วิพากษ์บทเรียนการทำงานเชิงรุกคลีนิกโรคจากการทำงาน

โรคจากการทำงานดิฉันเคยฝันว่า เมื่อเรียนจบดิฉัน อยากจะเป็นครู เมื่อเข้าไปเป็นคนงานดิฉันอยากเป็นนักสหภาพแรงงาน เพื่อช่วยพี่น้องคนงานที่ทุกข์ยากลำบากไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการทำทำงานในโรงงานดิฉันก็ฝันว่าจะทำงานจนเกษียณอายุงาน แต่เมื่อเจ็บป่วยเห็นปัญหา ดิฉันก็คิดฝันว่าคนงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องมีหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคจากการทำงาน เมื่อเป็นประธานสภาเครือข่ายฯดิฉันอยากเห็นคนงานได้สิทธิทุกคน เมื่อเป็นแกนนำสมัชชาคนจน เข้าเจรจากับรัฐบาล ดิฉันต้องการให้รัฐบาลมาดูแลคนงานที่เจ็บป่วยประสบอันตรายจากการทำงาน เพราะการพัฒนาประเทศที่ผ่านมากว่า 50 ปีโดยไม่มีระบบรองรับผลกระทบ ข้อเรียกร้องสมัชชาคนจน ขอให้รัฐจัดตั้งคลีนิกโรคจากการทำงาน มีหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั่วทุกพื้นที่ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีกรมอาชีวเวชศาสตร์ มีการตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาคนงานให้พ้นจากอันตรายและโรคที่เกิดเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งการป้องกัน

จากข้อตกลงที่ทำสัญญากันสมัยท่านสรอรรถ กลิ่นปทุมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สมัชชาคนจนกรณีสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯได้เจรจากับท่านสรอรรถ กลิ่นปทุมได้ชี้แจงปัญหาของคนงาน จนกระทั่งปี 48 ทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงแรงงานได้ทำข้อตกลงกันในการพัฒนาคลีนิกโรคจากการทำงาน ซึ่งสัญญาข้อตกลง

ข้อแรกต้องตั้งคลีนิกโรคจากการทำงานเพื่อจัดระบบการดูแล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานทั้งสร้างระบบป้องกันและส่งเสริม

ข้อสองพัฒนามาตรฐานและช่องทางการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษา ดูแลหลังการเกิดโรคและอุบัติเหตุ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปเป็นมาตรฐานสามารถนำไปใช้ทั่วประเทศอย่างมีคุณภาพ

ข้อสาม “พัฒนาโครงการศูนย์คลีนิกโรคจากการทำงาน”เพื่อเป็นรูปแบบดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการประกอบอาชีพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยหวังว่าจะเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

วันนี้ดิฉันดีใจที่พวกท่านมานั่งประชุมกัน ซึ่งมีทั้งแพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่สวัสดิการ ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ในการทำงานด้านอาชีวอนามัย ฯ กว่า 400 คน วันนี้ไม่ใช่ดิฉันคนเดียว หมอ 1 ท่าน แบบเมื่อก่อน ที่สังคมมองว่า แพทย์บ้า คนป่วยอยากได้เงิน แพทย์หญิงอรพรรณ เมธาดิลกกุล ท่านกล้าวินิจฉัยคนงานแบบตรงไปตรงมา ท่านต่อต่อสู้คดีเยอะแยะมากมาย จนคลีนิกอาชีวเวชศาสตร์ ที่มีอยู่แห่งเดียวในเมืองไทย ต้องถูกปิดลง ต้องขอขอบคุณกองทุนเงินทดแทนทีได้สนับสนุนคลีนิกโรคจากการทำงานและขอบคุณ อาจารย์หมอสมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ อย่างยิ่งที่ได้พัฒนาดำเนินการขยายคลีนิกโรคฯ จนทำให้ความฝันของดิฉันเป็นจริงเสียที แต่มาดูสถิติคนงาน และข้อมูลตัวเลขสถิติการเจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิตหรือสูญหายจากการทำงานของลูกจ้างภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายเงินทดแทน (Workmen’s Compensation Law) สะสม 10 ปี ย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2545-2554) สิ่งที่พบ คือ 

1) มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน 1,836,411 ราย
2) มีลูกจ้างเสียชีวิตและหรือสูญหายจากการทำงาน 7,710 ราย
3) มีลูกจ้างทุพพลภาพจากการทำงาน 148 ราย
4) มีลูกจ้างสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย 30,370 ราย

สถิติสูงอยู่มาก คนที่สูญเสียเห็นได้ชัด คือการประสบอันตราย เป็นส่วนใหญ่ที่ได้เข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน แล้วคนงานที่ได้รับสารเคมีสารพิษล้มป่วยตายอีกเท่าไหล่ที่ไม่ได้เข้าถึงการวินิจฉัย สิทธิกองทุนเงินทดแทน พวกคนงานเหล่านั้นไปอยู่ไหน ทำอะไรหากมองให้ลึกคนงานเหล่านี้คือผู้เสียสละชีวิต สุขภาพ ร่างกายและจิตใจ ไปเป็นต้นทุนของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยที่สังคมไม่ได้มองเห็น ดูจากการเข้าถึงสิทธิบริการกับคลีนิกโรคทั้งเชิงรับ-เชิงรุก เราจะเห็นว่าใน 7 กลุ่ม 5 ภาคของคลีนิกโรคที่ได้รายงานในวันนี้ มีคนงานเข้าถึง จากจำนวนลูกจ้างที่อยู่ในกฎหมายประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนกว่า 11 ล้านคนเท่ากับคนงานได้เข้าถึงคลินิกโรคจากการทำงาน ไม่กี่เปอร์เซ็นเท่านั้น !
สถิติ
จากการดูการรายงานการดำเนินการของคลีนิกโรคจากการทำงานในรอบปี 2555 –ปัจจุบันถึง 82 คลีนิก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดมหาวิทยาลัย 6แห่ง ในกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ทั้งนี้ดิฉันต้องกล่าวขอบคุณ ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตน์พฤกษ์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ที่ทำให้เกิดคลีนิกโรคจากการทำงานถึง 90 แห่งในปัจจุบัน แต่เมื่อมามองดูแต่ละคลีนิกใน 7 กลุ่มที่นำเสนอในวันนี้ ทุกๆคลีนิกจะเน้นหนักในการดำเนินงานเชิงรุก เช่น การทำงานเชิงส่งเสริมป้องกัน

สรุปปัญหาอุปสรรคของคลีนิกโรคจากการทำงานภาพรวมได้ดังนี้
1.สถานประกอบการ
-บอกกับคลีนิกโรคว่าอย่าพึ่งวินิจฉัยโรคได้ไหม ?
-เพราะกลัวเสียชื่อ กลัวความปอดภัยไม่เป็นศูนย์ กลัวจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่ม ฯ
-ฝ่ายลูกจ้างเองก็ไม่ให้ข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ได้ กลัวถูกบีบ กลัวถูกไล่ออก
-ฝ่ายลูกจ้างจึงมักไปใช้สิทธิประกันสังคม ,ประกันสุขภาพหมู่,สวัสดิการค่ารักษาของบริษัท,
2.การเข้าไปทำงานส่งเสริมป้องกันหรือค้นหาผู้ป่วย ไม่สามารถเข้าไปในสถานประกอบการได้
3.การขาดแคลนแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้าน อาชีวอนามัย ขาดเครื่องมือที่ซื้อตั้งแต่ปี 2541 ทำให้เครื่องมือใช้ไม่ได้และ
คลินิกโรคยังทำงานเพียงบางวันในสัปดาห์
4.ในเครือข่าย ,คณะกรรมการจังหวัด ขาด จป.คปอ.สหภาพแรงงาน นักกฎหมาย และตัวแทนคลีนิกโรค ที่เป็นหน่วย
ปฏิบัติการฝ่ายคัดกรองมีงานเยอะ ไม่สนใจ
5.การส่งต่อแพทย์เฉพาะทางแต่ก็ยังไม่วินิจฉัยระบุโรคอยู่ดี เพราะแพทย์ท่านไม่ได้เรียนรู้เรื่องอาชีวเวชศาสตร์
6.เมื่อพบคนป่วยจากการทำงานก็จบแค่แพทย์ ไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ
7.คนงานเดินเข้าคลีนิกโรคจากการทำงานน้อยมาก เพราะขาดความรู้ ไม่รู้จักช่องทางเข้าคลีนิกโรคจากการทำงาน
8.นโยบายระดับผู้บริหารโรงพยาบาลไม่เข้าใจและไม่สนับสนุนจึงทำงานลำบากไม่คล่องตัว
9.งบประมาณน้อยและมาช้าเพราะคลีนิกโรคปิดงบ กันยายน แต่กองทุนเงินทดแทนปิดงบธันวาคม จะหางบที่ไหนมา
สนับสนุนการขยายตัวของคลีนิกโรจากการทำงาน
10.ขาดการบังคับใช้กฎหมาย เพราะคลีนิกโรคเป็นปลายทาง ต้นทางเช่นสวัสดิการ หรือกรมสวัสดิการ ต้องตรวจสอบความเสี่ยงความไม่ปลอดภัย
11.ขาดการประชาสัมพันธ์คลีนิกโรคจากการทำงาน อย่างเข้าถึงคนงานและสถานประกอบการ
12.เรื่องของข้อมูลยังขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกัน

จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
1) การเข้าไม่ถึงข้อมูล หรือ การถูกจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล
2) ขาดมิติการมีส่วนร่วมของลูกจ้างในการดำเนินโครงการ (การกำหนดช่องทางร่วมกันในการให้บริการ)
3) การถูกกดดันจากนายจ้างด้วยความไม่ไว้วางใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน ที่จะนำมาสู่การสูญเสียภาพลักษณ์ของบริษัท สินค้า และจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น
4) มาตรฐานของแต่ละคลินิกมีมาตรฐานที่ยังไม่เท่ากันในการจัดบริการ
5) งบประมาณ แพทย์ พยาบาล บุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอ
6) งบประมาณในการสนับสนุนต่อคลีนิกมีจำนวนจำกัด
7) การให้บริการที่ผ่านมา เน้นให้ความสำคัญกับเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ (ส่งผลต่อการพัฒนาการวินิจฉัยโรค)
8) การเพิ่มจำนวนคลีนิกโรคจากการทำงาน อย่างไรก็ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อุตสาหกรรม อีกกั้งศักยภาพในการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ
9) การขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจริงจัง เช่น วินิจฉัยได้ แต่การรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน อาจต้องมีกองทุนกลาง การส่ง กท16
ข้อเสนอต่อการจัดบริการคลีนิกโรคจากการทำงาน เมื่อย่างก้าวมาเข้าปีที่ 10 ความหวังของคนงานอยากจะเห็น คือ
1) ทำอย่างไรนายจ้าง ลูกจ้างจะเข้าใจเรื่องโรคจากการทำงาน จะรู้จักคลีนิกโรคจากการทำงาน
2) ทำอย่างไรคลีนิกโรคจะวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ และระบุในใบรับรองแพทย์ มีมาตรฐานเดียว มีข้อมูลที่โชว์ได้ แบ่งหญิงชาย
3) ทำอย่างไรจะมีงบประมาณที่เพียงพอ มีเครื่องมือตรวจวินิจฉัย อย่างครบวงจรครบวงจร
4) ทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าคนงานเจ็บป่วยจากการทำงานแล้ว เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน เชื่อมกับนายจ้างกองทุนเงินทดแทนและกรมสวัสดีการฯ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ นอกจากเชื่อมกับกองทุน
5) ทำอย่างไร แพทย์ พยาบาล จะมีทัศนคติ ที่เข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยของลูกจ้าง
6) ทำอย่างไรที่จะสร้างเครือข่ายให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมคลินิกโรค
7) ทำอย่างไรงานอาชีวอนามัย(อาชีวเวชศาสตร์)จะเป็นนโยบายระดับชาติ สมกับดูแลลูกจ้าง 34ล้าน
8.) ทำอย่างไร งานอาชีวอนามัย อาชีวเวชศาสตร์ ของไทย จะติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศในแถบเอเชีย ที่มีอยู่ 13 ประเทศ

สมบุญ สีคำดอกแค
ประชุมคลีนิกโรคจากการทำงานปี 56 วันที่ 28-29 มกราคม 2556
ณ.โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร

*********************************************
สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
ที่อยู่/ติดต่อประสานงาน
32 ม.2 ซ. ทรายทอง 22 ถ.ติวานนท์ 45 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์/โทรสาร. 02-9512710, 02-9513037
มือถือ. 0818132898
E-mail: wept_somboon@hotmail.com