วันแรงงานแห่งชาติ เสนอนายก เยียวยา และฟื้นฟูอาชีพ พร้อมสร้างหลักประกันที่ยั่งยืนให้แรงงาน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 วันแรงงานแห่งชาติ 2563 หรือวันกรรมกรสากล2020 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet ประเทศไทย) สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย และสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ในฐานะที่เป็นองค์กรของแรงงานนอกระบบจำนวน 23,588 คน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกจากแรงงานนอกระบบถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2563 พร้อมสำเนาถึง หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เรื่อง เยียวยาอย่างทั่วถึง เตรียมฟื้นฟูการงานอาชีพของแรงงานนอกระบบ สร้างหลักประกันทางสังคมอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ใช้แรงงาน เราต่างก็ตระหนักดีว่าสถานการณ์สำหรับผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และความยากลำบากนี้อาจจะต่อเนื่องไปในระยะยาวแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะยุติลง

ณ วันนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างทั้งอย่างถาวรและชั่วคราวเพราะกิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีมาตรการเยียวยา รายได้ที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 62 ย่อมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวแรงงานนอกระบบก็ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรง หาบเร่แผงลอย รถยนต์รับจ้างสาธารณะ(แท็กซี่) รถจักรยานยนต์รับจ้าง ช่างเสริมสวย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเพราะมารตการปิดเมือง (lock Down) ลูกจ้างทำงานบ้านจำนวนมากถูกเลิกจ้างชั่วคราว หรือมีความกดดันในการทำงานเพิ่มขึ้นเพราะนายจ้างกังวลเรื่องสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ในขณะที่ผู้ผลิตเพื่อขายไม่สามารถนำสินค้าที่ผลิตได้ไปขายที่ตลาด ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่มีคำสั่งผลิต(order)เพราะกิจการของผู้จ้างงานปิดตัวลงทั้งอย่างถาวรและชั่วคราว

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet ประเทศไทย) สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย และ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ในฐานะที่เป็นองค์กรของแรงงานนอกระบบจำนวน 23,588 คน มีความเห็นและข้อเสนอดังนี้

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้า เราทั้ง 3 องค์กรเห็นด้วยและขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการเยียวยาสำหรับแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระ เป็นจำนวนเงินเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นปัญหาของระบบการขึ้นทะเบียน การเปลี่ยนแปลงข้อมูล การตรวจสอบสถานะ และการอุทธรณ์ ผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เริ่มจากปัญหาที่แรงงานนอกระบบจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงเพราะข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และความซับซ้อน ความล่าช้าของระบบการพิจารณา ทำให้เงินเยียวยาถึงมือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อน ผลักให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกว่าถูกทิ้งให้เผชิญปัญหาโดยลำพัง จนทำร้ายตัวเองและครอบครัว กระทั่งฆ่าตัวตาย จำนวนหลายสิบคน เกิดเป็นโศกนาฏกรรรมและความเจ็บปวด สูญเสียของสังคมไทย

เราทั้ง 3 องค์กรเสนอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและเชื่อมั่นในพลังขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม ให้ได้ร่วมมีบทบาทเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับเรื่องอุทธรณ์ ตรวจสอบความจริง เพื่อให้มาตรการเยียวยานี้ไปถึงแรงงานนอกระบบผู้ได้รับผลกระทบ อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ไม่มีผู้ที่ตกหล่นหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับมาตรการระยะกลาง เมื่อรัฐบาลกำลังจะผ่อนปรนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคที่คลี่คลายลง เราทั้ง 3 องค์กรเสนอให้รัฐบาลรับฟังข้อมูลปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอาชีพและการทำมาหากินของแรงงานนอกระบบ และปรึกษาหารือ สร้างกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกับกับองค์กรของแรงงานนอกระบบ ตลอดจนเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูการงานอาชีพของแรงงานนอกระบบทั้งในระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม เช่น เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหรือกลุ่มอาชีพในชุมชนทั้งในด้านการผลิต การบริหาร และการตลาด จัดสรรสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐให้แก่กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหรือกลุ่มอาชีพในชุมชน รณรงค์ให้สังคมใช้และบริโภคสินค้าที่ผลิตโดยชุมชน เพื่อให้วิถีการผลิต การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตของประชาชนคืนสู่ภาวะปกติ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้ดำเนินต่อไป

สำหรับมาตรการระยะยาว ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้สังคมไทยได้ทบทวนหลักประกันทางสังคมของตนว่าแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน คนจน คนชายขอบ และผู้เปราะบาง เราทั้ง 3 องค์กรจึงเสนอให้รัฐบาลใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการทบทวนระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ระบบหลักประกันสุขภาพ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก และพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน

เราทั้ง 3 องค์กรพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและพลังทางสังคมทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดการปฏิบัติการตามข้อเสนอนี้ ด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราจะสามารผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเพื่อให้วันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของปีต่อ ๆ ไปเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย
สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ