“วันแห่งศรัทธา” สืบอุดมการณ์แรงงานไทย

ในโอกาสครบรอบ 19 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ได้กำหนดจัดทอดผ้าป่าสามัคคี ในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2555 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ   เพื่อเป็นการหารายได้บำรุงและสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมแรงขององค์กรแรงงานและองค์กรต่างๆด้านแรงงาน เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย อันจะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้ใช้แรงงานไทยที่มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอดพร้อมกันนี้จะจัดกิจกรรมบำเพ็ญบุญอุทิศแด่อดีตผู้นำแรงงานและบุคคลผู้วายชนม์ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อขบวนการแรงงานไทยด้วย อาที

จิตร ภูมิศักดิ์ (2473 – 2509)

เป็นทั้ง นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์  นักคิดด้านการเมือง และนักปฏิวัติสังคมคนสำคัญของประเทศไทย เป็นผู้เสนอ ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ถูกจับในยุคเผด็จการสฤษดิ์ติดคุกนานกว่า 6 ปี ระหว่างถูกจองจำเขียนหนังสือวิชาการและแต่งเพลงมากมาย โดยเฉพาะบทเพลงที่ยกย่องเชิดชูกรรมกรชาวไร่ชาวนา  หลบภัยเข้าป่าหลังพ้นคุกแต่ก็ถูกยิงตายในป่า

สำราญ คำกลั่น ( – 26 กรกฎาคม 2518)

กรรมกรหญิงวัย 17 ปี  ของโรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทล์ กระทุ่มแบน ถูกอันธพาลที่นายจ้างส่งเข้าคุมโรงงานยิงเสียชีวิตเพราะร่วมประท้วงนัดหยุดงาน  มีการแห่ศพประจานตำรวจที่เข้าข้างฝ่ายนายทุน  กรรมกรย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เรียกร้องให้มีการหยุดงานไว้อาลัย 1 วัน  กลุ่มแนวร่วมนักศึกษาธรรมศาสตร์วางหรีดหน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้คุ้มครองสวัสดิภาพของลูกจ้าง

อารมณ์ พงศ์พงัน (พ.ศ.2489-2523)

ผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง เป็นนักคิดนักเขียนผู้มีบทบาทสำคัญของขบวนการแรงงานไทย  ถูกจับข้อหาภัยสังคมเมื่อ 15 ตุลาคม 2519 ระหว่างอยู่ในคุกราว 2 ปี เขียนตำราแรงงาน เรื่องสั้น บทกวีมากมาย ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในฐานะผู้บริสุทธิ์ ออกมาทำงานให้สหภาพและสภาแรงงาน  ไม่นานก็เสียชีวิตในวัยเพียง 34 ปี                   

คำปุ่น วงษ์ขันธ์ (พ.ศ.2501 – 2526)

ช่วงทำงานอยู่บริษัทวอลโว่อุตสาหกรรมบางพลี ถูกนายจ้างเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ แม้จะฟ้องชนะคดี นายจ้างไม่ให้เข้าทำงานแต่จ่ายเงินเดือนให้ จึงไปทำงานเป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือจนกลายเป็นขวัญใจคนงานในย่านนั้น ที่สุดถูกคนร้ายยิงตายเมื่อ 21 มีนาคม 2526

ไพศาล ธวัชชัยนันท์ (พ.ศ.2480 – 2531)

ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย หรือสภาแรงงานแห่งประเทศไทยคนแรก (2519)  ที่นำการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วประเทศ (2-6 ม.ค.2519) เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาข้าวสาร และยังมีการคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมัน คัดค้านกฎหมายความมั่นคง หลังเกิดความแตกแยกในสภาแรงงานฯ ได้แยกไปก่อตั้งสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย

ทนง โพธิ์อ่าน (พ.ศ.2479 – 2534?)

เป็นผู้นำของสหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออกฯ เมื่อกลุ่มทหาร รสช.รัฐประหารเมื่อปี 2534 ทนงในฐานะประธานสภาแรงงานฯคัดค้านตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อการลิดรอนสิทธิของแรงงานด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและออกประกาศ รสช.54  จนเมื่อ 19 มิถุนายน 2534  ทนงก็หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ

ประสิทธิ์ ไชยโย (2495 – 2536)

ประธานสมาคมลูกจ้างอุตสาหกรรมผ้าสมุทรสาคร ยุคปี 2515  เป็นผู้นำสำคัญของกรรมกรอ้อมน้อยในการชุมนุม 7 วัน 7 คืนที่สนามหลวงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 20 บาท เมื่อปี 2517 ร่วมจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ (เทิดภูมิ ใจดี เป็นประธาน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเลขาธิการ) ในยุค สามประสาน (กรรมกร ชาวนา นักศึกษา)โดยดำรงตำแหน่งรองประธาน  ต่อมาในยุค ขวาพิฆาตซ้าย ตัดสินใจหนีเข้าป่าเมื่อปี 2518     

บัณฑิตย์ จันทร์งาม (2485 – 2542)

ทำงานอยู่ในโรงงานทอผ้าเพชรเกษม ย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร  เคยเป็นประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าสมุทรสาคร และเลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ  ในช่วงปี 2515-2519 ทำงานร่วมกับ ประสิทธิ์ ไชยโย เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมวลกรรมกร  หลังจากนั้นหนีภัยเผด็จการเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา  กลับออกมายังคอยให้คำปรึกษากับคนงานอ้อมน้อย                 

ชอเกียง แซ่ฉั่ว ( พ.ศ.2495 – 2543)

ผู้นำกรรมกรหญิงโรงงาน ฮาร่า ที่นัดหยุดงาน ในปี 2518 เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ การต่อสู้ยืดเยื้อเพราะฝ่ายนายจ้างไม่ยอมเจรจาและยังมีคำสั่งไล่คนงานที่ประท้วงออกจากงาน  กรรมกรได้ยึดโรงงานและตั้งโรงงาน “สามัคคีกรรมกร” และทำการผลิตสินค้าออกมาขายหาทุนในการต่อสู้ ฝ่ายตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืน และจับนักศึกษาและกรรมกรหลายคนไปคุมขัง

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร (พ.ศ.2468 – 2544)

อดีตข้าราชการกรมประชาสงเคราะห์และอธิบดีกรมแรงงานผู้รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงานและคนยากจนด้อยโอกาส เป็นนักวิชาการด้านแรงงานคนสำคัญคนหนึ่งของไทย  มีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายแรงงานเช่น กฎหมายประกันสังคม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์

ธีรนาถ กาญจนอักษร (พ.ศ.2492 – 2541) 

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ สนใจและเข้าร่วมเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาแรงงานหญิงและสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงในระบอบประชาธิปไตย ร่วมผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยกรณีไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ (10 พ.ค.2536) และเข้าร่วมเป็นกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์ของคนงาน เป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ให้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ 

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (พ.ศ.2498 – 2550)

นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษา  ขณะเป็นนักศึกษาร่วมต่อสู้กับกรรมกรโรงงานฮาร่า เหตุการณ์ 6 ตุลา19 ทำให้ต้องหลบไปอยู่ในเขตป่า กลับมาเรียนจนสำเร็จการศึกษาจากธรรมศาสตร์แล้วทำงาน NGOs ด้านการฟื้นฟูชีวิต ธรรมชาติ และสันติภาพ

ปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด (พ.ศ.2485 – 2550)

ร่วมก่อตั้ง สมาคมลูกจ้างองค์การค้าคุรุสภา สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และเป็นประธานคนแรกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เชื่อมั่นว่าแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยคือทางออกของขบวนการแรงงานไทย สนับสนุนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเป็นฐานสร้างพรรคการเมืองที่เป็นของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

อุกฤษณ์ เรืองไหรัญ (พ.ศ.2508 – 2553)

เป็นกรรมการสหภาพแรงงานโรงแรมนารายณ์ และกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมแห่งประเทศไทย เป็นทนายว่าความคดีแรงงานให้แก่สหภาพแรงงาน และสหกรณ์ออมทรัพย์ฯมากมายหลายคดี มุ่งมั่นเพื่อคนงานที่ถูกเอาเปรียบ จนเสียชีวิตจากเหตุหัวใจล้มเหลวระหว่างขับรถเดินทางไปทำคดีแรงงานที่จังหวัดนครสวรรค์

ทองใบ ทองเปาด์ (2469 – 2554)

ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เพื่อคนยากไร้ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซของฟิลิปปินส์แต่ไม่ยอมไปรับรางวัลจากมือผู้นำเผด็จการ  ถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมืองนาน 8 ปีตั้งแต่ยุคเผด็จการสฤษดิ์ร่วมคุกลาดยาวกับชาวนาชาวไร่ ผู้นำกรรมกร นักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครู และพระ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์  ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ                              

ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ (2471 – 2555)

พี่สาวของจิตร ภูมิศักดิ์  เป็นเภสัชกรกระทรวงสาธารณสุข  มีผลงานเขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ งานตำราวิชาการเรื่องเภสัชและยา และงานแปลร่วมกับจิตร เป็นผู้มอบเครื่องดนตรี จะเข้ ที่จิตรใช้เล่นดนตรีในคุกและสิ่งของอื่นๆของจิตรให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย    เพื่อจัดแสดง  และยังบริจาคทรัพย์สนับสนุนตลอดมาจนแม้เมื่อเสียชีวิต                     

ตุลา ปัจฉิมเวช (2501 – 2555)

ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานฯ  เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน เป็นที่ปรึกษาของหลายองค์กรเช่น กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ฯ ร่วมร่างกฎหมายแรงงานเพื่อปฏิรูประบบประกันสังคม ระบบแรงงานสัมพันธ์ เป็นผู้ฝึกอบรมกฎหมายให้นักสหภาพแรงงานในโครงการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน  โครงการช่วยเหลือแรงงานจากวิกฤตอุทกภัย               

จรัญ ก่อมขุนทด (พ.ศ.2504 – 2555)

รู้จักกันในชื่อ”บัวลอย” เป็นแกนนำในการก่อตั้ง สหภาพแรงงานเสรีปาลโก้ เมื่อปี 2532 เป็นกรรมการกว่า 10 ปีจนนายจ้างเลิกกิจการจึงไปทำงานเป็นนักจัดตั้งกับ ศูนย์กลางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน (OLUC) ประจำอยู่พื้นที่แถบอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ตลาดบ่อวิน จ.ชลบุรี  ทำงานช่วยเหลือให้คำปรึกษาแรงงานที่เดือดร้อน ช่วยก่อตั้งสหภาพแรงงานในภาคตะวันออกหลายแห่ง เชี่ยวชาญในการนำการชุมนุมจนเป็นสัญญลักษณ์ในการต่อสู้ของคนงานภาคตะวันออก ทุ่มเททำงานหนักจนกระทบต่อสุขภาพ และเสียชีวิตหลังผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจ                       

ทั้งนี้ สำหรับช่วงบ่ายเป็นการจัดเวทีเสวนา เรื่อง AEC ผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานไทย ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ ด้วย

เราจักร่วมสืบสานเจตนารมณ์ของเขาเหล่านั้นตลอดไป…