วิถีเมล็ดพันธุ์แห่งแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา

นายชัชรินทร์  ชัยดี  นักสื่อสารสังคม  เกษตรพันธสัญญา

เมล็ดฟักทองสีแสดอ่อนถูกนำมาผึ่งลมไว้บนถุงปุ๋ย  เป็นวิธีการเตรียมเพาะเมล็ดพืชเพื่อนำไปปลูกลงดินให้เผชิญกับสภาพแวดล้อมของโลกอันกว้างใหญ่  ประดั่งจุดเริ่มต้นของชีวิตเด็กน้อยชาวกุยแห่งบ้านตูมที่กำลังถูกบ่มเพาะเพื่อให้งอกขึ้นมา  เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถูกโอบอุ้มด้วยมือของพ่อแม่เพื่อเคลื่อนย้ายไปในดินแดนที่มีไร่อ้อยหนาตาอยู่เป็นประจำ

ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์กุย  จากบ้านตูม  อำเภอศรีรัตนะ  จังหวัดศรีสะเกษ  ได้เคลื่อนย้ายแรงงานมากว่า  2  ทศวรรษ  กอปรกับมีการเคลื่อนย้ายจำนวนแรงงานเกือบทั้งหมู่บ้านเพื่อไปตัดอ้อยทั่วประเทศ  รวมถึงมีบางคนได้ตัดสินใจข้ามชาติไปตัดอ้อยที่มาเลเซีย  ดั้งนั้นวิถีแห่งแรงงานและเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เมื่อออกจากฝักก็ต้องเดินทางสู่ป่าอ้อยเรื่อยมา  เพราะฉะนั้นโลกของเขาจึงมีบางแง่มุมที่แตกต่างจากการเดินทางท่องเที่ยว   ความกินดีอยู่ดีของคนรวย  และที่พักสบายๆ  ของใครบางคนในโลกนี้

บางมุม  :  โลกแห่งแรงงานและวิถีเมล็ดพันธุ์เมื่อไกลบ้าน

ฤดูหนาวเริ่มต้นขึ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้แรงงานพ่อแม่ลูกอ่อน  เตรียมตัวเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานตนไปตัดอ้อยในจังหวัดห่างบ้าน  ชีวิตของ  5  ครอบครัว  กว่า  20  ชีวิตจากบ้านตูม  ได้ทำพิธีกรรมไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำตระกูล  โดยมีเหล้าขาวราดรดลงกองดินเพื่อบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์  และผู้เฒ่าจะผูกด้ายขาวพร้อมกับส่งเสียงอวยพรให้มีแต่ความปลอดภัยและหาเงินกลับบ้านได้มากๆ

วันที่  15  ธันวาคม  2554  ล้อรถบรรทุกของเถ้าแก่หัวหน้าโควตาอ้อย  ได้บรรทุกคนกลุ่มชาติพันธุ์กุย

กลุ่มนี้เดินทางจากบ้านเกิดเพื่อมาใช้แรงงานตัดอ้อยที่  บ้านคุยชัย  ตำบลนาโพธิ์  อำเภอกุดรัง  จังหวัดมหาสารคาม  และท่ามกลางค่ำคืนที่หนาวเหน็บ  แสงไฟได้ถูกสุมขึ้นหน้าเพิงพักที่สร้างด้วยสังกะสีเก่าหลังเล็กๆ  เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

แสงไฟบรรเทาความหนาวหน้าเพิงพักของแรงงาน

สถานที่สร้างเพิงพักได้เคยเป็นที่ตั้งแคมป์เดิม

ของชาวบ้านตูมกลุ่มแรก  ที่มาบุกเบิกการตัดอ้อยในแถบนี้  ซึ่งจะประกอบไปด้วย  สระน้ำใช้  ป่าอ้อยรายรอบที่ได้ใช้เป็นสุขา  และเถ้าแก่จะให้ยืมรถไถ  1  คัน  สำหรับรับ-ส่งแรงงานระหว่างแคมป์กับไร่อ้อย  สาธารณูปโภคแค่นี้  ถึงแม้บ่นว่าไม่สะดวกเท่าไหร่  แต่ต้องสู้เพื่อเอาชีวิตตัวเอง  และเมล็ดพันธุ์แห่งสายเลือดให้อยู่รอดต่อไป

เด็กน้อย  5  ชีวิตได้ติดตามพ่อแม่มาผจญกับป่าอ้อยที่มหาสารคาม  ซึ่งบางคนอยู่ในวัยที่ควรได้รับโอกาสทางการศึกษา  และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้   แต่ด้วยโครงสร้างการกระจายรายได้ในระบบการผลิตน้ำตาลที่รายได้ตกไปอยู่กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน   จึงทำให้ความแร้นแค้นตกอยู่กับแรงงานเหล่านี้มาหลายทศวรรษ

นอกจากนี้เด็กบางคนเริ่มผูกผ้าคลุมหน้า  จับพร้าออกแรงตัดอ้อยร่วมกับบุพการี  บางคนเริ่มเรียนรู้ชีวิตในป่าอ้อย  สลับกับการดูแลน้องเล็กในเปลผ้าขาวม้าอย่างมิละสายตา  จรดการตัดอ้อยสิ้นสุดจึงจะกลับไปที่แคมป์พร้อมกับผู้เป็นแม่ซึ่งไปหุงหาอาหาร  ส่วนผู้เป็นพ่อถ้าไม่ได้เผาอ้อยก็จะออกหา  นก  หนู  ปู  ปลา  มาเตรียมไว้เป็นอาหารสำหรับมื้อต่อไป  สายตาของชายหนุ่มมุ่งมั่นเสมือนมีความหวังมากกับอาหารที่ไม่ต้องซื้อ  ทั้งนี้แคมป์ก็อยู่ไกลเกินไปสำหรับคนที่ไม่มีรถไปตลาด  ดั้งนั้นพวกเขาจะแก้ปัญหาโดยหาอาหารตามธรรมชาติ  และจะออกไปตลาดครั้งละสัปดาห์เพื่อซื้อของใช้ที่จำเป็นมาตุนไว้

การตัดอ้อยช่วยพ่อแม่และการใช้ชีวิตในป่าอ้อยของเด็กน้อยชาวกุย

 

สมหมาย  ละครศรี   แม่ลูกอ่อนถ่ายทอดบรรยากาศ  การไปตลาดว่า  เราไปซื้อของมาเก็บไว้  บางครั้งเราได้เจอพี่น้องบ้านตูมเดินตลาดก็รู้สึกดีใจ  ต่างมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง  ทั้งเรื่องความทุกข์  ความสุขปนเปกันไป  การคุยอย่างออกอรรถรสด้วยประสบการณ์การตัดอ้อยต่างถิ่น  “มาตัดไส  เป็นจั่งไดแน่”  เป็นประโยคคลาสสิกที่ถูกเอ่ยออกมาเมื่อเจอหน้าคนบ้านเดียวกัน

ออกแรงตัดอ้อยแลกเงิน

เสียงเพลงจากทรานซิสเตอร์ดังขึ้นกลางแคมป์ ในรุ่งอรุณที่  5  มกราคม  2555  แรงงานหลายคนตื่นตั้งแต่ตี  4  มาเตรียมสำรับอาหารเพื่อออกเดินทางไปตัดอ้อยเมื่อฟ้าสาง  แรงงานอัดกันแน่นบนรถไถนาเพื่อไปยังไร่อ้อยที่เผาไว้เมื่อคืน  ซึ่งห่างแคมป์ประมาณ  1   กิโลเมตร  ทุกคนขนสำภาระลงใต้ร่มไม้ใกล้เถียงนาและรับประทานอาหารเช้าก่อนลงแรงตัดอ้อย

การตัดอ้อยเริ่มขึ้นประมาณ  7  โมงเช้า  ชายหนุ่มพ่อลูกอ่อนเริ่มตัดเป็นคนแรก  และตามด้วยคนอื่นๆ  การตัดอ้อยจะแบ่งกันตัดครอบครัวละ  3  แถวเป็นแนวยาวจนสุด  ค่อยกลับมาเริ่มแถวใหม่ไปเรื่อยๆ  จนถึงเวลาเลิกงาน  ส่วนรายได้ของการตัดอ้อยจะขึ้นอยู่กับจำนวนหมัดที่ตัด  และอ้อยที่ถูกแบกขึ้นรถว่าได้จำนวนกี่ตัน  โดยเฉลี่ย  1  หมัดจะเท่ากับ  1  บาท  และน้ำหนักที่แบกขึ้นรถเฉลี่ยตันละ  40-50  บาท  ซึ่งสมหมาย  จะเป็นคนบันทึกจำนวน  จนกว่าวันสิ้นสุดการตัดอ้อยถึงจะไปรับเงินกับเถ้าแก่  ซึ่งต้องหักออกจากเงินที่เถ้าแก่จ่ายให้ก่อนมาตัดอ้อย

เหล่าเมล็ดพันธุ์ได้ร่มไม้เป็นที่หลับนอน  และนั่งเล่น

ชีวิตเปรียบดังกล้าอ่อนของแรงงาน

พันนา  ยาดี  (หนุ่ม)  อายุ  20  ปี  เขาเสมือนกล้าอ่อนของแรงงานตัดอ้อยพันธสัญญา  เพราะเพิ่งเริ่มมาตัดอ้อยเป็นครั้งแรก  แต่ประสบการณ์ในการใช้แรงงานเขาไม่ต่ำกว่า  10  ปี  เนื่องจากตอนเป็นเด็กได้ติดตามพ่อไปตัดอ้อย  พออายุเข้า  10  ขวบ  เริ่มใช้แรงช่วยพ่ออย่างจริงจังที่ไร่สัปปะรด  ในจังหวัดระยอง

การเดินทางในครั้งนี้เขามาพร้อมสาวคู่ใจจากเมืองระยอง   ทั้งสองตัดอ้อยช่วยกัน  แต่เจอปัญหาเมื่อเท้าแฟนสาวของหนุ่มเริ่มมีอาการเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ  จากบาดแผลเดิม  หนุ่มเลยบอกให้แฟนหมัดอ้อยแทน  การตัดอ้อยดำเนินไปท่ามกลางแดดที่เริ่มแผดเผาทั้งคนและต้นอ้อยที่ถูกไฟไหม้  จนทำให้เหงื่อชุ่มไปทั่วตัว  ทั้งน้ำตาลได้ซึมทะลุผ่านเปลือกอ้อยออกมา  ความเหนียวผสมกับขี้เถ้าสีดำเปื้อนตามมือและร่างกายของชายหนุ่ม  แต่ด้วยเหตุผลที่  “เขาบอกว่ามันดี  เลยอยากมาลองเบิ่ง”  จึงทำให้เขาเก็บแรงไว้สู้ต่อเพื่ออนาคตที่ต้องกินต้องใช้

 ลำบากแต่ต้องมาตัดอ้อย?

 การตัดอ้อยเป็นเรื่องลำบาก  แต่ด้วยความจำเป็นเพราะถ้าอยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร  ทำนาก็พอได้กิน  บ้างมีที่ดินน้อย  ขณะเดียวกันเถ้าแก่ก็ทำให้เราสามารถกู้เงินมาซื้อของที่เราต้องการก่อนได้  เราค่อยไปทำงานใช้หนี้ทีหลัง แล้วถ้าหากไม่ทำก็อดกินแน่นอน  ท่วงทำนองเช่นนี้ผุดขึ้นในความคิดของแรงงานตัดอ้อยหลายคน  และชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละครของคนจน  คือ  พวกเขายังจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคอาหารจากตลาด  การผลิตเพื่อขายเข้าสู่ระบบตลาด  ขณะที่ปัจจัยการผลิตหลายอย่างยังคงตกอยู่กับนายทุน  การใช้แรงงานอย่างหนักเพื่อแลกเงินจึงยากจะปฏิเสธ

ไร่อ้อยที่ถูกเผาจำต้องมีคนเฝ้าไม่ให้รุกลามไปไร่คนอื่น  แต่บางที่อาจมีการรอบจุดเพื่อเร่งส่งอ้อยเข้าโรงงาน

แรงงาน  :  ความอึดอัดข้างในและคำถามส่งท้าย

ขณะที่ไฟถูกจุดในไร่อ้อยอีกแปลงในยามค่ำ  บ่งบอกว่า  พรุ่งนี้จะเริ่มตัดอ้อยต่อไป  ควันไฟโขมงคุ้งฟ้า  ประกายไฟแตกกระจายเป็นละออง  บ้างคล้ายพลุเฉลิมฉลองเทศกาล  แต่สำหรับพวกเขา  มันคือการตัดอ้อยที่ต้องแลกด้วยการใช้แรงงานอย่างหนัก  ถึงแม้จะมีพ่อบางคนในแคมป์  เปรยว่า  “ไม่เคยคิดว่าจะมาตัดอ้อย  แต่ก่อนเคยบอกว่า  โง่  แต่วันนี้  ตัวเองมาโง่เอง  แถมยังเอาลูกมาโง่ด้วย”  สำนวนแบบนี้ไม่รู้ใครเป็นคนคิดแต่ติดมากับการดูถูกอาชีพแบบนี้มาเนิ่นนาน  บางคราฟังแล้วสะเทือนใจ  แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ถูกเล่าจากหนึ่งในแรงงานที่มาตัดอ้อยในครั้งนี้

ถึงแม้คำว่า  “โรคเหลื่อมล้ำ”  ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างมีพลัง  แต่โครงสร้างของระบบการเมือง  เศรษฐกิจและสังคมแบบใดเล่า  ที่จะไม่สูบเลือดกินเนื้อและให้สวัสดิการที่แฟร์กับคนใช้แรงงานอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ได้  ในสังคมไทยปัจจุบัน?

…………………………………………………………………………

* อ้อยพันธสัญญา  หมายถึง  เมื่อโรงงานผลิตน้ำตาลไม่ผลิตอ้อยเอง  แต่จะรับอ้อยจากผู้ปลูกอ้อยแทน  และเพื่อควบคุมการส่งอ้อยเข้าโรงงานให้มีประสิทธิภาพ  โรงงานจะมีตัวแทน  ที่เรียกว่า  “หัวหน้าโควต้า”  ซึ่งจะทำหน้าที่ทำสัญญาเพื่อซื้อขายอ้อยกับผู้ปลูกอ้อย  โดยหัวหน้าโควตาจะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดการนี้  ซึ่งเรียกว่า  “ค่าหัวตัน”  จากโรงงาน  ขณะที่แรงงานตัดอ้อยจะเป็นกลุ่มคนล่างสุดในสายพานการผลิตนี้