“วันงานที่มีคุณค่า” คสรท.จับมือสรส.เสนอ 7 ข้อ จัดสวัสดิการถ้วนหน้า-ปฎิรูปสปส.

วันที่ 7  ตุลาคม 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)    สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ ยื่นข้อเรียกร้องในวัน“งานที่มีคุณค่าสากล”ปี พ.ศ.2563 ผ่านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องในวัน “วันงานที่มีคุณค่า”(World Day for Decent Work)หรือวัน Decent Work

ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเป็น“วันงานที่มีคุณค่า”(World Day for Decent Work)หรือวัน Decent Work ซึ่งที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้กำหนดขึ้นในการประชุมใหญ่ครั้งที่ พ.ศ. 2547  ขบวนการแรงงานทั่วโลกถือเป็นวันสำคัญ และออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น อย่างมั่นคงยั่งยืน

เนื่องจากสภาพปัญหาการจ้างงาน และระบบประกันสังคมของประเทศไทย ยังไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกัน และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้นมาได้(รายละเอียดตามเอกสารประกาศเจตนารมณ์ที่ส่งมาด้วย)

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุง อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ(ILO) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

ข้อเรียกร้องเนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (Decent Work ) ปี พ.ศ.2563

  1. รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
    • ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
    • ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทำงานมีงานทำอย่างทั่วถึง จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ และยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทุกรูปแบบ
  3. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

3.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

3.2  กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง มีระบบการปรับค่าจ้างทุกปีไม่น้อยกว่าอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐต้องเร่งดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ  425 บาท ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

3.3 รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริง

  1. รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ ให้เพียงพอตามความจำเป็นให้กับผู้ ประกันตนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประกาศใช้อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมแก้ไขปี 2558 และดำเนินการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมแทนชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช.เป็นกรณีเร่งด่วน
  2. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สัดส่วน5%เท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้าง และให้เลขาธิการประกันสังคมเร่งดำเนินการให้รัฐบาลนำเงินสมทบค้างจ่าย จำนวน 87,737 ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน
  3. ให้ประกันสังคมจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อให้บริการผู้ประกันตน
  4. ให้ประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน

เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยให้มีตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงในลำดับต่อไป

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อ่าน คำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (Decent Work Day ) 2020 รัฐบาลต้อง“ปฏิรูปการจ้างงาน   ปฏิรูปประกันสังคม  เพื่อความมั่นคงของคนทำงาน” ดังนี้

ด้วยวันที่ 7  ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันงานที่มีคุณค่า” (World Day for Decent Work) หรือวัน Decent Work ซึ่งที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้กำหนดขึ้น ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกถือเป็นวันสำคัญ และออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้นอย่างมั่นคงยั่งยืน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จึงได้ให้แนวทาง และจัดลำดับความสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานไว้สามประการ ดังนี้

  • การจัดให้มีงานทำและขจัดความยากจน
  • การคุ้มครองสิทธิแรงงาน
  • การส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิแห่งมนุษยชน

ต่อมาได้มีคำประกาศแห่งฟิลาเดลเฟีย ในการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)  ปี พ.ศ. 2487 ดังนี้

  • แรงงานไม่ใช่สินค้า
  • เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการจัดตั้งสมาคมเป็นสิ่งสำคัญสู่ความก้าวหน้าอันยั่งยืน
  • ความยากจน ณ แห่งไดแห่งหนึ่ง ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญรุ่งเรืองในทุกแห่ง
  • มนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศได มีสิทธิที่จะแสวงหา สวัสดิภาพทางวัตถุ และพัฒนาด้านจิตใจ ภายในเงื่อนไขของเสรีภาพ ความมีศักดิ์ศรี ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และโอกาสอันเท่าเทียมกัน

“งานที่มีคุณค่า” จึงหมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์  อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้

  1. การมีโอกาสและรายได้ที่เพียงพอ
  2. การมีสิทธิ
  3. การได้แสดงออก
  4. การได้รับการยอมรับ
  5. การมีความมั่นคงในครอบครัว
  6. การได้พัฒนาตนเอง
  7. การได้รับความยุติธรรม
  8. การมีความเท่าเทียมทางเพศ

ประเทศไทยแม้จะเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศสมาชิก ที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2462 แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรการต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แทบจะไม่มีพัฒนาการที่จะเป็นหลักประกันแก่คนทำงานเลย

  • สภาพปัญหาการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคง
  1. การทำสัญญาจ้างชั่วคราวทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. การจ้างงานแบบเหมาค่าแรง
  3. การจ้างงานแบบเหมาช่วง
  4. การจ้างงานแบบรับงานไปทำที่บ้าน
  5. การจ้างงานแบบทำงานบ้าน
  6. การจ้างงานแบบนักศึกษาฝึกงาน
  7. การจ้างงานแบบรายชั่วโมง
  8. การจ้างงานกลุ่มลูกจ้างนอกระบบ
  9. การจ้างงานกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

รวมทั้งการจ้างงานลักษณะต่างๆที่ไม่มีความมั่นคง และไม่อยู่ในมาตรฐานสากล

การปล่อยให้มีการจ้างงานรูปแบบดังที่กล่าวมาข้างต้น คนทำงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกคุกคามละเมิดสิทธิ์ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ขูดรีด ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆไม่เท่าเทียมกัน หากนำเอาหลักการของอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ และหลักการของงานที่มีคุณค่ามาตรวจสอบ เปรียบเทียบ ประเทศไทยแทบจะไม่พบความก้าวหน้าอันใดเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นได้จากจำนวนสมาชิกของการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานมีไม่ถึง 2 % การใช้สิทธิของสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอ จนทำให้การเจรจาข้อเรียกร้องใช้เวลายาวนานหลายเดือนหรือเป็นปี และเมื่อตกลงกันแล้วนายจ้างก็ยังละเมิดต่อข้อตกลง และที่รุนแรงคือการละเมิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ กลไกรัฐ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนงานกับนายจ้าง ในบางครั้ง บางกรณี เจ้าหน้าที่รัฐ มีการข่มขู่คุกคามคนงาน เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนายจ้างด้วยซ้ำไป แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมและถูกเลือกปฏิบัติตลอดมาขณะที่ทำงานเหมือนกัน ยิ่งในช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาแรงที่มีอยู่เดิมหนักเข้าอีก

  • สภาพปัญหาของประกันสังคม
  1. การบริหารงานไม่มีความเป็นอิสระ
  2. ที่มาของเงินกองทุน

2.1 กองทุนประกันสังคม ช่วงปี 33-41 มาจาก รัฐ 5% ลูกจ้าง 5% นายจ้าง 5% ตั้งแต่ ปี 42 เป็นต้นมา รัฐ 2.75% ลูกจ้าง 5% นายจ้าง 5% (ฐานเงินคำนวณ 1650-15000)

2.2 กองทุนสวัสดิการของข้าราชการ มาจากเงินภาษี 100 %

  • กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาจากเงินภาษี 100 %
  1. ค่าใช้จ่ายต่อหัว ณ เดือนมิถุนายน 2563

3.1 กองทุนประกันสังคม 3,959 บาท ต่อหัว

  • กองทุนสวัสดิการของข้าราชการ 12,589 บาท ต่อหัว
  • กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,600 บาท ต่อหัว

  1. กองทุนประกันสังคมมีเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิ การให้บริการทางการแพทย์ไม่ครอบคลุมโรคทั้งหมด มีกำหนดระยะเวลาการรักษา และเพดานค่าใช้จ่าย กองทุนสวัสดิการของข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา
  2. รัฐยังค้างจ่ายเงินสมทบ ณ เดือน กันยายน 2563 จำนวน 87,373 ล้านบาท
  3. ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน
  4. สิทธิประโยชน์ ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย และชราภาพยังไม่เพียงพอ
  5. อนุบัญญัติที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ปี 2558 ยังไม่ประกาศใช้ทั้งหมด
  6. กรรมการประกันสังคมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช. ตั้งแต่ปี 2557
  7. ประกันสังคมไม่ได้มีสถาบันการเงินของตนเพื่อให้บริการผู้ประกันตนทางด้านการเงิน
  8. ประกันสังคมไม่ได้มีสถานพยาบาลของตนเพื่อให้บริการผู้ประกันตน
  9. เงินที่นำไปลงทุนของประกันสังคม ณ เดือนมีนาคม 2563 จำนวน 2,032,841 ล้านล้านบาท ลงทุน

ในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ  82 % เป็นจำนวน 1,671,176 ล้านล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 361,665 ล้านบาท

ประกันสังคมมีหลักการบริหารเพื่อเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ในหมู่คนทำงาน ประกันสังคม จึงเป็นความหวังที่จะมาให้บริการด้านสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนทั้งขณะทำงาน ว่างงาน และไม่ได้ทำงานแล้ว ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาตรการเพื่อป้องกันบรรเทาการระบาดของรัฐ เป็นเหตุให้คนงานต้องตกงาน-หยุดงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นหลายล้านคน มาตรการช่วยเหลือเยียวยายังไม่เพียงพอ การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างเชื่องช้า คนทำงานและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส ทั้งที่มีเงินในกองทุนที่คนทำงานร่วมจ่ายมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และยังเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาตลอด ในยามที่คนทำงานทุกข์ยากรัฐจึงควรเข้ามาดูแลช่วยเหลื่อบรรเทาทุกข์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และทันต่อสถานการณ์ แม้ว่าปัจจุบันในประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดเอาไว้ได้ แต่ชะตากรรมของคนทำงานยังคงต้องทนทุกข์อยู่กับสถานการณ์เช่นนี้ไปอีกยาวนาน เนื่องจากทั้งโลกยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เอาไว้ได้ ประกอบกับแนวโน้มการจ้างงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำงานแทนคนเพื่อเป็นการลดต้นทุนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ในอนาคตข้างหน้าชะตากรรมของคนทำงานจึงยังคงจะเผชิญกับปัญหาการตกงานมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยสภาพปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เพื่อให้นโยบายการจ้างงาน ระบบประกันสังคม กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง เกิดการแก้ไขปรับปรุง สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) รวมทั้งแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าที่ประเทศไทยได้ลงนาม(MOU)ระหว่างผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทน ILO เนื่องในวันฉลองครบ 100 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเนื่องใน“วันงานที่มีคุณค่า” (World Day for Decent Work) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และเครือข่ายแรงงาน จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อไปดำเนินการเร่งด่วน

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรมว.แรงงาน กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องต่างๆที่ยื่นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งรัฐบาล โดยคระเลขานุการจะมีการศึกษารายละเอียดเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ทางรัฐมนตรี และรัฐบาลมีความเป็นห่วงผู้ใช้แรงงานและต้องการที่จะทำงานให้สอดคล้องกันนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องการที่จะแก้ไขปัยหาอย่างแท้จริง โดยจะเร่งตั้งคระทำงานตามที่มีการเสนอมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ในวันเดียวกันได้มีกลุ่ม ขอคืนไม่ใช่ขอทานมาร่วมเดินรณรงค์ รวมทั้งเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้มายื่นหนังสือ 3 ฉบับต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อให้มีการตรวจสอบการลงทุน และการบริหารงานของประกันสังคม รวมถึงการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน