วันสตรีสากล 2 ขบวนเรียกร้องสวัสดิการและความเท่าเทียม

วันที่ 8 มีนาคม 2566 “วันสตรีสากล” คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐบาลจำนวน 9 ข้อ และอีกส่วนหนึ่ง คือเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้มีประชุมนุมและเจตนารมณ์ “แรงงานรวมพล วันสตรีสากล ‘66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย” ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หลัก 18 ข้อย่อย

โดยข้อเรียกร้องที่เหมือนกันอย่างเช่น เรื่องสิทธิการลาคลอด 180 วัน โยพ่อกับแม่แบ่งกันได้ ให้รัฐรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา และ 190 คุ้มครองความปลอดภัยจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ฉบับที่ 189 คุ้มครองสิทธิในงานที่มีคุณค่าของคนทำงานบ้าน และเครือข่ายแรงงานฯเสนอให้มีการจัดสวัสดิการให้เด็กเล็ก 0-6 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในส่วนของคสรท. และสรส.มีข้อเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาทเป็นต้น

นับตั้งแต่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ.2400) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าแรง และเรียกร้องสิทธิของพวกเขาแต่แล้วเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ ที่มีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานในขณะที่พวกเธอนั่งชุมนุมเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้กระแสความไม่พึงพอใจของผู้หญิงทั่วโลก “คลารา เซทคิน (Clara Zetkin)” นักการเมืองสตรีชาวเยอรมัน ตัดสินใจชักชวนเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงาน ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามอันต่อเนื่องและยาวนานของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพสตรีและแรงงานเด็ก อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) นั้นถือว่าเป็นก้าวสำคัญ เมื่อสหประชาชาติ เริ่มเห็นความสำคัญของวันนี้และมีการจัดงานอย่างเป็นทางการโดยสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ด้านหนึ่งเป็นวันที่จะเฉลิมฉลอง เพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เท่าเทียม ที่ยังดำรงอยู่

        ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก พัฒนาสังคมประเทศ และมีผู้หญิงในหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สำหรับประเทศไทยจากการเคลื่อนไหว ของเครือข่ายขบวนการแรงงานและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ และสาขาอาชีพต่างๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพของผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้หญิงยังคงถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกมากมายหลายมิติ   วันสตรีสากลในปีนี้ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง ต้องการให้รัฐบาลบูรณาการแก้ไข ดำเนินการทางนโยบาย กฎหมาย  เพื่อปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตามหลักการองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถานการณ์วิกฤติโควิด ที่ส่งผลกระทบให้แรงงานหญิง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องเผชิญการถูกเลิกจ้าง ลอยแพ และการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ  ถูกเอารัดเอาเปรียบที่รุนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณมากขึ้น  ความล่าช้า ความยากลำบากในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อขบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเข้าไม่ถึง  ทั้งช่องว่างของกฎหมายทำให้สูญเสียสิทธิและขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ไร้ความเป็นธรรมส่งผลถึงคุณภาพชีวิตทั้งตนเองครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ “ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงาน-หญิง” จึงถูกกำหนดให้เป็นคำขวัญในการรณรงค์วันสตรีสากลเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาดังกล่าว และข้อเรียกร้องในวันสตรีสากล ให้เกิดขึ้น คสรท. และ สรส. จึงขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ดังนี้

ข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2566

1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ดังนี้

ฉบับที่ 177    ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน

ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา

ฉบับที่ 189    ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน

ฉบับที่ 190    ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็น  คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้

2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ ให้ครบถ้วน

3. รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน

4. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปีเดือนละ 3,000 บาท

5. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

6. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี

7. รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

8.รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

9. ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการพม่าให้แรงงานสามารถต่อเอกสารในประเทศไทยได้

ข้อเรียกร้องนี้ ได้เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานหลายปี เพื่อตอกย้ำให้รัฐบาลทุกรัฐบาลได้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประชาชน คนงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนงานทุกภาคส่วน ดังนั้น คสรท. และ สรส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่าน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสิทธิและบทบาทของคนงานหญิง ด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันสตรีสากล เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการยกระดับสิทธิ และสวัสดิภาพของคนงานหญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไป

ด้านเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้ประกาศเจตนารมณ์ “แรงงานรวมพล วันสตรีสากล ‘66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย” ณ ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 เนื่องในวันสตรีสากล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนขอแสดงความสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่หญิงนักต่อสู้ทางการเมือง นักสหภาพแรงงาน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีทุกท่าน ทั้งในอดีตจนปัจจุบัน ผ่านกิจกรรม “ยืน 112 วินาที” ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมส่งเสียงต่อรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะถึง ดังต่อไปนี้

1. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิแรงงาน

1.2 ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อยกเลิกความผิดและคืนสิทธิแรงงานให้พนักงานค้าบริการทางเพศ (sex worker)

1.3 ขยายสิทธิลาคลอดโดยได้รับค่าตอบแทนเป็น 180 วัน ให้พ่อและแม่แบ่งกันได้ 

1.4 เพิ่มวันลาป่วยให้กับผู้ปวดท้องประจำเดือน และให้กำหนดวันสตรีสากลของทุกปีเป็นวันหยุดด้วย

1.5 ยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น การไล่พนักงานที่ตั้งครรภ์ออกจากงาน

1.6 คุ้มครองสิทธิแรงงานของคนทำงานบ้าน (domestic worker) และแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร โดยให้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33

1.7 ปฏิรูปคณะกรรมการประกันสังคมให้โปร่งใส ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการได้ 

1.8 แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 287 จัดระบบสื่อบันเทิงทางเพศและเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย

2. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิทางสังคม

2.1 ลดค่าครองชีพแรงงานและประชาชนหญิงด้วยการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี

2.2 จัดให้มีสวัสดิการประชาชนตามช่วงอายุ ได้แก่ เด็ก 0–6 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละ 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงจัดให้มีการอุดหนุนรายได้สำหรับผู้ดูแลสมาชิกครอบครัวในบ้าน (care worker) ด้วย

2.3 ขยายสถานบริการรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยฟรีสำหรับผู้ท้องไม่พร้อม ตามงบประมาณสนับสนุนของ สปสช. รายละ 3,000 บาท และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุความผิดผู้ยุติการตั้งครรภ์ทุกกรณี

2.4 เพิ่มศูนย์เด็กเล็กในชุมชนและที่ทำงาน

2.5 ปฏิรูปพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาของคนทุกเพศ เช่น เปิดทางให้ผู้หญิงบวชภิกษุณีได้

2.6 รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมสำหรับคนทุกเพศ

2.7 แก้ไข พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ฯ ให้รับรองสิทธิของบุคคลนอนไบนารี่ด้วยการระบุเพศสภาพ “X” และยกเลิกกฎระเบียบควบคุมอัตลักษณ์ทางเพศทุกกรณี เช่น ยกเลิกการบังคับทรงผมนักเรียน ยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดของข้าราชการ

3. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิทางการเมือง

3.1 คืนสิทธิการประกันตัวให้นักสู้ทางการเมืองทุกคน 

3.2 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 117, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

3.3 ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และยกเลิกวัฒนธรรมความรุนแรงต่อทหารชั้นผู้น้อย

3.4 รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพิ่มทั้งหมดอย่างน้อยอีก 5 ฉบับ ดังนี้

1. ฉบับที่ 87 คุ้มครองการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน

2. ฉบับที่ 98 คุ้มครองการต่อรองร่วมกันแบบกลุ่ม

3. ฉบับที่ 183 คุ้มครองความเป็นมารดา

4. ฉบับที่ 189 คุ้มครองสิทธิในงานที่มีคุณค่าของคนทำงานบ้าน

5. ฉบับที่ C190 คุ้มครองความปลอดภัยจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน