่ทำงาน

“ทุกคนคิดถึงความก้าวหน้าในชีวิตด้วยกันทั้งนั้นแหละ อยากเก็บเงินได้สักก้อนแล้วกลับไปทำกิจการเล็กๆ ในต่างจังหวัด บางคนใช้เวลาว่างเรียนตัดเย็บ เรียนทำผม แต่มีไม่กี่คนหรอกที่ประสบความสำเร็จ” ป้าวิพูดถึงอนาคตของเหล่าลูกจ้างในโรงงานที่น่าใจหาย เช่นเดียวกับป้าๆหลายคนที่อายุทะลุหลักหกแล้ว แต่ก็ยังต้องทำงานกินค่าจ้างรายวัน เพราะไม่ทำก็ไม่มีกิน

ป้าวิและป้าๆหลายคนพยายามหาทางออกให้ปั้นปลายชีวิตด้วยการทำอาชีพเสริม เช่น ทำสบู่ขาย ขณะเดียวกันก็แบ่งปันเวลาจุนเจอสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพราะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมยังคงเดินคู่อยู่กับชนกรรมาชีพ

ปลายปี 2558 เกิดข้อพิพาทแรงงานในบริษัทซันโคโกเซฯ และไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกจ้างจึงเดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งวิไลวรรณและผู้นำแรงงานต่างออกมาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิ์ของสหภาพแรงงานในครั้งนี้ แต่ผลสุดท้ายกลับถูกทหารและตำรวจกดดันให้สลายการชุมนุม โดยผู้นำแรงงานบางคนถูกควบคุมตัว ขณะที่อีกหลายคนถูกคุกคามด้วยการตามประกบของเจ้าหน้าที่รัฐ

“เราออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของคนงาน ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง ก็บอกเขาว่าไม่ต้องมาตามอยู่ตลอดหรอก เพราะยิ่งทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย” ป้าวิถูกทหารและตำรวจที่อ้างว่ามาจากศูนย์ดำรงธรรมบุกเข้าไปถึงที่พักเมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม โดยเข้าไปถ่ายภาพ แต่เมื่อไม่เจอป้าวิจึงตามไปยังที่ทำการของกลุ่ม

การบุกเข้าไปยามวิกาลของชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบ ทำให้ป้าๆลูกจ้างรู้สึกตกใจ โดยเฉพาะหอพักเหล่านั้นมีแต่คนงานสตรีแทบทั้งสิ้น ในที่สุดจึงได้มีการโทรศัพท์ประสานไปยังเพื่อนๆคนงานในบริเวณใกล้เคียงให้มาร่วมในเหตุการณ์

“เราก็ไม่ได้ตกใจอะไรมากนัก เพราะเคยผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากแล้ว ก็บอกเขาว่าไม่อยากให้ทำเช่นนี้ เพราะเขาจะเสียหายเอง”ป้าวิเล่า ภายหลังจากที่เข้าไปพบกับนายทหารในกรมทหารราบ 11

วันนี้ป้าวิและป้าๆฉันทนายังคงใช้สองมือทำหน้าที่ถักทออย่างเข้มแข็ง แม้ถูกตามประกบตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเมื่อออกเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งน่าอึดอัด แต่ก็ตกอยู่ในสภาพ “จำยอม”

ทุกยุคทุกสมัยในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในความสลัว ผู้นำแรงงานก็มักจะถูกจับจ้อง หลายคนถูกอุ้มหายเพราะผู้มีอำนาจมักไม่ไว้ใจ “พลังกรรมกร” ที่ยืนเคียงคู่กับประชาชน แม้ว่าวันนี้บริบทของขบวนการแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่จิตวิญญาณยังแฝงอยู่ในหลายที่ หลายแห่ง

สองมือของป้าวิและป้าๆฉันทนาดูช่างเข้มแข็งกว่าหลายมือที่ถืออาวุธมากมาย

————-

หมายเหตุ-ผมนำงานเขียนเก่าที่เล่าเรื่องราวของ “ป้าวิ”วิไลวรรณ แซ่เตีย มาปัดฝุ่นและแก้ไขอีกครั้งด้วยความสลดใจ ภายหลังจากทราบข่าวว่าป้าวิและเหล่าผู้นำแรงงานถูกคุกคาม ทั้งๆที่ป้าๆมีแค่สองมือที่ใช้ทอผ้า

/////////////////////

ภาสกร จำลองราช