วิกฤติอุทกภัย 2554 : แนวทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบด้านสิทธิแรงงาน

วิกฤตอุทกภัย ปัญหาและผลกระทบต่อแรงงาน

ข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเมื่อเดือนเมษายน2555 ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆเมื่อปลายปี 2554 นั้น  มีผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ 993,944 คน ถูกเลิกจ้าง 53,184 คน จังหวัดที่แรงงานถูกเลิกจ้างมากที่สุดคือพระนครศรีอยุธยา จำนวน 31,652 คน  รองลงมาคือ ปทุมธานี จำนวน 18,706 คน  จากการรวบรวมเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ช่วยเหลือแรงงาน 3 พื้นที่ คือ ศูนย์บางปะอิน อยุธยา, ศูนย์รังสิต ปทุมธานี, และศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมุทรสาคร พบว่า สภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุทกภัยมีหลายอย่าง เช่น

– สถานประกอบการไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราปกติ เช่น จ่ายให้เพียง 75% หรือ 50%

– สถานประกอบการให้คนงานลาออกแทนการเลิกจ้าง ซึ่งแม้จะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายหรือมากกว่า แต่ก็ทำให้แรงงานขาดสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีว่างงาน เช่น ในกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินเดือนชดเชย 50% เป็นเวลา 6 เดือน หากในกรณีลาออกโดยสมัครใจ จะได้รับเงินเดือนชดเชยเพียง 30% เป็นเวลา 3 เดือน

– สถานประกอบการอ้างขาดทุนมีหนี้สิน และไม่มีมาตรการฟื้นฟูโรงงาน แต่ก็ไม่มีการประกาศการเลิกจ้าง ทำให้คนงานสับสน ไม่กล้าออกจากงานกลัวเสียสิทธิประกันสังคม

– สถานประกอบการย้ายคนงานไปทำงานโรงงานในเครือนอกพื้นที่ ทำให้คนงานมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย และภาระการดูแลครอบครัว

– แรงงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงเป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างในลำดับแรกๆ และผู้ที่ไม่ได้เป็ผู้ประกันตนก็เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลืออย่างเช่น โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตน หรือ โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง

– มีนายจ้างที่ฉวยโอกาสใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเพื่อจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม และเลิกจ้างแรงงาน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน

จากกรณีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น พบว่าปัญหาสำคัญของผู้ใช้แรงงานคือ การไม่รู้กฎระเบียบข้อกฎหมายที่ช่วยให้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองต่างๆด้านแรงงาน ซึ่งในกฎหมายของไทย มีการระบุเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั้งที่เป็นแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน ไว้ในกฎหมายถึง 6 ฉบับ ได้แก่

1.พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและการคุ้มครองในเรื่อง วันและเวลาในการทำงาน เวลาพัก วันหยุด วันลา ค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานหญิง สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน  และเรื่องการร้องเรียนร้องทุกข์

2.พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้มีความเข้าใจอันดีต่อกันสามารถทำข้อตกลงในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายลูกจ้างสามารถจัดตั้งองค์กร สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้างได้ ส่วนฝ่ายนายจ้างก็สามารถจัดตั้ง สมาคม สหพันธ์ หรือสภาองค์การนายจ้างได้ เพื่อเป็นตัวแทนในการเรียกร้อง เจรจา ทำข้อตกลงต่างๆ

3.พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น  เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่ยกเว้น ได้รับการสงเคราะห์  โดยให้ลูกจ้างหรือผู้สมัคร

เป็นผู้ประกันตน  นายจ้าง และรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบ ซึ่งแบ่งเป็น

– ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือลูกจ้างในสถานประกอบการทั่วไป ได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ 1.ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย ทั้งนี้อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 4.การคลอดบุตร 5. สงเคราะห์บุตร  6.ชราภาพ และ 7.ว่างงาน

– ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือผู้ที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว แต่ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ ได้สิทธิประโยชน์ 6 กรณี โดยยกเว้นเพียงกรณีว่างงาน

– ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ แรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ได้สิทธิประโยชน์สูงสุด 4 กรณีคือ เงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และบำเหน็จชราภาพ

4.พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้น โดยให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง หรือผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายอันมีสาเหตุมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างในกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ กรณีสูญเสียอวัยวะ กรณีทุพพลภาพ กรณีตายหรือสูญหาย

5.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคล หรือการรับรองสิทธิต่างๆ โดยได้บัญญัติสิทธิหน้าที่เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างไว้ด้วย เช่น การทำสัญญาจ้างแรงงาน สินจ้าง การเลิกสัญญาจ้าง สินไหมทดแทนและสิทธิได้รับใบผ่านงาน

6.พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

เพื่อให้เป็นศาลชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานซึ่งมีความแตกต่างจากคดีทั่วไป การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานจะใช้วิธีไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทเป็นหลักแต่หากคู่กรณี คือนายจ้างและลูกจ้างไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลก็จะพิจารณาตัดสินชี้ขาด โดยการพิจารณาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษา3  ฝ่าย คือ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง จำนวนฝ่ายละเท่าๆกัน ร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดี

นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกคือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522  ซึ่งบัญญัติเรื่องคนต่างด้าวในการเดินทางเข้าออก และการพักอาศัยในราชอาณาจักร

แนวทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานและช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในเรื่องที่เป็นตัวเงิน

ให้ยื่นแบบคำร้อง คร.7 ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งจะมีคำสั่งภายใน 60 วัน และขยายได้อีก 30 วัน หากไม่พอใจคำสั่ง ผู้ร้องก็มีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน และสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้ภายใน 15 วัน ซึ่งจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด

และในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ผู้ร้องสามารถฟ้องดำเนินคดีอาญากับนายจ้างได้โดยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการ

หรือจะเลือกใช้วิธีฟ้องต่อศาลแรงงานโดยตรงเลยก็ได้

กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในเรื่องอื่นๆ เช่น ให้ทำงานหนักเกิน ทำงานเกินเวลา ไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุด หรือเลือกปฏิบัติสามารถเลือกใช้วิธีฟ้องศาลแรงงานในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ หรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดก็ได้

กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนายจ้างปิดกิจการหรือล้มละลาย

สามารถฟ้องเรียกเงินต่างๆตามสิทธิ์ได้ โดยอาจทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 เขียนคำร้อง คร.7 ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน หากมีคำสั่งแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถนำคำสั่ง คือ คร.8 ไปยื่นขอรับเงินสงเคราะห์กรณีถูกเลิกจ้างได้ และยังสามารถฟ้องบังคับต่อศาลแรงงานเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์นายจ้างได้อีกด้วย

วิธีที่ 2 ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลแรงงานในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ ซึ่งอาจฟ้องด้วยตัวเองโดยรวบรวมพยานหลักฐานให้นิติกรประจำศาลแรงงานเป็นผู้เขียนคำฟ้องให้ หรืออาจให้ทนายความดำเนิการให้ ซึ่งศาลจะนัดไกล่เกลี่ยภายใน 45 วัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะพิจารณาคดีจนมีพิพากษา ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ภายใน 15 วัน

กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่

หากประสงค์จะกลับเข้าทำงานและต้องการเรียกค่าเสียหายหรือเงินอื่นใดตามสิทธิ์ ให้ฟ้องต่อศาลแรงงานพื้นที่ที่ทำงานอยู่

หากไม่ประสงค์จะกลับเข้าทำงาน แต่ต้องการเรียกเงินค่าเสียหายใดๆ สามารถฟ้องศาลแรงงาน หรือฟ้องศาลแรงงานในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ หรือยื่นคำร้อง คร.7 ต่อพนักงานตรวจ

แรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด

กรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

ผู้เสียหายโดยตรงได้แก่ ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือ ครส. ได้ทั้งที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ภายใน 60 วัน ซึ่ง ครส.จะพิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งภายใน 90 วัน หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งต่อศาลแรงงานได้ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ครส. ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดทางอาญา    แม้ว่าการเรียนรู้ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน

ตลอดจนการทำความเข้าใจให้รู้จักช่องทางและกลไกต่างๆในการเข้าถึงสิทธิแรงงานนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากลำบากไม่น้อย เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายๆฉบับ และมีขั้นตอนกระบวนการที่ซับซ้อนพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทั้งแกนนำแรงงานและตัวผู้ใช้แรงงานเองจะต้องใส่ใจให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการขับเคลื่อนทางสังคม รวมทั้งการกดดันผ่านนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทั้งมวลได้เข้าถึง

การช่วยเหลือ เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองด้านต่างๆอย่างครบถ้วนและเป็นธรรม